ภาวะซีด คือ ภาวะที่ผิวหนังมีสีซีดกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนลดลง หรือเกิดจากปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง ภาวะซีดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณทั่วร่างกาย แต่มักพบที่บริเวณแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง และอาจพบได้ที่เยื่อบุด้านในของเปลือกตาล่าง ฝ่ามือ เล็บมือ ลิ้น และเยื่อบุภายในช่องปากบ้างเป็นบางครั้ง
อาการที่สัมพันธ์กับภาวะซีด
ภาวะซีด เป็นอาการที่มักพบร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น โรคโลหิตจาง และการอุดตันของเส้นเลือดแดง ซึ่งก็จะมีความแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของโรค ดังนี้
- โลหิตจางเฉียบพลัน (Acute Onset Anemia) อาการของโลหิตจางเฉียบพลัน ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย ความดันโลหิตต่ำ และหมดสติ
- โลหิตจางเรื้อรัง (Chronic Anemia) พบได้มากในผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามาก และผู้ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีอาการซีด อ่อนเพลีย หรือขี้หนาว
- การอุดตันของเส้นเลือดแดง หรือการไหลเวียนเลือดที่ไม่ดี จะทำให้เกิดอาการซีดเฉพาะที่ มักเกิดขึ้นที่แขนหรือขา และจะมีอาการปวดหรือเย็นเนื่องจากเลือดไหลเวียนน้อยกว่าปกติ
สาเหตุของอาการภาวะซีด
ภาวะซีด มักเกิดจากภาวะโลหิตจาง (Anemia) หรือสภาวะที่ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- โลหิตจางเฉียบพลัน : เกิดจากการเสียเลือดอย่างรวดเร็ว เช่น อุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือมีเลือดออกภายในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะอาหารหรือลำไส้
- โลหิตจางเรื้อรัง เกิดจากการขาดสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 โฟเลท หรืออาจเกิดจากพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease) และธาลัสซีเมีย (Thalassemia) บางครั้งอาจพบว่าเกิดจากโรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney failure) โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ (Hypothyroidism) หรือโรคมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย
นอกจากภาวะโลหิตจางแล้ว อาจพบภาวะซีดได้จากสาเหตุต่อไปนี้
- ขาดการสัมผัสกับแสงแดด
- ผิวหนังมีสีซีดตามธรรมชาติ
- การสัมผัสความเย็นและเนื้อเยื่อถูกทำลายเพราะความเย็นจัด (Frostbite)
- ภาวะช็อก (ความดันโลหิตลดต่ำลงในระดับอันตราย)
- การอุดตันของเส้นเลือดแดงบริเวณแขนหรือขา
เมื่อไรที่ต้องพบไปพบแพทย์
หากพบว่ามีภาวะซีดทั่วร่างกาย ร่วมกับอาการหน้ามืด เป็นลม มีไข้ อาเจียนเป็นเลือด มีเลือดออกทางทวารหนัก ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของภาวะทางการแพทย์ที่ร้ายแรง แต่ถ้าพบภาวะซีด ร่วมกับอาการหายใจหอบเหนื่อย ปวดและเย็นที่แขนหรือขา หรือเจ็บหน้าอกร่วมกับอาการตัวซีดเฉียบพลัน ให้รีบไปพบแพทย์ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลทันที
การวินิจฉัยภาวะซีด
แพทย์จะซักประวัติอาการร่วมกับข้อมูลประวัติทางการแพทย์ พร้อมกับตรวจร่างกาย วัดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ตามปกติแล้วภาวะซีดสามารถวินิจฉัยได้ง่ายจากการสังเกตผิว แต่หากผู้ป่วยมีผิวคล้ำ แพทย์จะตรวจที่เปลือกตาด้านในและที่เยื่อบุเพื่อดูว่ามีภาวะซีดเกิดขึ้นหรือไม่
แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยภาวะซีดให้แม่นยำมากขึ้น ดังนี้
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count (CBC)) เป็นการตรวจเลือดเพื่อประเมินว่ามีภาวะโลหิตจางหรือมีการติดเชื้อหรือไม่
- การนับเซลล์เม็ดเลือดแดงตัวอ่อน (Reticulocyte Count) เป็นการตรวจเลือดเพื่อประเมินการทำงานของไขกระดูก
- การตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจดูว่ามีเลือดในอุจจาระหรือไม่ ซึ่งอาจบ่งบอกถึงการมีเลือดออกภายในลำไส้
- การตรวจการตั้งครรภ์ (Serum Pregnancy Test) การตั้งครรภ์อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
- การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Function Test) เป็นการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติจะทำให้เกิดโลหิตจาง
- การตรวจการทำงานของไต (Kidney Function Test) เพราะภาวะไตวายอาจทำให้เกิดโลหิตจาง แพทย์อาจให้ตรวจค่า BUN หรือ Creatinine ในเลือด เพื่อดูว่าไตทำงานเป็นปกติหรือไม่
- การตรวจการขาดวิตามิน แพทย์อาจให้ตรวจหาปริมาณธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และระดับของโฟเลทในร่างกาย เพื่อดูว่ามีการขาดสารอาหารดังกล่าวซึ่งเป็นสาเหตุของโลหิตจางหรือไม่
- การเอกซเรย์ช่องท้อง (Abdominal X-Ray) เป็นการตรวจโดยใช้การเอกซเรย์ดูอวัยวะภายในช่องท้อง
- การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง (Abdominal Ultrasound) เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงในการตรวจหาความผิดปกติในร่างกาย
- การตรวจซีทีสแกนช่องท้อง (Abdominal CT Scan) เป็นการตรวจโดยใช้รังสีเอกซ์สร้างภาพที่มีความละเอียดของอวัยวะและเส้นเลือดภายในช่องท้อง
- การบันทึกภาพรังสีหลอดเลือดแดงที่บริเวณแขนหรือขา (Extremity Arteriography) เป็นการเอกซเรย์ร่วมกับการฉีดสีเข้าไปที่เส้นเลือดแดงบริเวณแขนหรือขา เพื่อตรวจดูว่ามีการอุดตันของเส้นเลือดหรือไม่
การรักษาอาการตัวซีด
การรักษาภาวะซีดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ซึ่งมีทางเลือกในการรักษาดังนี้
- รับประทานอาหารให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ได้สารอาหารเพียงพอ
- การรับประทานธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 หรือโฟเลทเสริม
- การใช้ยา หรือเข้ารับการรักษาเพื่อควบคุมอาการของโรคที่เป็นอยู่
- การผ่าตัด มักทำเฉพาะในกรณีที่มีการเสียเลือดเฉียบพลันอย่างรุนแรง หรือใช้สำหรับรักษาการอุดตันของเส้นเลือดแดง
ที่มาของข้อมูล
Verneda Lights, Paleness (https://www.healthline.com/health/paleness), March 30, 2018.