กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media / Middle Ear Infection)

อาการของภาวะหูชั้นกลางอักเสบหรือ “หูน้ำหนวก” โรคแทรกซ้อน สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเกิดภาวะนี้ รวมถึงวิธีป้องกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 14 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media / Middle Ear Infection)

ภาวะหูชั้นกลางอักเสบ หรือ “หูน้ำหนวก (Otitis media)” คือภาวะติดเชื้อที่หูชั้นกลางซึ่งทำให้เกิดการบวมแดง และมีของเหลวสะสมข้างหลังแก้วหู ใครก็สามารถเป็นภาวะนี้ได้ โดยที่พบบ่อยที่สุดเป็นทารกอายุ 6-15 เดือน

อาการและสัญญาณของภาวะหูชั้นกลางอักเสบ

ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะหูชั้นกลางอักเสบจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และใช้เวลาไม่กี่วันก็หาย (เรียกว่าภาวะหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน) อาการหลักๆ ได้แก่ ปวดหู มีไข้สูง อาเจียน หมดเรี่ยวแรง หรือหากหูชั้นกลางมีของเหลวมาก ผู้ป่วยอาจสูญเสียการได้ยินเล็กน้อย ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะมีน้ำข้นในหูชั้นกลาง (Glue Ear)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ในบางกรณีอาจเกิดแก้วหูทะลุ (Perforated Eardrum) และอาจทำให้มีหนองไหลออกจากหู ซึ่งจะทำให้อาการปวดจากของเหลวสะสมจนแก้วหูยืดออกหายไป

สำหรับทารกซึ่งไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองได้ ผู้ใหญ่ควรสังเกตสัญญาณต่อไปนี้

  • ดึงหรือขยี้หูตนเอง
  • ฉุนเฉียว
  • เบื่ออาหาร
  • มีอาการกระสับกระส่ายในเวลากลางคืน
  • ไอหรือน้ำมูกไหล
  • ท้องร่วง
  • ไม่ตอบสนองต่อเสียงเบา หรือมีสัญญาณว่าการได้ยินไม่ค่อยดี เช่น ไม่เอาใจใส่
  • ทรงตัวไม่อยู่

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะหูชั้นกลางอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะหูชั้นกลางอักเสบจัดว่าค่อนข้างหายาก แต่หากเกิดแล้วมักจะมีความรุนแรง ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่

  • โพรงกระดูกมาสตอยด์อักเสบ (Mastoiditis) หรือการติดเชื้อลุกลามออกจากหูชั้นกลางเข้าไปยังโพรงกระดูกที่อยู่ใต้หู (มาสตอยด์) ทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
    • มีไข้สูง
    • หลังหูบวม
    • หลังหูแดง เมื่อกดแล้วรู้สึกเจ็บ
    • มีของเสียลักษณะข้นไหลออกจากหู
    • ปวดศีรษะ
    • การได้ยินลดลง

โดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะโพรงจมูกมาสตอยด์อักเสบมักต้องทำการรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะผ่านเส้นเลือด (Intravenously) หรือในบางกรณีอาจต้องมีการผ่าตัดดูดของเสียอกจากหูและโพรงกระดูกที่ติดเชื้อ

  • เกิดภาวะคอเลสทีอะโทมา (Cholesteatoma) หรือมีก้อนผิวหนังงอกเข้าไปอัดแน่นอยู่ภายในหูชั้นกลางและ/หรือในโพรงกระดูกมาสตอยด์
    หากไม่ทำการรักษา คอเลสทีอะโทมาจะสร้างความเสียหายแก่โครงสร้างบอบบางภายในหู เช่นกระดูกขนาดเล็กที่จำเป็นต่อการฟัง อาการของคอเลสทีอะโทมา ได้แก่ ภาวะการได้ยินลดลง ใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก วิงเวียน หูอื้อ ได้ยินเสียงในหู โดยส่วนใหญ่แล้วจะรักษาด้วยการผ่าตัดกำจัดก้อนผิวหนังดังกล่าวออก
  • หูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในหูชั้นกลางลุกลาม อาการของหูชั้นในอักเสบ ได้แก่ วิงเวียน เวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo) สูญเสียการทรงตัว สูญเสียการได้ยิน อย่างไรก็ตาม ภาวะหูชั้นในอักเสบมักจะหายได้เองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ และสามารถใช้ยาบรรเทาอาการได้
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ภาวะนี้นับว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ไม่บ่อยและมีความร้ายแรงอย่างมาก จะเกิดขึ้นเมื่อการติดเชื้อลุกลามเข้าไปยังเยื่อหุ้มชั้นนอกของสมองและไขสันหลัง หากคุณคาดว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ให้รีบขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลทันที การรักษามักใช้วิธีให้ยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือด

    อาการของภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีดังนี้
    • ปวดศีรษะรุนแรง
    • อาเจียน
    • มีไข้สูง
    • คอแข็ง
    • อ่อนไหวต่อแสง
    • หายใจถี่
    • เกิดผื่นตุ่มแดงที่ไม่หาย หรือเปลี่ยนสีเมื่อถูกกดทับ (ไม่จำเป็นต้องมีอาการเช่นนี้ทุกครั้ง)
  • เกิดภาวะฝีในสมอง (Brain Abscess) เป็นอีกภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ไม่บ่อย แต่ร้ายแรง หากคุณคาดว่าตนเองหรือคนใกล้เคียงมีภาวะฝีในสมอง ให้รีบขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลทันที ภาวะฝีในสมองมักจะรักษาได้ด้วยการผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยศัลยแพทย์จะทำการผ่าเปิดกะโหลกและดูดหนองออกจากฝีหรือทำการผ่าฝีออกทั้งหมด

    อาการของภาวะฝีในสมอง มีดังนี้
    • ปวดศีรษะรุนแรง
    • เกิดอาการทางจิต เช่น สับสน
    • ร่างกายซีกหนึ่งอ่อนแรงหรืออัมพาต
    • มีไข้สูง
    • เกิดอาการชัก
  • ใบหน้าเป็นอัมพาต (Facial Paralysis) เนื่องจากภาวะหูชั้นกลางอักเสบก่อให้เกิดการบวม จนกดทับเส้นประสาทบนใบหน้า การกดทับของเส้นประสาทนี้ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวใบหน้าบางส่วนหรือทั้งหมดได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก และถึงเกิดแล้วก็สามารถรักษาให้หายขาดเมื่อเชื้อต้นเหตุได้รับการรักษา

สาเหตุของภาวะหูชั้นกลางอักเสบ

ภาวะหูชั้นกลางอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น หวัด ทำให้มีเมือกสะสมในหูชั้นกลางและทำให้ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ซึ่งเป็นท่อเรียวๆ ที่พาดผ่านจากหูชั้นกลางไปยังหลังจมูกเกิดการบวมหรืออุดตันขึ้น ภาวะดังกล่าวทำให้น้ำมูกไม่สามารถระบายออกได้ตามปกติ ทำให้เชื้อโรคแพร่เข้าสู่หูชั้นกลางได้ง่ายขึ้น

การโตขึ้นของต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มที่อยู่หลังคอ ก็สามารถทำให้ท่อยูสเตเชียนอุดตันได้เช่นกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ส่วนภาวะหูชั้นกลางอักเสบในเด็ก เกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุต่อไปนี้

  • ท่อยูสเตเชียนของเด็กมีขนาดเล็กกว่าผู้ใหญ่
  • ต่อมอะดีนอยด์ของเด็กมีขนาดใหญ่กว่าของผู้ใหญ่ค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ยังมีภาวะบางอย่างที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในหูชั้นกลางได้ เช่น

  • ภาวะเพดานปากโหว่ (Cleft Palate) : ภาวะเพดานปากแยกออก ซึ่งเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด
  • ภาวะดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) : ภาวะทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้การเรียนรู้และลักษณะทางร่างกายบางอย่างบกพร่อง

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

ภาวะหูชั้นกลางอักเสบมักหายได้เองภายในไม่กี่วัน ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้

  • ผ่านไป 2-3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
  • ความเจ็บปวดรุนแรงกว่าเดิม
  • มีหนองหรือของเหลวออกจากหู โดยอาจมีหรือไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วยก็ได้
  • มีภาวะสุขภาพอื่นๆ อยู่ก่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น เช่น โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) หรือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)

วิธีการวินิจฉัยภาวะหูชั้นกลางอักเสบ

ภาวะหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media) สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “โอโตสโคป (Otoscope)” เป็นอุปกรณ์พกพาขนาดเล็กที่มีแว่นขยายและไฟฉายติดอยู่ที่ปลาย แพทย์จะใช้เครื่องมือนี้ตรวจสอบภายในหู เพื่อมองหาสัญญาณว่ามีของเหลวในหูชั้นกลาง อันอาจบ่งชี้ถึงการติดเชื้อ สัญญาณที่ว่านั้นได้แก่

  • แก้วหูบวมออก
  • แก้วหูมีสีแดงหรือเหลืองผิดปกติ
  • แก้วหูขุ่นมัว
  • แก้วหูแตก
  • มีของเหลวในช่องหู หรือท่อระหว่างหูชั้นนอกกับแก้วหู

หากการรักษาไม่ได้ผลหรือมีภาวะแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้น อาจมีการให้แพทย์เฉพาะทางทำการตรวจสอบเพิ่ม ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การทดสอบการทำงานของหูชั้นกลาง (Tympanometry) : การทดสอบเพื่อประเมินว่าแก้วหูตอบสนองอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงของแรงดันอากาศ ระหว่างการทดสอบจะมีการสอดแท่งเข้าไปในหูของเด็ก แท่งนี้จะเปลี่ยนแรงดันอากาศพร้อมส่งเสียงเข้าไปในหู แก้วหูที่มีสุขภาพดีจะต้องขยับได้ง่ายเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของแรงดันอากาศ แต่หากแก้วหูมีการขยับช้าหรือไม่ขยับเลย จะบ่งชี้ว่ามีของเหลวอยู่หลังแก้วหู
  • การตรวจวัดระดับการได้ยิน (Audiometry) : การทดสอบด้วยการใช้เครื่องวัดสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometer) ปล่อยเสียงในระดับความดังและความถี่ต่างๆ เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีภาวะสูญเสียการได้ยินหรือไม่ ระหว่างการทดสอบ ผู้ป่วยจะได้ฟังเสียงผ่านหูฟังแล้วตอบแพทย์ว่าได้ยินเสียงหรือไม่
  • การสแกน มักใช้กับกรณีที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการติดเชื้อออกจากหูชั้นกลางไปยังพื้นที่โดยรอบ โดยการสแกนอาจเป็นแบบ CT Scan หรือ MRI Scan

การรักษาภาวะหูชั้นกลางอักเสบ

ส่วนมากแล้ว ภาวะหูชั้นกลางอักเสบจะหายไปเองภายใน 3-5 วัน ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใดๆ แต่หากมีอาการเจ็บปวดและไข้ขึ้นสูง ก็สามารถใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ในผู้ป่วยเด็กก็สามารถใช้ยาแก้ปวดได้เช่นกัน แต่ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ายานั้นๆ เหมาะกับช่วงอายุของเด็ก โดยศึกษาจากฉลากยาหรือปรึกษาเภสัชกร

วิธีการรักษาภาวะหูชั้นกลางอักเสบอื่นๆ ได้แก่

  • ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดหยอดหู : มักใช้กับผู้ใหญ่และเด็กที่มีภาวะหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง (Chronic Suppurative Otitis Media)
  • สอดท่อกรอมเมต (Grommet) เข้าไปยังแก้วหูเพื่อดูดของเหลวออก : มักใช้กับผู้ป่วยเด็ก ซึ่งวิธีนี้จะใช้เวลาเพียง 15 นาที เมื่อเสร็จสิ้นแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย ตัวท่อจะช่วยให้แก้วหูโล่งเป็นเวลานานหลายเดือน และเมื่อแก้วหูเริ่มสมานตัว ท่อก็จะถูกดันออกจากแก้วหูช้าๆ จนหลุดออกมาเองในที่สุด บางกรณีอาจต้องมีการเปลี่ยนท่อ หากของเหลวยังไม่หมดไปจากแก้วหู

การป้องกันภาวะหูชั้นกลางอักเสบ

ภาวะหูชั้นกลางอักเสบไม่อาจป้องกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะในเด็ก ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • ดูแลให้เด็กได้รับวัคซีนตามกำหนด โดยเฉพาะวัคซีนปอดอักเสบ (Pneumococcal Vaccine) กับ DTaP/IPV/Hib (5-in-1) วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยควัน โดยเฉพาะควันบุหรี่
  • ไม่ให้เด็กดูดนมจากขวดในขณะที่เด็กกำลังนอนหงาย
  • หากเป็นไปได้ ให้เด็กทารกดื่มนมมารดาแทนการดื่มนมผง อย่างน้อยในช่วง 6 เดือนแรก เนื่องจากนมแม่มีภูมิคุ้มกันสูง
  • เลี่ยงการสัมผัสกับเด็กอื่นที่ไม่สบาย เพื่อลดโอกาสที่จะติดเชื้อ

2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Ear Infection (Middle Ear) (https://www.mayoclinic.org/dis...)
Ear Infections: Diagnosis and Treatment (https://www.webmd.com/cold-and...)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)