ดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากดวงตาของเราสูญเสียการมองเห็นไป ก็ย่อมหมายถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จนอาจเรียกได้ว่าแย่ยิ่งกว่าการสูญเสียอวัยวะส่วนอื่นๆ เสียด้วยซ้ำ และโรคม่านตาอักเสบก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่เป็นภัยร้ายซึ่งอาจก่อให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นได้ จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวไม่ต่างจากโรคร้ายอย่างอื่นเลยทีเดียว
โรคม่านตาอักเสบคืออะไร
โรคม่านตาอักเสบ (Uveitis) เป็นอาการอักเสบของเนื้อเยื่อส่วนกลาง (Uvea) ภายในลูกตา โดยเนื้อเยื่อส่วนนี้ประกอบไปด้วยเส้นเลือดหล่อเลี้ยงมากมาย ดังนั้น เมื่อเกิดการอักเสบขึ้น อาการจะส่งผลต่อการมองเห็นของผู้ป่วยและต้องเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงทีด้วย เพราะเป็นโรคม่านตาอักเสบเป็นโรคอันตรายที่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ และหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่ตรงสาเหตุ อีกทั้งถ้าได้รับการรักษาช้าเกินไป ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ลักษณะและอาการของโรคม่านตาอักเสบ
ผู้ป่วยโรคม่านตาอักเสบจะมีอาการตามัวหรือตาแดงที่บริเวณใกล้กระจกตาดำ และจะรู้สึกปวดตามาก โดยเฉพาะขณะอยู่ในที่กลางแจ้งหรือมีแสงสว่างจัดๆ นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะรู้สึกระคายเคืองตา น้ำตาไหล มองสู้แสงสว่างไม่ได้ หรือเห็นจุดลอยไปมา ซึ่งกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงจะเกิดโรคม่านตาอักเสบได้มากที่สุดคือ กลุ่มคนวัยทำงานที่อายุเฉลี่ยประมาณ 20-59 ปี ส่วนการอักเสบจะแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบดังนี้
- การอักเสบในแต่ละส่วน หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็น "การอักเสบตามกายวิภาค" คือ มีการอักเสบบริเวณส่วนหน้า ส่วนกลาง ส่วนหลัง และทั้งหมดของดวงตา
- การอักเสบแบบตามสาเหตุของการติดเชื้อ
- ติดเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อพยาธิ เชื้อโปรโตซัส เชื้อวัณโรค เชื้อรา
- โรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคสมองอักเสบ โรคไซนัส โรควัณโรค โรคซิฟิลิส โรคเริม โรคงูสวัด โรคมะเร็ง และโรคเรื้อน เป็นต้น
- เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงจนเกิดการกระทบกระเทือนถึงดวงตา
- โรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคลูปัส และเรียกอีกชื่อได้ว่า "โรคเอสแอลอี" (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) รวมทั้งโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคสะเก็ดเงินด้วย
- การอักเสบแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบแบบนี้จะมีโอกาสตาบอดสูงมาก โดยเฉพาะในกรณีที่มีการอักเสบของจอประสาทตา เพราะจะทำให้เกิดภาวะลูกตาขาดเลือดไปเลี้ยงแบบฉับพลัน
- การอักเสบแบบเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการม่านตาอักเสบแบบส่วนหน้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับยีนเอชแอลเอ บี 27 (Human Leukocyte Antigen: HLA) ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคเกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้งต่อปี
- การอักเสบแบบยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้
การรักษาม่านตาอักเสบ
อย่างแรก แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติแบบละเอียด มีการตรวจร่างกาย ตรวจตา พร้อมกับทดสอบทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย เมื่อพบสาเหตุของการติดเชื้อที่ทำให้เกิดอาการม่านตาอักเสบแล้ว ก็จะทำการรักษาตามต้นเหตุต่อไป โดยวิธีการรักษาสามารถจำแนกได้ดังนี้
- รักษาโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการม่านตาอักเสบ ควบคู่ไปกับรักษาอาการม่านตาอักเสบด้วย
- หากอาการม่านตาอักเสบเป็นแบบชนิดไม่มีการติดเชื้อ แพทย์จะให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) ที่มีทั้งแบบยารับประทาน ยาฉีด และยาหยอดตา
- หากอาการม่านตาอักเสบเป็นแบบชนิดติดเชื้อ จะรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อทั้งแบบยารับประทาน หรือยาฉีด
- หากอาการม่านตาอักเสบเป็นแบบชนิดเรื้อรังแบบส่วนหน้า แพทย์จะให้ยาแบบป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดอาการซ้ำด้วย
สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคม่านตาอักเสบแบบเรื้อรัง เมื่อทำการรักษาแล้วอาการก็จะหายไปเองในไม่กี่วันถึงไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็ยังมีโอาสที่อาการจะกลับมาเป็นใหม่ซ้ำได้อีกครั้ง ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบแบบเรื้อรังนั้น อาจต้องใช้เวลาในการรักษาและอยู่กับอาการแบบเป็นๆ หายๆ นานหลายเดือนจนถึงหลายปี
วิธีการดูแลตนเองเมื่อมีอาการม่านตาอักเสบ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอให้เหมาะสมกับวัย
- ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ หากมีการนัดตรวจกับแพทย์ ก็ควรไปเข้ารับการตรวจอย่างเคร่งครัด
- รักษาความสะอาดของใบหน้า รวมทั้งสุขอนามัยส่วนตัวให้ดี
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมทั้งไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และหากพบว่าตาของตนเองมีอาการแย่ลงหรือผิดปกติ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดนัด
สามารถใช้ยาและสมุนไพรรักษาเองได้หรือไม่
อาการของโรคม่านตาอักเสบไม่สามารถซื้อยามารักษาหรือหยอดตาเองได้ เพราะต้องอยู่ในการควบคุมดูแลและการจ่ายยาจากแพทย์เท่านั้น ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ควรซื้อยาประเภทสมุนไพรมารักษาเอง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายร้ายแรงจนทำให้เสี่ยงต่อการตาบอดได้
โรคม่านตาอักเสบเป็นโรคที่หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก เกิดพังผืดในตา มีเลือดออกในตา จอประสาทตาถูกทำลาย ดังนั้น หากคุณสงสัยว่าตนเองมีอาการคล้ายกับโรคม่านตาอักเสบ ก็ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคทันที มิฉะนั้น คุณอาจต้องสูญเสียการมองเห็นไปตลอดกาล และกลายเป็นจุดพลิกผันให้การดำเนินชีวิตของคุณเปลี่ยนไปทันที