ฮอร์โมน คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายของมนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารและทำหน้าที่ร่วมกันกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยฮอร์โมนจะหลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อและซึมเข้าสู่เส้นเลือด จากนั้นจะอาศัยระบบการไหลเวียนของกระแสเลือด ส่งต่อไปยังเซลล์หรืออวัยวะต่างๆ เมื่อฮอร์โมนไปถึงอวัยวะที่เป็นเป้าหมาย ก็จะทำหน้าที่เพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
หน้าที่ของฮอร์โมนสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
- เร่งการเจริญเติบโต ตั้งแต่พัฒนาการเจริญเติบโตของเซลล์และเนื้อเยื่อ ไปจนถึงพัฒนาการทางเพศและการเจริญพันธุ์
- ช่วยควบคุมและรักษาสภาพแวดล้อมในร่างกายให้เป็นปกติ เช่น การใช้พลังงานของร่างกาย การเผาผลาญและดูดสารอาหาร รวมถึงการรักษาอุณหภูมิของร่างกาย
- ทำหน้าที่ควบคุมอาการกระหายน้ำ ควบคุมอารมณ์และความจำ และช่วยในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน
ที่มาของฮอร์โมนแต่ละชนิด
ตัวอย่างต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนสำคัญของร่างกาย ได้แก่
- ต่อมพิทูอิทารี (Pituitary gland) หรือต่อมใต้สมอง เป็นต่อมไร้ท่อที่มีความสำคัญที่สุด มีขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตาอยู่ตรงบริเวณใต้ฐานสมอง โดยฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมนี้จะทำหน้าที่เป็น Master Gland คือ เป็นตัวควบคุมต่อมไร้ท่ออื่น ๆ ให้ผลิตฮอร์โมนตามปกติ เช่น
- โกรทฮอร์โมน (Growth hormone: GH) มีผลต่อการสร้างและพัฒนาเซลล์
- โปรแลคติน (Prolactin) ช่วยกระตุ้นและสร้างน้ำนมของหญิงที่ให้นมบุตร รวมไปถึงการส่งผลต่อพฤติกรรม ภาวะการเจริญพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกันด้วย
- ฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน (Follicle Stimulating Hormone: FSH) ช่วยควบคุมการตกไข่ของรังไข่ในผู้หญิง และการผลิตอสุจิของอัณฑะในผู้ชาย
- ลูทิไนซิงฮอร์โมน (luteinizing hormone: LH) ควบคุมรอบประจำเดือนของผู้หญิงให้ปกติ และทำงานร่วมกับ FSH ในการผลิตอสุจิของผู้ชาย
- อัณฑะ (Testes) ถึงแม้ว่าอัณฑะจะผลิตฮอร์โมนหลายอย่าง แต่ที่รู้จักมากที่สุดคือ เทสโทสเทอโรน (testosterone) และเอสโทรเจน (estrogen)
- ต่อมไพเนียล (Pineal gland) อยู่ตรงบริเวณฐานกะโหลก ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน เมลาโทนิน (Melatonin) โดยฮอร์โมนชนิดนี้จะส่งผลต่อการนอนหลับ ซึ่งจะถูกกระตุ้นออกมาจากความมืด
- ตับอ่อน (Pancreas) ทำหน้าที่ผลิต อินซูลิน (Insulin) อะไมลิน (Amylin) และกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด
- รังไข่ (Ovaries) ผลิตเอสโทรเจน (Estrogen) ซึ่งช่วยควบคุมภาวะการเจริญพันธุ์ และควบคุมลักษณะต่าง ๆ ของเพศหญิง เช่น การมีเต้านม การสะสมของไขมัน นอกจากนี้ รังไข่ยังผลิตโพรเจสเทอโรน เพื่อควบคุมรอบเดือนให้เป็นปกติ รวมไปถึงควบคุมภาวะตั้งครรภ์
ความไม่สมดุลของฮอร์โมน
การขาดความสมดุลของฮอร์โมน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุ ความผิดปกติทางพันธุกรรม การสัมผัสสารพิษจากสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การรบกวนระบบวงจรปกติของร่างกาย (Circadian rhythm) ส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดในปริมาณที่ไม่เหมาะสม
การที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนได้มากหรือน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงตามมาได้ ในกรณีเช่นนี้ แพทย์อาจสั่งยาฮอร์โมน หรือยาชนิดอื่นๆ ให้รับประทาน เพื่อช่วยจัดการภาวะขาดสมดุลของฮอร์โมนเหล่านี้ และปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายให้เข้าสู่ภาวะปกติ
ตัวอย่างของการรักษาอาการเกี่ยวกับความไม่สมดุลของฮอร์โมน เช่น
- การให้ฮอร์โมนทดแทนกับสตรีวัยหมดประจำเดือน (Hormone Replacement Therapy: HRT)
- การรักษาภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) ด้วยยาไทรอยด์ต่างๆ
- การฉีดเทสโทสเทอโรนให้ผู้ชายที่มีความต้องการทางเพศน้อยกว่าปกติ หรือในผู้มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น กลุ่มอาการคลายน์เฟลเตอร์
- การให้เมลาโทนินเพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นในการเดินทางไปยังต่างประเทศที่มีเขตเวลาต่างกัน
- การรักษาภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (Hyperparathyroidism) ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะไตวาย