กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

กระเจี๊ยบเขียว ลดน้ำหนักได้จริงหรือ? ข้อมูล ประโยชน์ ข้อควรระวัง

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 21 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
กระเจี๊ยบเขียว ลดน้ำหนักได้จริงหรือ? ข้อมูล ประโยชน์ ข้อควรระวัง

กระเจี๊ยบเขียว หรือกระเจี๊ยบมอญ นับเป็นผักที่ขึ้นชื่อในสรรพคุณด้านการเป็นยาระบาย เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อยๆ ที่เป็นต้นเหตุของ โรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น ลำไส้อักเสบ หรือริดสีดวงทวาร วันนี้เราจะมาทำความรู้จักผักที่มากไปด้วยคุณประโยชน์ต่อสุขภาพชนิดนี้กันให้มากขึ้น

ลักษณะของกระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียว มีลักษณะเป็นฝักสีเขียว รูปทรงเรียวยาว คล้ายกับนิ้วมือ ส่วนปลายโค้งเล็กน้อย ฝักมีสันเป็นเหลี่ยมตามยาว 5 เหลี่ยม มีขนอ่อนๆ อยู่ทั่วฝัก หากนำมาต้มหรือทำอาหาร ฝักจะมีผิวลื่นเป็นเมือก รับประทานง่าย รสชาติอร่อย นิยมนำมาต้มรับประทานแกล้มน้ำพริก

คุณค่าทางสารอาหารของกระเจี๊ยบเขียว

นอกจากจะมีไฟเบอร์หรือกากใยอาหารสูง กระเจี๊ยบเขียวยังเป็นแหล่งรวมสารอาหารที่สำคัญอย่างกรดโฟลิก โพแทสเซียม แคลเซียม วิตามินบี วิตามินซี และวิตามินแร่ธาตุอื่นๆ อีกมากมาย 

ด้วยแคลอรี่ที่ต่ำและกากใยที่สูง ยังทำให้กระเจี๊ยบเป็นหนึ่งในพืชผักที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะจะช่วยในเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมไปถึงผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพรระบุว่า กระเจี๊ยบเขียวสามารถช่วยลดเสมหะ บรรเทาอาการไอ และรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ด้วย 

ทำไมกินกระเจี๊ยบเขียวแล้วถ่ายคล่อง?

อาจเป็นเพราะเมือกลื่นของกระเจี๊ยบเขียวนั่นเองที่ช่วยให้ถ่ายคล่องขึ้น เพราะมีใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำ เมื่อรับประทานเข้าไปจะไม่ถูกย่อย แต่จะเดินทางไปจนถึงลำไส้ใหญ่ แล้วปนกับอุจจาระ จึงทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มขึ้น และสามารถถ่ายออกมาได้ง่ายกว่าปกติ

กระเจี๊ยบช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ?

กากใยที่มีมากในกระเจี๊ยบเขียวช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี แถมยังกินแล้วอิ่มนาน จึงช่วยลดความอยากอาหารลงได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในสัตว์ทดลองที่พบว่ากระเจี๊ยบเขียวมีคุณสมบัติช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ ด้วยเหตุนี้การรับประทานกระเจี๊ยบเขียวจึงมีส่วนช่วยลดความอ้วน เหมาะกับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมคอเลสเตอรอล รวมไปถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องระวังความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคอ้วน

สรรพคุณด้านอื่นๆ ของกระเจี๊ยบเขียว

นอกจากสรรพคุณในเรื่องการระบาย ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก และการควบคุมน้ำหนักแล้ว กระเจี๊ยบยังมีสรรพคุณดีๆ อีกมากมาย ได้แก่

  1. ควบคุมน้ำตาลในเลือด เนื่องจากในฝักกระเจี๊ยบเขียวมีเส้นใยอยู่มาก จึงช่วยรักษาระดับการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ใหญ่ให้คงที่ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างยิ่ง
  2. ช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอล ด้วยเส้นใยของกระเจี๊ยบที่ช่วยกำจัดไขมันปริมาณสูงกับน้ำดี จึงมีส่วนช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลได้
  3. ช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เพราะเส้นใยของกระเจี๊ยบและเมือกในฝักจะช่วยจับสารพิษกับน้ำดีในลำไส้ และขับออกมาทางอุจจาระ ทำให้ไม่เหลือสารพิษตกค้างอยู่ในลำไส้
  4. ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร หากรับประทานฝักกระเจี๊ยบเป็นประจำ สารไกลโคไซเลทของกระเจี๊ยบจะช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร ลดความสามารถในการเกาะเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารของแบคทีเรียที่ชื่อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และนำมาสู่มะเร็งกระเพาะอาหาร
  5. ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดงให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากมีกรดโฟเลตสูง
  6. ช่วยต้านเครียด มีผลการวิจัยพบว่าสารสกัดจากเมล็ดกระเจี๊ยบเขียวมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการเกิดความเครียด ช่วยให้สภาพจิตใจแจ่มใสยิ่งขึ้น
  7. ช่วยเพิ่มความอดทนในการออกกำลังกาย โดยการรับประทานกระเจี๊ยบเขียวเป็นประจำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเหนื่อยล้าจากการออกกำลังกายได้
  8. ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน เนื่องจากมีวิตามินเคสูง วิตามินชนิดนี้จะช่วยให้กระดูกดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้ดียิ่งขึ้น การรับประทานกระเจี๊ยบเขียวจึงส่งผลดีต่อสุขภาพกระดูกนั่นเอง 
  9. ใบกระเจี๊ยบสามารถช่วยแก้โรคปากนกกระจอก และช่วยในการขับเหงื่อได้

วิธีเลือกและวิธีรับประทานกระเจี๊ยบเขียว

  • เลือกฝักที่ตรงและเนื้อแข็ง ไม่ช้ำ ไม่เหี่ยว หากปลายฝักเริ่มเป็นสีดำ ควรรีบนำมาปรุงอาหารก่อนจะเน่าเสีย
  • กระเจี๊ยบสดจะอยู่ได้ประมาณ 3-4 วัน โดยควรห่อด้วยกระดาษหรือถุงพลาสติก แล้วใส่ไว้ในช่องแช่ผักของตู้เย็น แต่หากต้องการเก็บไว้นาน ให้นำไปต้มก่อนนำมาแช่ในช่องแช่แข็ง
  • ควรล้างกระเจี๊ยบเขียวเมื่อต้องการนำมาทำอาหารในทันทีเท่านั้น
  • เมือกของกระเจี๊ยบเขียวที่ออกมาหลังจากนำไปปรุงอาหารนั้นไม่เป็นอันตราย และมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหารได้ดี แต่หากไม่ชอบให้มีเมือกหรือนิ่มเกินไป ควรต้มด้วยไฟแรงและใช้เวลาไม่นาน
  • สามารถรับประทานแบบสดๆ ได้ทั้งฝัก รวมถึงเมล็ดที่อยู่ภายในด้วย นอกจากนี้ยังนำเมล็ดกระเจี๊ยบเขียวมาคั่วและบดเพื่อใช้ชงแทนเมล็ดกาแฟได้ แถมยังไม่มีคาเฟอีนอีกด้วย

กระเจี๊ยบเขียวต้ม ลวก หรือรับประทานกับน้ำพริกแบบสดๆ ก็อร่อย หรือจะนำไปต้มและชุบแป้งทอดเพิ่มความกรอบมันก็อร่อยไม่แพ้กัน แต่ต้องระวังอย่ารับประทานมากเนื่องจากมีน้ำมัน นอกจากนี้บางคนก็นำไปปิ้งย่างบนเตาให้พอสุก จิ้มน้ำจิ้ม หรือรับประทานแกล้มกับเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตาม อย่าอร่อยเพลินเกินไป ควรเพลาๆ มือในการหยิบเนื้อหรือหยิบหมูมาย่างรับประทานกันด้วย

ข้อควรระวังในการรับประทานกระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียวนั้นกินดี มีประโยชน์ แต่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างดังต่อไปนี้ ควรระมัดระวังอย่างยิ่งไม่ให้รับประทานมากเกินไป

  • คนที่มีปัญหาเกี่ยวลำไส้หรือระบบทางเดินอาหารควรรับประทานแต่พอดี เพราะกระเจี๊ยบเขียวมีคาร์โบไฮเดรตชนิดที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ปวดบีบท้อง ท้องอืด หรือท้องเสียได้
  • กระเจี๊ยบเขียวมีออกซาเลตสูง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดนิ่วในไตที่เกิดจากแคลเซียมออกซาเลตได้
  • คนที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่ควรรับประทานกระเจี๊ยบเขียวมากเกินไป เพราะผักชนิดนี้มีวิตามินเคที่ช่วยต้านการเกิดลิ่มเลือด
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการใช้กระเจี๊ยบเขียวช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคเบาหวานที่ใช้อยู่ได้

แม้กระเจี๊ยบเขียวจะมากไปด้วยคุณประโยชน์ แต่การรับประทานมากเกินไปก็ใช่ว่าจะเกิดผลดี สิ่งที่สำคัญคือการเลือกรับประทานผักผลไม้ให้หลากหลายชนิดและครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และอย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Megan Ware RDN LD, Benefits and uses of okra (https://www.medicalnewstoday.c...), 20 October 2017
Kathryn Watson, Benefits of Okra for Diabetes (https://www.healthline.com/hea...), 26 January 2016
Asgary S et al., (2016). Evaluation of the effects of roselle (Hibiscus sabdariffa L.) on oxidative stress and serum levels of lipids, insulin and hs-CRP in adult patients with metabolic syndrome: a double-blind placebo-controlled clinical trial. Journal of Complementary and Integrative Medicine, 13(2).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป