สมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ในปี 2560 มีผู้ป่วยสะเก็ดเงินราว 1.34 ล้านราย หรือกล่าวได้ว่าจากประชากร 100 คน จะพบผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน 2 คน ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคแน่ชัด เชื่อกันว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นภายนอก ส่งผลให้มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วผิดปกติ แม้ว่าอัตราการเกิดโรคจะไม่สูงนัก แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาการของโรคจะรบกวนการใช้ชีวิตค่อนข้างมาก ดังนั้นควรหันมาดูแลสุขภาพ เพื่อให้ห่างไกลจากโรค
โรคสะเก็ดเงินคืออะไร
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคเรื้อรังทางผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อ และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยลักษณะอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ผื่นนูนแดงมีอาการผิวแห้งลอกเป็นสะเก็ดสีขาวหรือสีเงิน จึงถูกเรียกว่าโรคสะเก็ดเงิน โดยเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ทั้งยังพบว่าผู้ป่วยมักมีอาการของโรคอื่นแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคข้อเสื่อม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเป็นอันตรายได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
โรคสะเก็ดเงินพบบ่อยแค่ไหน
โรคสะเก็ดเงินพบได้ประมาณร้อยละ 1 – 2 ของประชากรทั่วโลก โดยผู้ชายและผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ใกล้เคียงกัน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการเมื่ออายุระหว่าง 20 – 30 ปี
อาการของโรคสะเก็ดเงิน
ผู้ป่วยจะมีผิวหนังที่คัน เป็นผื่น ปื้น นูน มีสีเทาๆ เงินๆ และผิวหนังจะแห้งเป็นสะเก็ด ซึ่งอาจจะหลุดเป็นแผ่นเล็กๆ เหมือนกับรังแคได้ มีอาการอักเสบของผิวหนัง หากคัน แล้วเกามากๆ อาจทำให้เป็นแผล และมีอาการแสบผิวได้
ทั้งนี้โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนัง แต่ไม่ติดต่อ (ไม่ติดต่อผ่านการสัมผัส หรือสารคัดหลั่งใดๆ) แต่คือความผิดปกติของเซลล์ผิวหนังเฉพาะตัวบุคคล ดังนั้นผู้ป่วยจึงใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนรอบข้างได้ตามปกติ (โรคผิวหนังส่วนใหญ่จะเป็นโรคติดต่อ เช่น กลาก เกลื้อน หรือเรื้อน)
ผื่นสะเก็ดเงินมีกี่แบบ
ผื่นสะเก็ดเงินที่พบบ่อยที่สุดคือ แบบชนิดหนา ซึ่งจะมีลักษณะผื่นแดงหนา ขอบเขตชัด ขุยหนาสีขาวหรือสีเงิน จึงเรียกกันว่า สะเก็ดเงิน แต่ก็ยังพบผื่นที่ผิวหนังได้อีกหลายลักษณะ คือ
- ผื่นขนาดเล็กเป็นตุ่มนูนสีแดง มีขุยกระจายไปทั่วบริเวณลำตัวและแขนขา
- มีผื่นเป็นตุ่มหนองตื้นๆ สีแดง
- ผื่นแดงอักเสบบริเวณซอกรักแร้ หรือซอกขา
- มีผื่นแดงลอกไปหมดทั้งตัว
ผื่นสะเก็ดเงินพบบริเวณใดของร่างกายได้บ้าง
ผื่นสะเก็ดเงินเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่ตำแหน่งที่มักพบบ่อยได้แก่ หนังศีรษะ ผิวหนังที่มักมีการเสียดสีหรือแกะเกา เช่น ข้อศอก หัวเข่า ลำตัว และก้นกบ บางรายอาจพบบริเวณเล็บ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรืออวัยวะเพศ เป็นต้น ส่วนการกระจายของผื่น มักจะเท่ากันทั้งสองข้างของร่างกาย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน
ผู้ป่วยอาจเป็นข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงินซึ่งพบได้ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วย และมักจะพบความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการปวดข้อคล้ายกับโรคปวดข้อรูมาตอยด์ แต่อาการจะรุนแรงน้อยกว่า นอกจากนี้ข้อและเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ มักมีการอักเสบหรือบวม หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็จะมีการทำลายของข้อ และทำให้ข้อผิดรูปถาวรได้ ดังนั้นหากมีอาการปวดข้อ ก็ควรปรึกษาแพทย์ทันที
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดผื่นสะเก็ดเงิน
ผื่นสะเก็ดเงินสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ความเครียด สภาพอากาศที่หนาวเย็น การใช้ยาบางชนิด การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
พฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน
- ดื่มแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่
- เครียด และพักผ่อนไม่เพียงพอ
- มีผิวแห้งมาก และไม่บำรุงผิวให้มีความชุ่มชื้น
- อ้วน มีน้ำหนักเกิน และไม่ออกกำลังกาย
- รับประทานอาหารที่มีกรดยูริก มีไขมันสูง และเนื้อแดง
- มีอาการผิดปกติทางผิวหนัง แต่ไม่ยอมไปพบแพทย์ กลับไปใช้ยาอื่นๆ ทา ซึ่งไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น แต่อาจยิ่งทำให้อาการแย่ลงอีกด้วย
การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน
แพทย์จะวินิจฉัยโรคได้จากการตรวจรอยโรคที่ผิวหนังของผู้ป่วย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจเลือด หรือตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ แต่อาจจะมีกรณีพิเศษที่พบน้อยมากคือ รอยโรคจะมีลักษณะแตกต่างไปจากรอยโรคมาตรฐาน จึงอาจต้องทำการเก็บตัวอย่างผิวหนังไปตรวจทางพยาธิวิทยาอีกครั้ง
การรักษาโรคสะเก็ดเงิน
การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
- หากมีผื่นน้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย มักจะให้การรักษาโดยใช้ยาทาเป็นอันดับแรก
- หากมีผื่นมากกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยการให้ยารับประทานหรือฉายแสงอาทิตย์เทียม หรืออาจรักษาทั้งให้ยารับประทาน ฉายแสงอาทิตย์เทียม ร่วมกับการทายา
แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีการรักษาใดๆ ที่ทำให้โรคสะเก็ดเงินหายขาดได้ก็ตาม แต่หากผู้ป่วยดูแลแรักษาตนเองอย่างถูกต้อง และให้ความร่วมมือกับแพทย์ ก็จะทำให้สามารถควบคุมโรคให้สงบได้นาน อยู่ร่วมกับครอบครัวและสังคมได้อย่างเป็นปกติ