จำปา เป็นไม้ดอกยืนต้นที่ปลูกมากในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิเช่น การเก็บดอกใช้ทำพวงมาลัย การปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ หรือการนำดอกมากลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหยเพื่อผ่อนคลาย เป็นต้น ไม่เพียงแต่จะมีประโยชน์ดังที่กล่าวมา จำปายังนิยมยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Michelia champaca L.
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ชื่อวงศ์ MAGNOLIACEAE
ชื่ออังกฤษ Champak, Orange Chempaka, Sonchampa
ชื่อท้องถิ่น จำปากอ จำปาเขา จำปาทอง จำปาป่า
ถิ่นกำเนิดของจำปา
เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย และพม่า จากนั้นจึงขยายพันธุ์มายังประเทศไทย มักปลูกกันตามสวนดอกไม้หรือตามวัด จำปาเป็นไม้ปลูกยาก โบราณจึงถือว่า เป็นไม้เสี่ยงทาย ถ้าผู้ใดปลูกและผลิตดอกออกผลงอกงามดี ก็ถือว่าผู้นั้นจะเจริญรุ่งเรืองดี แต่ถ้าทำท่าคล้ายต้นจะตาย ก็ถือว่าผู้นั้นจะหมดสิ้นวาสนาหรืออายุสิ้นลง การเสี่ยงทายนี้ได้ถือกันมาแต่โบราณกาลมาแล้ว
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
จำปาเป็นไม้ยืนต้น ลำต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 20 ฟุต มีสีน้ำตาลปนขาวเล็กน้อย กิ่งเปราะ เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง ยอดอ่อนมีหูใบหุ้ม ลำต้นและกิ่งมีเส้นควั่นเป็นรอย และมีตุ่มเล็กๆ ใบสีเขียวใหญ่เป็นมัน เดี่ยว กว้าง 4-10 เซนติเมตร ยาว 5-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบกลม มน หรือสอบ ก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร ใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ท้องใบมีขนอ่อนด้านล่าง ดอกเป็นดอกเดียว มีขนาดใหญ่กว่าดอกจำปี มีสีเหลืองอมส้ม ออกตามง่ามใบ กลีบดอกยาว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกรวมกัน 12-15 กลีบ กลีบดอกชั้นในสั้นและแคบกว่าชั้นนอก เกสรเพศผู้มีจำนวนมากมีขนาดใหญ่กว่าดอกจำปี มีสีเหลืองอมส้ม ยอดแหลมคล้ายฝักข้าวโพดเล็กๆ ก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร เวลาบานกลีบใหญ่โค้งงอเข้าภายในดอก ไม่บานกระจายแบบดอกจำปี ผลเป็นรูปรีหรือรูปไข่ เปลือกแข็ง ขนาดยาว 1-2 เซนติเมตร ออกเป็นกลุ่ม เปลือกผลมีจุดสีขาวขรุขระโดยรอบ ผลแก่สีน้ำตาล แตกด้านข้าง เมล็ดสีดำ ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงส้ม
สรรพคุณของจำปา
จำปามีสรรพคุณทางยามากมาย ดังนี้
- ตามตำราแพทย์แผนไทยกล่าวว่า ดอกจำปามีรสขมเย็น ใช้รักษาโรคเรื้อนและหิด ฝี แก้ไข้และโรคธาตุเสีย คลื่นเหียนวิงเวียน สอดคล้องกับสรรพคุณยาของประเทศอังกฤษ พิมพ์กล่าวด้วยสมุนไพรในประเทศอินเดีย กล่าวว่า เปลือกจำปาเป็นยาแก้ไข้ โดยนำดอกจำปาไปตากแห้ง จากนั้นจึงบดเป็นผงละลายน้ำร้อน รับประทานหลังมีอาการ หรือนำไปเข้าตำรับยาหอม
- น้ำมันหอมของดอกจำปา เมื่อกลั่นออกมาใช้ทาบริเวณขมับ แก้ปวดศีรษะ แก้ตาอักเสบ ส่วนน้ำมันหอมของเมล็ดจำปา กลั่นออกมาทาบริเวณหน้าท้อง แก้ท้องอืดเฟ้อ
- แพทย์โบราณกล่าวว่า ดอกจำปาผสมกับน้ำมันงาใช้เป็นยาภายนอกทาหน้ากระเพาะอาหาร แก้ลมวิงเวียนซึ่งเกิดจากกระเพาะอาหารได้ดีมาก
- รากจำปาแห้งและเปลือกของรากแห้งผสมกับกากนม ใช้พอกฝี จะเรียกหนองให้ขึ้นเร็ว และระงับความปวดบวมอักเสบจากฝี
- แพทย์พื้นบ้านตามชนบทกล่าวว่า ดอกจำปาเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคทางไต แก้หนองใน บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน โดยนำดอกมาต้มดื่มกิน วันละ 3 เวลา ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น
- แพทย์ตามชนบทใช้ดอกปรุงเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย บำรุงครรภ์ แก้อ่อนเพลียวิงเวียนหน้ามืด ตาลาย ช่วยให้นอนหลับสบาย
- สรรพคุณยาโบราณกล่าวว่า ดอกจำปาทำให้เลือดเย็น เนื้อไม้บำรุงโลหิต โบราณนิยมให้หญิงตั้งครรภ์ ต้มดอกและเนื้อไม้ในน้ำเดือด ดื่มเพื่อให้เลือดลมไหลเวียนดี
- กะพี้ไม้ (ส่วนของเนื้อไม้ที่หุ้มแก่น หรือ เนื้อไม้ที่อยู่ระหว่างเปลือกกับแก่น) แก้พิษสำแดง ไข้ซ้ำ โบราณนิยมให้คนใกล้หายจากไข้ ดื่มน้ำต้มกะพี้ไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นไข้อีก
จำปาในงานวิจัย
การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดจากใบ เมล็ด เปลือกและแก่นต้นจำปา มีสรรพคุณต้านเชื้อจุลชีพหลายชนิด การศึกษาระดับหลอดทดลองพบว่า สารพาร์เทโนไลด์ (Parthenolide) และคอสทูโนไลด์ (Costunolide) ซึ่งเป็นสารสำคัญจากดอกจำปามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง การศึกษาระดับคลินิกในประเทศอินเดียพบว่า สารสกัดจากดอกจำปามีสรรพคุณบรรเทาอาการจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งเกิดจากการการฉีดอินซูลินในปริมาณสูงเกินไป นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้น้ำมันจากดอกจำปาในการบำบัดโรคอีกด้วย ช่วยผ่อนคลาย บรรเทาอาการเครียด
ใช้จำปาอย่างไรให้ปลอดภัย
มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง โดยให้หนูทดลองกินสารสกัดจากดอกในปริมาณสูง (มีค่า LD 50 > 5 กรัม/กิโลกรัม) และทดสอบความเป็นพิษเรื้อรังจากการกินสารสกัดจากดอกจำปาเป็นเวลา 13 สัปดาห์ ผลพบว่าไม่พบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการประเมินความเป็นพิษในคน จึงควรมีการศึกษาความเป็นพิษในคนเพิ่มเติม ฉะนั้นจึงควรบริโภคในปริมาณที่ไม่สูงมากจนเกินไป และไม่ควรบริโภคติดต่อนานเกิน 3 เดือน