ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD
เขียนโดย
ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

นมแมว

นมแมวคืออะไร ต้นไม้หรือแค่ชื่อกลิ่นหอมในขนมหวาน กลิ่นนมแมวในปัจจุบันมาจากไหน
เผยแพร่ครั้งแรก 21 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 2 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
นมแมว

นมแมว เป็นชื่อดอกไม้ มีชื่อชนิดในชื่อวิทยาศาสตร์คือ Siamensis บ่งบอกว่าเป็นพืชที่พบในสยามหรือปัจจุบันคือประเทศไทย คนโบราณนิยมสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยจากนมแมวออกมาใช้เป็นเครื่องหอม เนื่องจากให้กลิ่นหอมแรง มีเสน่ห์เฉพาะตัว นอกจานี้ยังนิยมปลูกประดับตามบ้านเรือนมาช้านาน ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อสูดดมกลิ่นหอมจากดอก ต้นนมแมวสามารถทั้งเป็นไม้ดอก ไม้ประดับ นำมาทำเครื่องหอม น้ำอบน้ำปรุง และมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์  Rauwenhoffia siamensis Scheff, Melodorum siamense (Scheff.) Bân

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ชื่อสามัญ   Rauwenhoffia siamensis

วงศ์ ANNONACEAE วงศ์เดียวกันกับกระดังงา ลำดวน จำปี จำปา

ถิ่นกำเนิดนมแมวพบเฉพาะในประเทศไทย บริเวณป่าเบญจพรรณ มีลักษณะเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย แตกกิ่งก้านได้ง่าย ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปหอก ขอบใบเรียบ โคนใบมน ปลายใบแหลม ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก 2-4 ดอกตรงข้ามใบ ออกดอกตลอดทั้งปี มีกลิ่นหอมในช่วงเย็น ตอนรุ่งเช้ากลิ่นจะจางไปตามธรรมชาติ กลีบเลี้ยง 3 กลีบมีสีเขียว และกลีบดอก 6 กลีบเรียงเป็นสองวง สีเหลืองนวล กลีบหนา ผลเป็นผลกลุ่ม ออกเป็นพวงรูปรี เมื่อสุกสีเหลืองอมส้ม มีรสหวาน สามารถรับประทานได้

สรรพคุณทางยาของนมแมว

  • ราก ตำรับยาพื้นบ้านอีสานใช้ตำผสมน้ำปูนใส ทาแก้พิษแมลงกัดต่อย และนำรากสด 10-15 กรัม ต้มน้ำดื่ม 1 แก้ว หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ยาแก้โรคผอมแห้งของสตรีที่คลอดบุตรแล้วไม่ได้อยู่ไฟ หรือผสมรากไส้ไก่ และรากหนามพรม ในอัตราส่วนของทั้งสาม อย่างละ 1 ส่วน ต้มน้ำดื่ม 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เช้า เย็น แก้ริดสีดวงจมูก
  • เนื้อไม้และราก อย่างละ 1 ส่วน ใช้ต้มกับน้ำแก้อาการไข้กลับ ไข้ซ้ำไข้หวัด ไข้ทับฤดูและไข้เพื่อเสมหะ (ไข้ปลายฝนต้นหนาว)
  • ยอดใบอ่อน 5-7 ใบ ผสมกับน้ำปูนขาวและน้ำสะอาด จากนั้นขยี้ส่วนผสมทั้งหมดจนละเอียดเป็นฟองสีเหลือง นำมาทาบริเวณท้อง ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือตามความเชื่อโบราณใช้ทาบริเวณรอบเต้านมของแม่ เนื่องจากใบมีรสขม ช่วยทำให้เด็กหย่านมได้
  • ผลนำมาตำผสมน้ำสะอาด ทาแก้เม็ดผื่นคันตามร่างกาย
  • ตำรับยาพื้นบ้านในการใช้สมุนไพรรักษาโรคของชุมชนรอบพรุในนราธิวาส ใช้รากนมแมว รากเข้ตาย และรากน้ำนอง อย่างละ 1 กำมือ ต้มกับน้ำดื่ม มีสรรพคุณช่วยเพิ่มน้ำนม นอกจากนี้ใช้รากนมแมวต้มกับน้ำดื่ม เชื่อว่ารักษาอาการมดลูกอักเสบได้

ประโยชน์ของต้นนมแมว

  • ต้นนมแมวนิยมปลูกไว้บริเวณบ้านเรือน สวนสาธารณะ เนื่องจากเป็นไม้พุ่มกะทัดรัด มีความแข็งแรงทนทาน ปลูกง่าย อายุยืน เพราะเป็นไม้ประจำถิ่นประเทศไทย จึงสามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศได้ดี
  • ดอกขนาดเล็ก กลีบดอกหนา ไม่ช้ำง่าย พกพาติดตัวผูกผมคล้ายดอกจำปี หรือจะเอาไปใส่ไว้ในตู้เสื้อผ้า อบผ้าให้มีกลิ่นหอม 
  • ดอกนมแมวมีน้ำมันหอมระเหย นิยมใช้กลิ่นปรุงแต่งกลิ่นขนมไทยชนิดต่างๆ เพื่อให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขนมปุยฝ้าย ขนมสาลี่ และขนมที่ใส่น้ำเชื่อมหรือน้ำกะทิ เช่น ขนมขี้หนู ลอดช่อง ซ่าหริ่ม ทับทิมกรอบ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันมีการสังเคราะห์เลียนแบบขึ้น ประกอบด้วย Amyl Acetate มีกลิ่นหอมคล้ายดอกนมแมว ใช้ประโยชน์เป็นตัวปรุงกลิ่น ทำให้กลิ่นนมแมวสังเคราะห์นั้นค่อนข้างแรงกว่ากลิ่นตามธรรมชาติ คนสมัยนี้เมื่อได้กลิ่นจึงรู้สึกเหม็น ไม่อยากรับประทานขนมต่างๆ ที่มีส่วนผสมของกลิ่นสังเคราะห์ดังกล่าว

ข้อควรระวังและวิธีใช้นมแมวอย่างปลอดภัย

  1. ควรเริ่มรับประทานนมแมวจากขนาดน้อย หากไม่เกิดอาการอาการแพ้หรือผิดปกติจึงค่อยรับประทานตามขนาดที่กำหนด และควรระวังในผู้ที่อ่อนเพลียมาก เด็กอ่อน คนชรา ห้ามใช้ขนาดยามาก เพราะความต้านทานของร่างกายต่ำกว่าคนปกติ อาจเกิดพิษได้ง่าย
  2. หากเกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้นตามตัว คลื่นไส้ ใจสั่น หรือรู้สึกคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น ให้หยุดรับประทานยา และควรไปพบแพทย์ทันที
  3. สารสังเคราะห์นมแมวในปัจจุบันเป็นวัตถุแต่งกลิ่นรสเลียนแบบธรรมชาติ เป็นการสกัดกลิ่นรสจากพืชหรือวัตถุจากธรรมชาติโดยวิธีทางเคมี ผู้บริโภคควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนผสมของวัตถุแต่งกลิ่นรสเลียนแบบธรรมชาตินี้ อย่างถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและอาการแพ้ต่างๆ เช่น คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดท้อง ท้องร่วง เป็นต้น

4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, นมแมว (http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?wordsnamesci=Uvaria0siamensis0(Scheff.)0L.0L.0Zhou,0Y.0C.0F.0Su010R.0M.0K.0Saunders), 28 พฤศจิกายน 2559.
ศูนย์วิจัยและพัฒนาสง่า สรรพศรี องค์การสวนพฤกษศาสตร์, นมแมว (http://www.qsbg.org/Database/Botanic_Book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=2364), 7 กันยายน 2554.
คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ข้อมูลพรรณไม้ นมแมว(http://www.natres.psu.ac.th/FNR/vfsouthern/index.php/2013-10-26-10-11-55/9-uncategorised/83-2013-11-17-08-01-09), เข้าถึงเมื่อ 13 เมษายน 2562.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป