อาหารเด็กก่อนวัยเรียน (3-5 ปี)

หลักการจัดอาการให้เด็กก่อนวัยเรียน หรือวัย 3-5 ปี ให้ได้รับสารอาหารและคุณประโยชน์ครบครัน พร้อมตัวอย่างอาหารที่เหมาะสมใน 1 วัน
เผยแพร่ครั้งแรก 6 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 1 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
อาหารเด็กก่อนวัยเรียน (3-5 ปี)

เด็กก่อนวัยเรียน หรือ วัยอนุบาล (Preschool) เป็นช่วงวัยที่เด็กเริ่มจากครอบครัวไปสู่โรงเรียน มีพัฒนาการหลายด้านทั้งความคิด ภาษา การสื่อสาร โดยเฉพาะการเจริญเติบโตด้านร่างกาย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นปีละ 2-2.5 กิโลกรัม ส่วนสูงเพิ่มขึ้นปีละ 6-8 เซนติเมตร เด็กวัยนี้จึงดูผอมและสูงขึ้น ดังนั้นจึงควรได้รับสารอาหารในปริมาณที่เพียงพอทั้งชนิดและปริมาณ หากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจะส่งผลให้เจริญเติบโตช้า ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากได้รับพลังงานและสารอาหารมากเกินไป จะทำให้มีน้ำหนักเกิน

ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 (สุขภาพเด็ก) พบว่าเด็กไทยอายุ 1 - 5 ปี ยังคงเผชิญปัญหาภาวะทุพโภชนาการปานกลาง ทั้งภาวะเตี้ยและน้ำหนักน้อย ดังนั้นอาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อโครงสร้างร่างกาย สติปัญญา เพื่อให้เด็กวัยเรียนมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย มีภาวะโภชนาการที่ดีจึงจำเป็นต้องได้รับพลังงานและสารอาหารที่ครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย

ความต้องการพลังงานและสารอาหารของเด็กก่อนวัยเรียน

  1. พลังงาน ควรได้พลังงานวันละ 1,300 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งได้จากข้าว แป้ง ธัญพืชต่างๆ น้ำตาล และไขมัน
  2. โปรตีน ควรได้รับวันละ 18-22 กรัม หรือประมาณ 1.2-1.4 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว แหล่งของอาหารโปรตีน ได้แก่ ไข่ นม เนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา หมู ไก่ รวมถึงถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ นอกจากนี้ควรรับประทานไข่วันละ 1 ฟอง ดื่มนมรสจืดทุกวัน และรับประทานอาหารที่เสริมธาตุเหล็ก เช่น ตับ เลือด โดยจัดให้รับประทานสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันโลหิตจาง
  3. ไขมัน ควรได้รับวันละไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด หรือเทียบเท่าน้ำมันพืช 6-8 ช้อนชา/วัน เนื่องจากการได้รับไขมันมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดโรคอ้วนได้ ควรหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวต่างๆ เช่น ไขมันจากสัตว์ น้ำมันหมู กะทิ มาการีน เนย เป็นต้น

อาหารสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน (1,300 กิโลแคลอรี)

ข้าว-แป้ง 5 ทัพพี
ผัก 2-3 ทัพพี
ผลไม้ 5 ส่วน
เนื้อสัตว์ 4 ช้อนกินข้าว
นม 1 กล่อง (240 มิลลิลิตร)
น้ำมัน 6 ช้อนชา

ตัวอย่างรายการอาหารใน 1 วันของเด็กก่อนวัยเรียน (1,300 กิโลแคลอรี)

มื้อเช้า

ข้าวต้มไก่

  • ข้าวต้ม 1 ทัพพี
  • ไก่ฉีก 1 ช้อนกินข้าว
  • กระเทียมเจียว 1 ช้อนชา
  • ต้นหอม ผักชี

อาหารว่างเช้า

กล้วยน้ำว้า 1 ผล
นมสด 1 กล่อง (240 มิลลิลิตร)

มื้อกลางวัน

ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใส

  • ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ 9 ช้อนกินข้าว
  • ลูกชิ้น 3 ลูก
  • กระเทียมเจียว 2 ช้อนชา
  • ถั่วงอก ต้นหอม ผักชี

แอปเปิล 1 ผล

อาหารว่างบ่าย

ขนมปัง 1 แผ่น
น้ำส้มคั้น 1 แก้ว (ส้ม 2 ผล)

มื้อเย็น

ข้าวสวย 2 ทัพพี
แกงจืดผักกาดขาวเต้าหู้หมูสับ

  • เต้าหู้ไข่ ¼ หลอด
  • หมูสับ 1 ช้อนกินข้าว
  • ผักกาดขาว
  • กระเทียมเจียว 1 ช้อนชา

ฝรั่ง ½ ผลกลาง


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ศาสตราจารย์ นพ. วิชัย เอกพลากรและคณะ, รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 สุขภาพเด็ก, 2557.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, คู่มืออาหารตามวัย สำหรับทารกและเด็กเล็ก, 2552.
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กินตามวัยให้พอดี, มปป.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)