ระบบทางเดินหายใจเป็นระบบที่มีความสำคัญอย่างมากต่อชีวิต หากเกิดความผิดปกติอาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้ โดยโรคระบบทางเดินหายใจและโรคปอด เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด และยังเป็นในอันดับต้นๆ ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลก ดังนั้นการตรวจเพื่อประเมินระบบทางเดินหายใจอย่างละเอียดและถูกต้อง จะช่วยลดความอันตราย ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
โรคในระบบทางเดินหายใจเกิดจากอะไร?
สาเหตุหลักๆ ของการเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา โปรตัวซัว และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการแพ้
- การหายใจเอาสารพิษหรือสารเคมี เช่น ไอระเหยของกรด ไอระเหยของโลหะหนัก เป็นต้น
- การสูบบุหรี่หรือสารเสพติดผ่านทางระบบหายใจ
- การเกิดอุบัติเหตุที่เกิดการกระแทกอย่างแรงบริเวณอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดทะลุจากอุบัติเหตุ
อาการเบื้องต้นของโรคระบบทางเดินหายใจ มีอะไรบ้าง?
อาการเบื้องต้นที่พบเมื่อเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
- เป็นหวัด ไอ จาม มีเสมหะ
- หายใจลำบาก ติดขัด เหนื่อย หอบ แน่นหน้าอก
- หายใจตื้น หายใจสั้น
- หายใจมีเสียงดัง
- มีการอักเสบของจมูก โพรงจมูก หลอดลม
- กลืนอาหารลำบาก
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
สิ่งที่ควรได้รับเมื่อตรวจประเมินระบบทางเดินหายใจ
โดยทั่วไปการตรวจระบบทางเดินหายใจเพื่อประเมินภาวะสุขภาพของระบบทางเดินหายใจ มีขั้นตอนดังนี้
- การพูดคุยซักประวัติ เกี่ยวกับอาการสำคัญ ประวัติสุขภาพในปัจจุบัน ประวัติเจ็บป่วยในอดีต ประวัติสุขภาพครอบครัว ประวัติส่วนตัว สิ่งแวดล้อม และการเดินทาง
- การสังเกตอาการอื่นๆ ประกอบการวินิจฉัยโรค เช่น สังเกตสีผิว ลักษณะของนิ้วปุ่ม เป็นต้น
- การตรวจร่างกาย โดยใช้เทคนิคการดู คลำ เคาะ และฟัง ตามลำดับ รวมถึงมีการตรวจจมูกจากลักษณะภายนอก แพทย์จะใช้ไฟฉายส่องดูลักษณะภายในรูจมูก ตรวจหลอดลมโดยใช้การคลํากลางคอด้านหน้า และตรวจทรวงอกและปอด โดยใช้เทคนิคการดู คลำ เคาะ และฟัง ตามลำดับ เริ่มจากส่วนบนลงมาส่วนล่างของทรวงอก เปรียบเทียบความแตกต่างของทรวงอกและปอด
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเสมหะ การตรวจโลหิตวิทยา
- การตรวจพิเศษที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ที่บ่อยๆ ได้แก่ การตรวจสมรรถภาพปอด การส่องกล้องเข้าทางหลอดลม และเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray)
การตรวจพิเศษที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ มีอะไรบ้าง?
การตรวจพิเศษที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เพื่อวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรคในระบบทางเดินหายใจ ดังนี้
- การตรวจเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray)
เป็นการตรวจความผิดปกติของอวัยวะสำคัญภายในช่องอก ได้แก่ ปอด หัวใจ และกระดูก รวมถึงร่องรอยความผิดปกติจากอาการเจ็บป่วย เช่น อาการไอเรื้อรัง อาการไอออกมาเป็นเลือด อาการหายใจลำบากหรือติดขัด อาการปวดภายในช่องอก อาการบาดเจ็บภายในช่องอก เป็นต้น
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
เป็นการตรวจเพื่อหาการบาดเจ็บ ความเสียหายของอวัยวะภายใน ภาวะเลือดออก การไหลเวียนของเลือด การเกิดลิ่มเลือด รอยแตกร้าวของกระดูก ภาวะสมองขาดเลือด รวมถึงเนื้องอกและเนื้อร้าย วิธีนี้จะได้ภาพที่มีความละเอียดสูงกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดา และสามารถใช้ตรวจอวัยวะภายในร่างกายได้เกือบทุกส่วน
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose computed tomography หรือ LDCT)
เป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ใช้แสงเอกซเรย์น้อยกว่าปกติ เพื่อป้องกันอันตรายจากรังสี และทำให้เห็นภาพชัดเจนแบบ 3 มิติ วิธีนี้เหมาะสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด และยังสามารถระบุจุดหรือก้อนเนื้อที่อยู่ในปอดได้
- การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ (Biopsy)
เป็นการตัดชิ้นเนื้อจากเนื้องอกหรืออวัยวะที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อวินิจฉัยว่าชิ้นเนื้อนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยการตัดชิ้นเนื้อสามารถทำได้หลายวิธีตั้งแต่การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อจนถึงการทำการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวทางการรักษาของแพทย์
- การส่องกล้องตรวจหลอดลมและการตัดชิ้นเนื้อ (Bronchoscopy)
เป็นการตรวจดูกล่องเสียง หลอดลมคอ และหลอดลม โดยส่องกล้องผ่านทางจมูก หรือปาก ซึ่งยังสามารถตัดเนื้อเยื่อออกมาเพื่อตรวจดูลักษณะของเซลล์ และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป วิธีนี้เหมาะสำหรับการดูก้อนเนื้องอก ดูการอุดกั้น ตำแหน่งเลือดออก หรือสิ่งแปลกปลอมในท่อหลอดลม ช่วยวินิจฉัยมะเร็งหลอดลม วัณโรคปอด และความผิดปกติอื่นๆ และรักษาภาวะถุงลมปอดรั่วได้
- การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary function testing)
ช่วยในการประเมินประสิทธิภาพของปอดและทางเดินหายใจ โดยสามารถบอกปริมาณอากาศที่ผ่านเข้าออกปอด และปริมาณของออกซิเจนที่เข้าสู่ร่างกายโดยสามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขและกราฟ วิธีนี้เหมาะสำหรับการตรวจหาความผิดปกติของระบบหายใจ ประเมินความรุนแรงของโรคปอด เฝ้าติดตามโรค ประเมินการตอบสนองต่อยา ประเมินความเสี่ยงก่อนการผ่าตัด และยังสามารถประเมินผลกระทบของอาชีพและสิ่งแวดล้อมต่อสมรรถภาพปอดอีกด้วย
- การทดสอบความไวของหลอดลมโดยใช้สารกระตุ้นเมทาโคลีน (Methacholine)
เป็นการทดสอบความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น ได้แก่ สารเมทาโคลีน (Methacholine) เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดหรือไม่ โดยวิธีการนี้จะใช้เมื่อทดสอบด้วยเครื่องตรวจสมรรถภาพปอดแล้วยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้
ใครบ้างควรได้รับการตรวจระบบทางเดินหายใจ?
ผู้ที่ควรรับการตรวจระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ผู้ที่มีอาการทางระบบหายใจและผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง
ผู้ที่มีอาการทางระบบหายใจ สังเกตได้จาก
- มีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะไอมีเสมหะ ไอมีเลือดออกมาด้วย
- เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะตรวจทางหัวใจแล้วปกติ หรือหายใจมีเสียงหืด
- เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะหายใจแล้วเจ็บมากขึ้น
ส่วนผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง ได้แก่
- ผู้ที่สูบบุหรี่ นัดยานัตถุ์ ใช้ยาเสพติด
- ทำงานในโรงงานที่มีมลภาวะ มีควัน มีก๊าซเคมีที่เป็นพิษต่อทางเดินหายใจ และปอดเมื่อหายใจเข้าไป
- ทำงานในเหมืองแร่ โรงโม่หิน โรงผลิตซีเมนต์
- ทำงานในบรรยากาศ และอาจเปื้อนปนหายใจเอาสารกัมมันตภาพเข้าไป
- โรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ที่ต้องใช้สารแอสเบสตอส (Asbestos fiber) เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ตู้เย็น ฯลฯ
- ผู้ได้รับการรักษาโดยการฉายแสงบริเวณทรวงอก
- ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันการติดเชื้อต่ำ
- ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคที่อยู่ในระยะติดต่อ
วิธีดูแลและป้องกันตัวเองให้ไกลจากโรคระบบทางเดินหายใจ
การป้องกันตนเองจากโรคในระบบทางเดินหายใจที่ดีควรป้องกันที่ทางผ่านของเชื้อที่แพร่กระจายทางอากาศเป็นสำคัญ ซึ่งมีแนวทางในการป้องกัน ดังนี้
- รักษาสุขภาพให้ดี โดยการรับประทานอาหาร พักผ่อน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- มั่นทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า และสถานที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ
- แต่งกายให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ เหมาะสมกับฤดูกาล เพื่อป้องกันการเป็นหวัด
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ สถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
- สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย เช่น โรงพยาบาลหรือสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
- ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม
- ไม่ใช้สิ่งของปนกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ
- อยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ ไม่อับชื้นแออัด โดยเฉพาะสถานที่ที่มีควันบุหรี่
- ระวังการกระแทกอย่างแรงกับอวัยวะการหายใจ ได้แก่ หน้าอก และปอด
ตรวจทางเดินหายใจ มีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร?
ค่าใช้จ่ายในการตรวจระบบทางเดินหายใจ ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลที่เลือกเข้ารับบริการและเทคนิคการตรวจวินิจฉัย สำหรับแพ็กเกจการตรวจระบบทางเดินหายใจทั่วไป มีการตรวจเอกซเรย์ปอดและการตรวจสมรรถภาพปอดด้วย จะมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 1,200 บาท และจะเพิ่มขึ้นตามรายการการตรวจวินิจฉัย