กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

เรื่องของระบบทางเดินหายใจ ใครๆ ก็ควรรู้

ทำความรู้จักระบบทางเดินหายใจ มีความสำคัญอย่างไร ประกอบด้วยอวัยวะอะไรบ้าง และมีกระบวนการทำงานอย่างไร
เผยแพร่ครั้งแรก 11 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 1 เม.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เรื่องของระบบทางเดินหายใจ ใครๆ ก็ควรรู้

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อวัยวะในระบบทางเดินหายใจประกอบด้วยอวัยวะในทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูก คอหอย อวัยวะในทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ หลอดลมต่างๆ ปอด กะบังลม
  • โดยทั่วไปเราจะมีอัตราการหายใจประมาณ 14-18 ครั้งต่อนาที ซึ่งอาจมาก หรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นตัวควบคุมการหายใจเข้า-ออก ได้แก่ ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดและความต้องการออกซิเจน
  • ความผิดปกติที่มักเกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ในระบบหายใจ มีตั้งแต่หายใจติดขัด คัดจมูก ไอจามเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงอาการรุนแรงอย่างหายใจไม่ออก และมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด
  • โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจที่พบบ่อย ได้แก่ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคหวัด คออักเสบ ปอดอักเสบ วัณโรค โรคที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น หอบหืด โรคภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด 
  • การดูแลระบบทางเดินหายใจ เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การสัมผัสสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หลีกเลี่ยงมลภาวะ  ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และตรวจสุขภาพเป็นประจำ นับเป็นวิธีป้องกันโรคที่ดี (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพปอดได้ที่นี่)

ปกติแล้ว ร่างกายของเราจะรับเอาก๊าซออกซิเจนเข้าไปใช้ประโยชน์ และขับของเสียออกมาในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซเหล่านี้เรียกว่า "ระบบทางเดินหายใจ (Respiratory system)" 

ระบบหายใจเป็นการทำงานร่วมกันของหลายอวัยวะ เช่น จมูก ปอด หรือกะบังลม ทั้งนี้ระบบทางเดินหายใจจะทำงานอยู่ตลอดเวลาและมีความสำคัญต่อร่างกายมาก 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

หากเกิดความผิดปกติกับระบบทางเดินหายใจ หรือมีเหตุใดให้ระบบทางเดินหายใจหยุดทำงาน ก็อาจส่งผลกระทบถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทำความรู้จักอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ

อวัยวะในระบบทางเดินหายใจ สามารถแบ่งตามตำแหน่งที่อยู่ออกเป็น 2 กลุ่มคือ อวัยวะในทางเดินหายใจส่วนบนและอวัยวะในทางเดินหายใจส่วนล่าง มีรายละเอียดดังนี้

อวัยวะในทางเดินหายใจส่วนบน

  • จมูก (Nose) เป็นทางผ่านด่านแรกของอากาศที่หายใจเข้าไป ภายในจมูกจะมีขนขนาดเล็ก มีเยื่อเมือกหนาๆ ที่ช่วยกรองฝุ่นละออง และดักจับเชื้อโรค นอกจากนี้ยังมีเส้นประสาทรับกลิ่นอีกด้วย
  • คอหอย (Pharynx) เป็นหลอดตรงยาวที่เชื่อมต่อกันระหว่างช่องจมูกและช่องปาก โดยมีเพดานอ่อนเป็นตัวกั้น คอหอยเป็นทางผ่านของทั้งอาหารและอากาศ และยังเกี่ยวข้องกับการออกเสียงด้วย

อวัยวะในทางเดินหายใจส่วนล่าง

  • หลอดลม (Trachea) เป็นท่อที่ต่อมาจากคอหอยและกล่องเสียงลงไปสู่ปอด หลอดลมมีลักษณะเป็นหลอดกลมๆ ประกอบด้วยกระดูกอ่อนและเปิดให้อากาศเข้าตลอดเวลา หลอดลมมีหน้าที่หลักคือ นำอากาศที่หายใจเข้าไปสู่ปอด โดยหลอดลมแบ่งได้เป็น
    • หลอดลมขนาดใหญ่ ต่อมาจากกล่องเสียง 
    • หลอดลมปอด (Bronchi) แตกแขนงจากหลอดลมใหญ่ไปสู่ปอดทั้งซ้ายและขวา 
    • หลอดลมฝอย (Bronchiole) เป็นแขนงเล็กๆ แยกย่อยไปยังถุงลมในปอดอีกทีหนึ่ง
  • ปอด (Lung) ตั้งอยู่ที่ 2 ข้างของช่องทรวงอก ฐานปอดจะแนบสนิทกับกะบังลม มีหัวใจอยู่ตรงกลางระหว่างปอด 2 ข้าง ภายในปอดประกอบด้วยถุงลมขนาดเล็กที่ยืดหยุ่นจำนวนมาก มีหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ โดยจะเติมออกซิเจนเข้าสู่หลอดเลือดและนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเลือดเพื่อขับออกทางการหายใจ จากนั้นเลือดที่ถูกเติมออกซิเจนนั้นจะถูกส่งต่อไปยังหัวใจ เพื่อเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดในการกระจายเลือดไปหล่อเลี้ยงเซลล์ทั่วร่างกาย
  • กะบังลม (Diaphragm) เป็นแผ่นกล้ามเนื้อด้านล่างกระดูกซี่โครงที่แบ่งช่องอกออกจากช่องท้อง ซึ่งการหดและคลายตัวของกะบังลมนั้นมีผลต่อการควบคุมการหายใจเข้าออก

การทำงานของระบบทางเดินหายใจ

โดยทั่วไปเราจะมีอัตราการหายใจประมาณ 14-18 ครั้งต่อนาที ซึ่งอาจมาก หรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นตัวควบคุมการหายใจเข้า-ออก ได้แก่ ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดและความต้องการออกซิเจน 

เช่น เวลาหลับเราจะหายใจช้าลง แต่ในขณะออกกำลังกาย เราจะต้องการออกซิเจนมากทำให้หายใจถี่ขึ้น

กระบวนการทำงานของระบบทางเดินหายใจมีดังนี้

  • เมื่อเราหายใจเข้า กะบังลมจะเลื่อนต่ำลง ทำให้พื้นที่ช่องอกมากขึ้น ความดันอากาศรอบๆ ปอดลดลง อากาศจากภายนอกจึงไหลเข้ามายังปอดได้ อากาศที่เราหายใจเข้ามาจะผ่านการกรองฝุ่นและเชื้อโรคที่จมูกก่อน 
  • หลังจากนั้นอากาศจะเคลื่อนผ่านคอหอย กล่องเสียง และหลอดลม ลงมายังปอด ที่ถุงลมปอดจะเป็นจุดที่เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซ 
    • ก๊าซออกซิเจนจากอากาศที่รับเข้ามาจะแพร่เข้าสู่หลอดเลือดแดงและไหลเวียนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ 
    • ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากทั่วร่างกายจะลำเลียงผ่านหลอดเลือดดำมายังปอด และแพร่สู่หลอดลมในปอด จากนั้นจะถูกขับออกพร้อมลมหายใจออก

ความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ

ความผิดปกติมักเกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ในระบบหายใจ มีตั้งแต่หายใจติดขัด คัดจมูก ไอจามเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงอาการรุนแรงอย่างหายใจไม่ออก และมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด 

ตัวอย่างโรคในระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย ได้แก่

  • โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ
    • โรคหวัด เกิดได้จากเชื้อไวรัสหลายชนิด ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ซึ่งมักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
    • คออักเสบ เกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย อาการที่เด่นชัดคือ เจ็บคอ ไอ และอาจมีไข้ในบางครั้ง
    • ปอดอักเสบ หรือปอดบวม มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา อาการที่พบคือ มีไข้สูง หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก อาจพบฝีในปอด และน้ำคั่งในปอดด้วย
    • วัณโรค เกิดจากแบคทีเรียไมโคแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) มักพบอาการไอเรื้อรัง เสมหะเป็นเลือด เจ็บหน้าอก มีไข้ อ่อนเพลีย และน้ำหนักลด
  • โรคที่เกิดจากสาเหตุอื่น
    • หอบหืด เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม เป็นผลให้หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก และหายใจมีเสียงวี๊ดๆ
    • โรคภูมิแพ้ เกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันจากการได้รับสิ่งกระตุ้น ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม และอาจเกิดอาการกับระบบอื่นๆ ด้วย
    • ถุงลมโป่งพอง เกิดจากการอักเสบของถูกลมปอดจนพองและแตกออก จนเกิดอาการไอเรื้อรังและหายใจตื้น ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่
    • มะเร็งปอด มักเกิดจากการสูดดมควันบุหรี่ อาการในระยะแรกที่สังเกตได้คือ เจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด

การดูแลระบบทางเดินหายใจ

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพื่อป้องไม่ให้ถุงลมและปอดถูกทำลาย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง ขนสัตว์
  • อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศบริสุทธิ์ และไม่มีมลภาวะ
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

หมั่นรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่เพียงแต่ระบบทางเดินหายใจเท่านั้น เพราะหากระบบใดระบบหนึ่งในร่างกายมีความอ่อนแอ มีปัญหา หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้ร่างกายมีความผิดปกติเกิดขึ้นตามมาได้

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพปอด เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Visible Body, Top 5 Functions of the Respiratory System: A Look Inside Key Respiratory Activities (https://www.visiblebody.com/learn/respiratory/5-functions-of-respiratory-system), 28 March 2020.
Sheldon R. Braun., The matter of the respiratory system (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK365/), 20 March 2020.
Melinda Ratini, Respiratory System (https://www.webmd.com/lung/how-we-breathe#1), 28 March 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)