กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ. วรวัฒน์ เอียวสินพานิช แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ. วรวัฒน์ เอียวสินพานิช แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู

ออฟฟิศซินโดรม หายแน่ ถ้าแก้ที่ต้นเหตุ

ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตยุคดิจิทัล กับการรักษาด้วยตนเอง และการรักษาทางการแพทย์
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 26 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ออฟฟิศซินโดรม หายแน่ ถ้าแก้ที่ต้นเหตุ

ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) อาการยอดฮิตของมนุษย์ออฟฟิศที่นับวันก็ยิ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกที ด้วยพฤติกรรมการทำงานหนัก การนั่งทำงานนานๆ ประกอบกับท่าทางการนั่งและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม แถมหลายๆ คนไม่ชอบออกกำลังกาย เมื่อนานเข้าจึงสะสมจนกลายเป็นอาการปวดและชา โดยอาการปวดที่พบบ่อยก็คือ ปวดหัว ปวดตา ปวดเกร็งตามไหล่ หลัง คอ หรือข้อมือ ที่จะรบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

อาการออฟฟิศซินโดรมส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ เอ็น และเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งหากปล่อยไว้ อาจยิ่งเรื้อรังและทวีความรุนแรงจนส่งผลเสียต่อสุขภาพและการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ วิธีรักษาออฟฟิศซินโดรมที่ถูกต้องควรทำอย่างไรกันแน่? วันนี้ “คุณหมอวรวัฒน์ เอียวสินพานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู” จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาและรับมือกับโรคนี้กัน 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
กายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรม วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 581 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

“หลายคนชะล่าใจว่าอาการออฟฟิศซินโดรมนั้นไม่ร้ายแรง และไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือท่าทางในการทำงานให้เหมาะสม แต่ไปเลือกวิธีที่คิดว่าง่ายและสะดวกรวดเร็วอย่างการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบ หรือการนวดผ่อนคลาย ซึ่งก็ช่วยได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น หากไม่แก้ที่ต้นเหตุ ไม่นานก็จะกลับไปมีอาการดังเดิม”

    วรวัฒน์ เอียวสินพานิช 
    แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู

เคล็ดลับการปรับพฤติกรรมให้ห่างไกล “ออฟฟิศซินโดรม”

คุณหมอวรวัฒน์ แนะนำว่า วิธีการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมที่ทำได้ด้วยตนเองและควรทำเป็นอันดับแรกก็คือการปรับพฤติกรรม รวมทั้งการหมั่นทำท่าบริหารเพื่อยืดคลายกล้ามเนื้อที่เกร็ง และออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและเพิ่มความทนทานให้กล้ามเนื้อไม่บาดเจ็บง่ายก็ได้ โดยเฉพาะการเล่นโยคะและทำพิลาทิส ซึ่งเป็นการออกกำลังที่จะช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวได้เป็นอย่างดี 

ผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรมมากกว่า 90% มีอาการไม่รุนแรง และสามารถบรรเทาอาการจนกลับมารู้สึกเป็นปกติได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม สะอาด และมีอากาศถ่ายเท เพื่อให้หายใจได้สะดวก
  • เลือกเก้าอี้ที่เหมาะกับสรีระ ปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้สามารถนั่งทำงานในท่าที่สบาย คือให้เท้าจรดพื้น และเข่าตั้งฉากอยู่ในระดับเดียวกับสะโพก 
  • หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 30 นาที หรือลุกไปยืดเส้นยืดสาย สูดอากาศภายนอกเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดความตึงเครียด
  • นั่งเก้าอี้ให้เต็มก้น หลังตรงแนบกับพนักพิง ไม่โน้มตัวเข้าหาหน้าจอ และคอยระวังให้ไหล่อยู่ในท่าทางธรรมชาติ ไม่นั่งห่อไหล
  • หากที่นั่งเก้าอี้ลึกเกินไป ควรหาหมอนมาหนุนหลัง เพื่อให้นั่งสบายและหลังตรง
  • ปรับหน้าจอให้ตรงหน้าพอดี และอยู่ในระดับสายตาหรือต่ำกว่าสายตาเล็กน้อย (20°) โดยที่ไม่ต้องก้มหรือแหงนคอมากเกินไป และกะระยะห่างจากหน้าจอประมาณหนึ่งช่วงแขน 
  • แป้นคีย์บอร์ดควรอยู่ในระดับเดียวกับข้อศอก และใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน
  • กระพริบตาบ่อยๆ และพักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 20 นาที
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามผ่อนคลายจากความเครียด อย่าหักโหมกับงานมากเกินไป เพราะความเครียดจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวและเกิดความเมื่อยล้าได้ง่าย
  • ออกกำลังเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานต่อท่าทางที่ทำให้เกิดการเกร็ง ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อต่างๆ นอกจากนี้ยังดีต่อสุขภาพจิตในด้านผ่อนคลายความเครียดอีกด้วย

รักษาด้วยตัวเองไม่หาย ต้องทำอย่างไร?

สำหรับคนที่ทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงที่บ่งบอกว่าเกิดการกดทับของเส้นประสาทดังต่อไปนี้ แนะนำให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

  • มือไม้อ่อนแรง หยิบจับของได้ยาก มือชาตลอดเวลา
  • ขาทั้งสองข้างอ่อนแรง ก้าวเท้าลำบากขึ้น
  • รู้สึกปวดแม้กระทั่งตอนนอน
  • มีอาการทางระบบขับถ่าย เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะขัด เป็นต้น

การรักษาในเบื้องต้นนั้นมักจะมีการจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการปวดเกร็งและอักเสบของกล้ามเนื้อ ร่วมกับการรักษาฟื้นฟูอื่นๆ เช่น การให้ทำกายภาพบำบัด การรักษาแบบใช้นวัตกรรม และการรักษาทางเลือก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ว่าผู้ป่วยเหมาะสมกับการรักษาแบบใดที่สุด โดยอาจเลือกใช้การรักษาร่วมกันมากกว่า 1 วิธี

การทำกายภาพบำบัด

  • การซักประวัติและแนะนำวิธีปรับพฤติกรรม นักกายภาพจะซักประวัติและให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนท่าทางการนั่ง การนอน และการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงสอนวิธียืดกล้ามเนื้อและวิธีออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยให้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และป้องกันการเกิดซ้ำของออฟฟิศซินโดรม
  • การใช้เครื่องอัลตราซาวด์ส่องหาตำแหน่งที่บาดเจ็บ จะช่วยให้ทราบตำแหน่งการรักษาที่แม่นยำยิ่งขึ้น จากนั้นอาจมีการฉีดยาบริเวณดังกล่าวเพื่อบรรเทาอาการ
  • การใช้เครื่องอัลตราซาวด์ให้ความร้อน เป็นเครื่องมือที่นักกายภาพนิยมใช้กันเป็นอันดับแรกๆ ใช้สำหรับช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ 
  • การใช้เครื่องดึงคอ เพื่อช่วยยืดกล้ามเนื้อและข้อต่อ โดยเครื่องนี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการหมอนรองกระดูกคอเสื่อม และหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้เช่นกัน 
  • การใช้แผ่นร้อน มักใช้ควบคู่กับวิธีอื่น ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ในระดับหนึ่ง แต่ผลจะอยู่ไม่นาน หากนำแผ่นร้อนออกก็จะกลับมาปวดเหมือนเดิมภายในไม่กี่ชั่วโมง 
  • การวิเคราะห์สรีระร่างกาย เป็นการประเมินโครงสร้างทั้งด้านหน้าและด้านข้างของร่างกายว่ามีส่วนไหนไม่สมดุลหรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ และต้องเป็นนักกายภาพที่มีฝีมือ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื้อรัง

การรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์

  • การใช้เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation: TMS) ช่วยรักษาอาการอ่อนแรงหรือเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ระหว่างที่ทำจะเกิดการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณที่กระตุ้น
  • การรักษาด้วยเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser Therapy: HPLT) ช่วยลดอาการปวด บวม และอักเสบของกล้ามเนื้อ และเร่งให้เซลล์ในร่างกายที่บาดเจ็บฟื้นตัวเร็วขึ้น นอกจากนี้ความร้อนจากเลเซอร์ยังช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น
  • การใช้คลื่นกระแทก (Focus Shock Wave Therapy: FSWT) ช่วยลดอาการปวดและอักเสบเรื้อรังของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ และกระตุ้นกระบวนการซ่อมแซมของกล้ามเนื้อให้เร็วขึ้น

การรักษาทางเลือก

  • การฝังเข็มแบบจีน เป็นการฝังเข็มตามหลักการแพทย์แผนจีน โดยยึดตำแหน่งตามจุดลมปราณ
  • การฝังเข็มแผนตะวันตก/การฝังเข็มสลายปวด (Dry Needling) แพทย์จะคลำหาจุดเจ็บของผู้ป่วย ซึ่งเมื่อสัมผัสดูจะมีลักษณะเป็นก้อน เนื่องจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวอยู่ จากนั้นใช้เข็มจิ้มลงไปบริเวณนั้นๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง 
  • การครอบแก้วเป็นอีกหนึ่งศาสตร์แพทย์แผนจีน โดยนำแก้วหรือถ้วยซิลิโคนมาไล่อากาศออกด้วยความร้อน จากนั้นนำมาวางครอบบนผิวหนัง เน้นบริเวณเส้นลมปราณ แก้วจะดูดกล้ามเนื้อจนมีเลือดมาคั่ง และทำให้ผิวหนังมีสีแดงหรือม่วงคล้ำขึ้น เชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ลดการคั่งของของเสีย และลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณที่ครอบแก้วได้

การรักษาหรือการทำกายภาพดังที่กล่าวมาข้างต้นอาจต้องใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที โดยมักทำทุกๆ 2-3 วัน หรือ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะเริ่มเห็นผล หากยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนวิธี เพราะนั่นแสดงว่าวิธีที่ใช้อาจยังไม่เหมาะกับผู้ป่วย ไม่ตรงจุด หรือมีความรุนแรงมากจนต้องใช้วิธีอื่นนั่นเอง

การรักษาในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด หรือการฝังเข็ม ล้วนเป็นการบรรเทาอาการปวด สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยจะต้องเรียนรู้การปรับพฤติกรรมและปรับท่าทางร่างกาย รวมทั้งออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแนวกลาง (Core stabilize muscles) เพื่อป้องกันการกลับมามีอาการซ้ำ

ไม่ใช่แค่มนุษย์ออฟฟิศเท่านั้นที่ต้องระวังโรคออฟฟิศซินโดรม เพราะโรคนี้ยังเกิดขึ้นได้กับกลุ่มคนทำงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนเดิมซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์เป็นประจำ ซึ่งมักจะเผลอก้มหน้า ห่อไหล่ เกร็งข้อมือ หรือทำท่าทางที่ไม่เหมาะสมโดยไม่รู้ตัว รวมไปถึงคนอายุมากที่กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อต่างๆ เริ่มเสื่อมไปตามกาลเวลา 

ดังนั้นหากสังเกตถึงอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือเริ่มรู้สึกไม่สบาย ให้รีบเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและปรับท่าทางให้เหมาะสม หมั่นยืดกล้ามเนื้อ และลดพฤติกรรมออนไลน์ลงบ้าง เท่านี้ก็ไม่ต้องเสียสุขภาพ ทั้งยังช่วยประหยัดเงินและประหยัดเวลาในการไปหาหมออีกด้วย


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
นวดออฟฟิศซินโดรม คืออะไร? ทำอย่างไร?, (https://hdmall.co.th/c/massage-for-office-syndrome).
Prawpan Suriwong, สัญญาณเสี่ยงโรคออฟฟิศซินโดรม (https://www.thaihealth.or.th/C...), 05 กุมภาพันธ์ 2558 คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, Office syndrome ออฟฟิศซินโดรม, (https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/hph/admin/news_files/704_49_1.pdf)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
วิธีหาอุปกรณ์คลุมศีรษะโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายระหว่างการทำเคมีบำบัด
วิธีหาอุปกรณ์คลุมศีรษะโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายระหว่างการทำเคมีบำบัด

วิกผม หมวกมีปีก หมวกไหมพรม และผ้าพันคอที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อ่านเพิ่ม
ของขวัญที่สมบูรณ์แบบสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง
ของขวัญที่สมบูรณ์แบบสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

เมื่อเสื้อสเวตเตอร์สำหรับช่วงวันหยุดแค่นั้นไม่เพียงพอ

อ่านเพิ่ม