การถูกแมลงกัดต่อย ไม่ว่าจะเป็นผึ้งต่อย ต่อต่อย แตนต่อย หรือมดคันไฟกัด ก็สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อพิษของสัตว์ที่ถูกฉีดเข้าผิวหนังได้
แม้คนส่วนมากจะไม่แพ้พิษของแมลงเหล่านี้ แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะอาการแพ้อาจเกิดขึ้นได้แม้จะไม่เคยแพ้มาก่อน ยิ่งถ้าเป็นอาการแพ้ชนิดรุนแรงก็อาจส่งผลต่อหลายระบบในร่างกายจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ในบางครั้งอาการปวดที่เกิดขึ้นจากการถูกแมลงกัดต่อยก็อาจทำให้สับสนว่า เป็นอาการปวดธรรมดา หรืออาการแพ้กันแน่ การรู้ถึงความแตกต่างระหว่างปฏิกิริยาการแพ้กับปฏิกิริยาปกติจึงเป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากนี้ยังช่วยลดความกังวล และช่วยลดการเสียค่าใช้จ่ายทางการแพทย์โดยไม่จำเป็นอีกด้วย
อาการทั่วไปเมื่อถูกแมลงกัดต่อย
- ปวดบริเวณที่ถูกกัด หรือต่อย
- ผิวแดง
- บวมบริเวณที่โดนกัดต่อย รวมถึงบริเวณรอบๆ
- ผื่นลมพิษ
- คัน
หากมีอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เพราะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และทำให้ร่างกายมีภาวะช็อกได้
จะรู้ได้อย่างไรว่า มีอาการแพ้แมลงกัดต่อย?
ความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นหลังจากถูกแมลงกัดต่อยจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยทั่วไปมักมีอาการปวด บวม แดง เฉพาะบริเวณที่โดนกัดต่อย
ในเบื้องต้นควรฆ่าเชื้ออย่างง่าย โดยการล้างด้วยสบู่ และน้ำสะอาด จากนั้นให้ประคบน้ำแข็งเพื่อบรรเทาอาการบวม
สำหรับในรายที่มีอาการบวมมากกว่าปกติ เช่น โดนกัดต่อยที่ปลายแขน แต่มีอาการบวมทั้งแขน แม้ว่าอาการดังกล่าวจะดูน่ากลัว แต่กรณีนี้มักรักษาได้ด้วยวิธีเดียวกันกับอาการทั่วไป
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
แต่หากมีอาการปวดผิดปกติ หรือมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นเป็นวงกว้างมากๆ อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นนาน 2-3 วัน แพทย์อาจจำเป็นต้องสั่งยาแก้แพ้ และยาสเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการ
ปฏิกิริยาร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้จากการถูกแมลงกัดต่อยนี้เรียกว่า "อาการแพ้แมลงกัดต่อย" สังเกตได้จากอาการแพ้ดังต่อไปนี้
- ลมพิษ คัน และบวม ในบริเวณกว้างกว่าจุดที่โดนกัด หรือต่อย
- ปวดเกร็งท้อง อาเจียน คลื่นไส้ หรือท้องเสียรุนแรง
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
- เสียงแหบ บวมที่ลิ้น หรือลำคอ กลืนลำบาก
ส่วนอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) สามารถเกิดขึ้นได้ภายในไม่กี่นาที หรือไม่กี่ชั่วโมงหลังจากถูกต่อย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยอาการแพ้รุนแรงที่อาจพบได้ มีดังนี้
- เวียนศีรษะ หรือความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างมาก
- หมดสติ หรือหัวใจวาย
ในกรณีที่เกิดอาการแพ้รุนแรง หากมียาอิพิเนฟริน (Epinephrine) แบบพกพาต้องฉีดทันที และรีบส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา
ทั้งนี้ ผู้ที่เคยเกิดอาการแพ้หลังจากถูกแมลงกัดต่อย มีโอกาส 60% ที่จะเกิดอาการแพ้แบบเดิม หรือรุนแรงกว่าเดิมเมื่อถูกแมลงกัดต่อยในครั้งต่อไป
การวินิจฉัยแมลงกัดต่อย
หากคุณกังวลว่า ตนเองอาจมีอาการแพ้จากแมลงกัดต่อย แตนต่อย หรือผึ้งต่อย ให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้เพื่อตรวจภูมิแพ้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ในเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง และสอบถามถึงอาการเมื่อถูกแมลงกัดต่อยในอดีต เช่น
- คุณเคยถูกแมลงกัดต่อยมากี่ครั้ง
- หากเคยโดนกัด แล้วโดนกัดที่ไหนบ้าง
- แต่ละครั้งที่ถูกแมลงกัดมีอาการอย่างไร
- ถูกกัดครั้งนี้มีอาการเกิดขึ้นนานแค่ไหน และทำอย่างไรอาการถึงดีขึ้น
- ถามถึงอาการอื่นๆ ที่เป็นร่วมด้วย
หลังจากนั้น แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยอาการแพ้แมลงกัดต่อย เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด (Skin Prick Test: SPT) การตรวจเลือด หรือการทดสอบใต้ผิวหนัง (Intradermal Skin Test)
ขั้นตอนการตรวจภูมิแพ้
การตรวจภูมิแพ้เบื้องต้นจะแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีสะกิด และการตรวจเลือด
โดยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง แพทย์จะหยดของเหลวที่มีส่วนประกอบของพิษจากแมลงลงบนหลัง หรือท้องแขนด้านล่าง และใช้เข็มปลอดเชื้อขนาดเล็กสะกิดที่บริเวณหยดน้ำนั้นเพื่อให้ของเหลวเข้าสู่ผิวหนังด้านใน
หากมีตุ่มนูนเกิดขึ้นภายใน 15-20 นาทีแสดงว่า มีอาการแพ้ต่อพิษของสัตว์นั้นๆ
ส่วนในการตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อหาสารต้านภูมิแพ้ต่อแมลง หรือที่เรียกว่า “IgE Antibodies”
หากผลการตรวจไม่สามารถสรุปได้ว่า มีอาการแพ้หรือไม่ เช่น ผลจากการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือผลจากการตรวจเลือดให้ผลเป็นลบ แต่ประวัติทางการแพทย์บ่งชี้ว่า คุณเคยมีปฏิกิริยาการแพ้มาก่อน แพทย์จะแนะนำให้ทดสอบภูมิแพ้ด้วยวิธีฉีดใต้ผิวหนังต่อไป
ซึ่งเป็นการทดสอบด้วยการใช้ของเหลวที่ประกอบด้วยพิษจากแมลงฉีดเข้าใต้ผิวหนังในปริมาณเล็กน้อย และวัดขนาดของตุ่มที่นูนขึ้นมาภายใน 15 นาทีหลังจากฉีด เพื่อดูปฏิกิริยาการแพ้ การทดสอบนี้มีความแม่นยำมากกว่าการทดสอบภูมิแพ้อื่นๆ แต่มีความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ทั่วร่างกาย
การรักษาอาการแพ้แมลงกัดต่อย
การแพ้แมลงกัดต่อย ผึ้งต่อย หรือแตนต่อย มีวิธีรักษา 2 ขั้นตอน ดังนี้
1. การรักษาอย่างรีบด่วนหากมีอาการร้ายแรงเกิดขึ้น
ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงที่อันตรายถึงชีวิตสามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที โดยการ...
- ฉีดยาอิพิเนฟริน
- ให้ยาแก้แพ้
- ในบางกรณีอาจต้องให้ยาสเตียรอยด์ การให้น้ำเกลือ การให้ออกซิเจน และการรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย
หากอาการเริ่มคงที่แล้ว แพทย์อาจให้กลับบ้านได้ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชนิดตลอดทั้งคืนก่อนจะกลับบ้านได้
การฉีดยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ด้วยตนเอง
แพทย์มักสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยพกติดตัวไว้เผื่อกรณีมีอาการแพ้อย่างรุนแรงฉุกเฉินเกิดขึ้น เพื่อเป็นยาช่วยชีวิตสำหรับผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการแพ้รุนแรงในอดีต หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรง โดยผู้ป่วยจะต้องไม่ลืมพกยานี้ติดตัวตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาฉีดนี้เพียง 1 ครั้งอาจไม่เพียงพอต่อการรักษาอาการแพ้ที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ทันทีหลังจากฉีดยา
2. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้แมลง (Venom Immunotherapy)
อาการแพ้แตนต่อย ต่อต่อย ผึ้งต่อย มดคันไฟกัด หรือแมลงใดๆ มีวิธีป้องกันในระยะยาวด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้แมลง ซึ่งวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพสูงถึง 98%
นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรงในอนาคต หากถูกแมลงต่อย หรือกัดอีกครั้งแล้ว การฉีดวัคซีนยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตด้วย ซึ่งจะเห็นชัดมากในผู้ที่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นประจำ
ทั้งนี้ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนจะอยู่ได้ประมาณ 3-5 ปี แต่ก็สามารถมีต่อไปได้เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเกิดปฏิกิริยาแพ้ในอดีต และความเสี่ยงที่จะถูกกัดต่อยในอนาคต
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้แมลงนั้นจะทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ โดยแพทย์จะฉีดพิษของแมลงในปริมาณน้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มขนาดขึ้นอย่างช้าๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ป่วย ซึ่งวิธีนี้สามารถลดความเสี่ยงต่อการแพ้แมลงกัดต่อยในอนาคตได้ และได้ผลดีในคนทั่วไป
สำหรับคนที่คิดว่า ตัวเองอาจมีอาการแพ้แมลงกัดต่อย แต่ยังไม่แน่ใจ ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ โดยแพทย์จะเก็บข้อมูลประวัติในอดีต และให้คุณเข้ารับการตรวจภูมิแพ้ทางผิวหนัง เพื่อดูว่า ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้แมลงหรือไม่
หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกแมลงกัดต่อยอย่างไร?
การถูกแมลงกัดต่อยมักพบบ่อยในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน และช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งยาไล่แมลงอย่างยากันยุงนั้นไม่สามารถป้องกันแมลงเหล่านี้ได้
โดยเฉพาะต่อ และแตน ที่มักทำรังในพุ่มไม้ ต้นไม้ และตามอาคาร ทำให้ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเมื่อทำงาน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่เหล่านี้
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้แนะนำให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแมลงกัดต่อย
- หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าแตะ หรือการเดินเท้าเปล่าบนพื้นหญ้า เพราะอาจมีผึ้งที่ชอบหาอาหารบนวัชพืชสีขาวที่เติบโตในสนามหญ้าอยู่
- ไม่ตบตีแมลงที่บินอยู่ หากจำเป็นให้ใช้แปรงปัดออกไป หรือรอให้แมลงออกไปจากบริเวณนั้นเอง
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มจากกระป๋อง เพราะแมลงอาจเข้าไปในกระป๋องเพื่อดูดกินน้ำหวานในกระป๋องได้
- หลีกเลี่ยงการเปิดกระป๋องน้ำหวานขณะรับประทานอาหารกลางแจ้ง หรือไปปิกนิก เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการถูกผึ้งต่อยขณะอยู่กลางแจ้ง
- เมื่อต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน พยายามเก็บอาหารไว้ในภาชนะมีฝาปิดตลอดเวลา
- ควรเก็บกระป๋องต่างๆ ที่เป็นขยะแล้วไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม สเปรย์ใส่ผม โคโลญจ์ และที่ระงับกลิ่นกาย
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าสีสด
- หากทำสวน ควรทำด้วยความระมัดระวัง สวมถุงเท้า รองเท้า และถุงมือสำหรับทำสวน เพื่อป้องกันการถูกแมลงกัดต่อยที่มือ และเท้า หากเจอกองเนินดินบางอย่างให้หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ เพราะอาจเป็นรัง หรือที่อยู่ของแมลงได้
- ปิดหน้าต่างรถให้สนิทเวลาขับรถไปข้างนอก
- พกยาที่แพทย์สั่งติดตัวเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำเมื่อถูกแมลงกัดต่อย โดยใช้ยานี้ในกรณีฉุกเฉินระหว่างทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
มดคันไฟกัดมีอาการแตกต่างจากแมลงกัดต่อยอื่นๆ อย่างไร?
การถูกมดคันไฟกัดแตกต่างจากการถูกแมลงอื่นๆ กัดตรงที่มักถูกกัดพร้อมกันหลายตัว เพราะหากรังของพวกมันถูกรบกวนจะมีมดหลายร้อยถึงพันตัวตอบสนองต่อการรบกวนนี้
นอกจากนี้มดแต่ละตัวสามารถกัดซ้ำได้ด้วย โดยจะยึดขากรรไกรไว้กับผิวหนัง และกัดซ้ำอีกหลายครั้ง ซึ่งการกัดในลักษณะนี้จะทำให้ดึงออกยาก ต้องดึงออกทีละตัว ไม่สามารถปัดออกทีเดียวทั้งหมดได้
อาการเมื่อถูกมัดคันไฟกัด
ความรุนแรงของอาการหลังโดนมดคันไฟกัดในแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่เกือบทุกคนที่โดนกัดจะมีอาการคัน มีผื่นลมพิษ หรือมีตุ่มนูนเกิดขึ้นบริเวณที่ถูกกัด และอาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป 30-60 นาที
ตามมาด้วยตุ่มพุพองขนาดเล็กภายใน 4 ชั่วโมง รวมถึงมีหนองเกิดขึ้นภายในตุ่มภายในระยะเวลา 8-24 ชั่วโมง โดยอาจเห็นเป็นเซลล์ที่ตายแล้ว
หากตุ่มนี้ไม่ได้ถูกเปิดออกก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้น้อย เมื่อหายดีแล้วอาจเกิดเป็นรอยแผลเป็น
วิธีการรักษามดคันไฟกัด
การรักษาเมื่อถูกมดคันไฟกัดมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ตุ่มหนองพุพองแตกออก ดังนั้น จึงควรหมั่นล้างตุ่มพุพองด้วยสบู่ และน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน
พยายามระวังไม่ให้ตุ่มพุพองแตกออก หากตุ่มเปิดออกเองโดยไม่ตั้งใจ ต้องใส่ใจดูแลตุ่มบริเวณนั้นโดยรักษาความสะอาดด้วยสบู่ และน้ำสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาทาสเตียรอยด์ชนิดขี้ผึ้ง และการรับประทานยาแก้แพ้ ก็อาจช่วยบรรเทาอาการคันที่เกิดขึ้นได้
การฉีดวัคซีนป้องกันการแพ้มดคันไฟคืออะไร?
การรักษาในระยะยาวเพื่อป้องกันการแพ้มดคันไฟกัด เรียกว่า การฉีดวัคซีนที่สกัดจากตัวมดคันไฟ (ไม่ใช่พิษของมดอย่างเดียว) ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันอาการแพ้จากมดคันไฟกัดในอนาคต แต่ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ หรือด้านโรคภูมิคุ้มกันเท่านั้น
การฉีดวัคซีนนี้ทำโดยฉีดด้วยปริมาณน้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ ใช้ได้ผลดีในคนทั่วไป
ผู้ป่วยที่เคยแพ้มดคันไฟกัดอย่างรุนแรงจะสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติเหมือนคนทั่วไปได้หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นสัปดาห์จนถึงเป็นเดือน
หากคุณคิดว่า ตัวคุณแพ้มดคันไฟกัด ให้เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ แพทย์จะพิจารณาจากประวัติในอดีต และอาจให้ตรวจภูมิแพ้ทางผิวหนังเพิ่มเติม เพื่อประเมินว่า ต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้หรือไม่
ทำอย่างไรเมื่อถูกผึ้ง ต่อ แตน และแมลงที่มีเหล็กในต่อย?
วิธีปฏิบัติเมื่อถูกผึ้งหรือแมลงอื่นๆ ที่มีเหล็กในต่อยขึ้นอยู่กับอาการหลังจากนั้น
หากเป็นอาการปกติที่ไม่ใช่อาการแพ้ เช่น ปวด บวม แดง หรือรู้สึกไม่สบายผิวบริเวณนั้น และมีเหล็กในฝังอยู่ที่ผิวหนัง ให้พยายามขูดออก โดยอาจใช้มุมของบัตรเครดิตดันออกจากผิวหนัง แต่อย่าใช้วิธีจิกออกเพราะจะเป็นการเพิ่มการกระจายของพิษที่ผิวหนัง
จากนั้นอาจประคบด้วยน้ำแข็งเพื่อช่วยควบคุมอาการบวม และบรรเทาอาการปวดด้วยยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน (ห้ามใช้ยาแอสไพรินในเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี)
หากมีอาการคันให้รับประทานยาแก้แพ้ ร่วมกับใช้น้ำแข็งประคบ หรือใช้คาลาไมน์ทาบริเวณที่คัน
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการตอบสนองต่อการถูกต่อย หรือกัดในบริเวณกว้างกว่า ซึ่งมักมีอาการบวมโดยทั่วไปมากกว่า 3 นิ้วรอบๆ บริเวณที่ถูกกัดต่อย เช่น โดนต่อยที่บริเวณแขนด้านหน้า แต่มีอาการบวมไปทั้งแขน
ในกรณีนี้ให้กำจัดเหล็กในที่ฝังอยู่ และบรรเทาอาการปวด บวม และคัน ด้วยหลายวิธีร่วมกันเช่นเดียวกับอาการปกติ ได้แก่ ประคบน้ำแข็ง และรับประทานยาแก้แพ้หรือยาแก้ปวด โดยจะมีอาการบวมมากที่สุดเมื่อผ่านไป 2-3 วันหลังจากถูกต่อย และอาจเป็นติดต่อนานเป็นสัปดาห์หรือมากกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม อาการชนิดนี้จะคล้ายกับชนิดแรกคือ ไม่อันตรายถึงชีวิต เพียงแต่อาจจะมีอาการปวด และบวมบริเวณที่ถูกต่อยไปนานอีกหลายวัน
สำหรับอาการตอบสนองชนิดสุดท้าย คืออาการแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นชนิดที่อันตรายที่สุด และรุนแรงถึงชีวิต ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน
โดยอาการจะมีให้เห็นได้ตั้งแต่ผื่นคันลมพิษในระดับเล็กน้อยไปจนถึงอาการรุนแรงมาก รวมถึงมีภาวะช็อก หรือสูญเสียความสามารถในการหายใจ ทำให้หายใจไม่ออก จนเป็นอันตรายถึงชีวิตในที่สุด
หากคุณเคยมีอาการแพ้แบบรุนแรงหลังจากถูกแมลงกัดต่อย ควรพกยาฉีดเอพิเนฟรินติดตัวไว้เสมอ
เมื่อถูกแมลงกัดต่อยให้รีบฉีดยานี้ทันที และโทรเรียกรถพยาบาลที่เบอร์ 1669 หรือไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันทีหากมีอาการแพ้อย่างรุนแรงเกิดขึ้น
ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android