ในยุคปัจจุบันผู้คนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้ความนิยมในการรับประทานผักผลไม้มีเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ยังคงพบว่ามีสารเคมีตกค้างที่ปนเปื้อนมากับผักผลไม้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากการได้รับสารพิษที่ปะปนมากับผักผลไม้ได้ ซึ่งก็มีทั้งโรคชนิดเฉียบพลันหรือที่เรียกว่ามีอาการอาหารเป็นพิษ เช่น มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน และโรคชนิดเรื้อรัง เช่น อาจส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ หรือหากเป็นเด็กก็จะส่งผลให้มีอาการเจริญเติบโตผิดปกติ เพราะฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคผักหรือผลไม้ จึงควรที่จะล้างผักหรือผลไม้ให้สะอาดเสียก่อนที่จะนำไปปรุงอาหารหรือบริโภค ซึ่งก็มิวิธีการในการล้างผักให้สะอาดปลอดภัยอยู่มากมายหลายวิธีด้วยกัน โดยมีวิธีดังนี้
1. น้ำส้มสายชู
ใช้น้ำส้มสายชูที่มีกรดน้ำส้มเข้มข้นประมาณ 5% ผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1:10 เสร็จแล้วนำผักไปแช่ไว้ประมาณ 10-15 นาที จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ข้อดี
วิธีนี้จะช่วยให้สารพิษลดลงได้ถึงร้อยละ 60-84 ซึ่งก็จะทำให้การทานผักผลไม้มีความปลอดภัยมากขึ้นและเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมพอสมควร
ข้อเสีย
ผักอาจมีกลิ่นและรสของน้ำส้มสายชูติดมา จึงทำให้ผักบางชนิดอย่างผักกาดขาว ผักกาดเขียวอาจมีรสชาติเปลี่ยนไปได้ นอกจากนี้แล้วไม่ควรใช้ภาชนะพลาสติกในการล้างผัก เพราะอาจเกิดการทำปฏิกิริยากันกับน้ำส้มสายชูนั่นเอง
2. ด่างทับทิม
ลักษณะของด่างทับทิมจะเป็นเกล็ดแข็งสีม่วง จัดเป็นสารประกอบประเภทเกลือ ละลายในน้ำได้ โดยจะมีสีออกเป็นสีชมพูหรือม่วงเข้ม เวลาใช้ล้างผักจะใช้ 20-30 เกล็ดละลายลงในน้ำ 4 ลิตร จากนั้นจึงนำผักไปแช่ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ข้อดี
วิธีนี้จะช่วยขจัดสารพิษปนเปื้อนออกได้มากถึงร้อยละ 35-43 ซึ่งก็เป็นอีกวิธีที่ได้รับความนิยมมาก
ข้อเสีย
หากใช้ด่างทับทิมในปริมาณมาก อาจเกิดอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารได้ และอาจมีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจได้หากมีการสูดดมไอระเหยของด่างทับทิมมากจนเกินไป และหากสัมผัสกับดวงตาอาจทำให้ตาบอดได้เช่นกัน
3. เปิดน้ำไหลผ่าน
การล้างผักด้วยวิธีอาจจะใช้ภาชนะในการล้างเป็นตะแกรงโป่ง โดยเด็ดผักเป็นใบ ๆ ใส่ตะแกรงเปิดน้ำให้ไหลผ่านด้วยระดับความแรงพอประมาณ โดยในระหว่างที่ล้างควรจะใช้มือช่วยในการล้างไปด้วยเป็นเวลาประมาณ 2 นาที
ข้อดี
วิธีนี้จะช่วยขจัดสารพิษออกจากสารพิษได้ถึงร้อยละ 25-63 และเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยพอสมควร
ข้อเสีย
เป็นวิธีที่ใช้เวลาในการล้างค่อนข้างนานและใช้น้ำในการล้างค่อนข้างมาก จึงอาจไม่ค่อยทันใจสำหรับคนที่ใจร้อนมากนัก
4. เกลือป่น
การล้างด้วยวิธีนี้จะใช้เกลือป่นประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำประมาณ 4 ลิตร แช่ผักหรือผลไม้ไว้นาน 10 นาที จากนั้นจึงใช้น้ำสะอาดล้างออก
ข้อดี
วิธีนี้จะช่วยให้สารพิษลดลงได้ร้อยละ 27-38
ข้อเสีย
อาจทำให้ผักหรือผลไม้มีรสเค็มเนื่องจากมีรสชาติของเกลือติดมาด้วย ใครที่ไม่ค่อยชอบกินเค็มก็อาจต้องเลี่ยงวิธีนี้สักหน่อย
5. โซเดียมไบคาร์บอเนต
การใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต หรือ เบกกิ้งโซดาในการล้างผักจะใช้ในอัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำอุ่น 1 กะละมัง(20ลิตร) แช่ไว้ 15 นาทีแล้วใช้น้ำสะอาดล้างออก
ข้อดี
การล้างผักด้วยวิธีนี้จะช่วยให้สารพิษลดลงได้ถึงร้อยละ 90-95
ข้อเสีย
ผักหรือผลไม้ที่ล้างอาจดูดซึมโซเดียมที่ผสมอยู่ในเบกกิ้งโซดาเข้าไป และถ้าล้างได้ไม่สะอาดพออาจทำให้เกิดอาการท้องเสียจากการได้รับเบกกิ้งโซดาเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปได้
6. ต้มหรือลวก
วิธีลดสารพิษโดยการต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อนเป็นวิธีที่ดีและปลอดภัยวิธีหนึ่ง แต่วิธีนี้จะเหมาะกับผักเท่านั้น และเมื่อต้มหรือลวกแล้วก็จะต้องทานทันที ไม่สามารถเก็บไว้หลายๆ วันได้
ข้อดี
นอกจากวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ปลอดภัยแล้วยังช่วยลดสารพิษได้ร้อยละ 50
ข้อเสีย
วิธีนี้อาจทำให้ผักหรือผลไม้ต้องสูญเสียคุณค่าทางสารอาหาร เช่น วิตามินซี วิตามินบี 1 ไนอะซินไป
วิธีต่างๆ ที่ช่วยในการลดปริมาณสารตกค้างที่ได้นำเสนอไปแล้วนี้ ต่างก็เป็นวิธีที่ช่วยลดสารพิษให้น้อยลงได้ทั้งสิ้น ซึ่งจะเลือกใช้วิธีไหนนั้นก็แล้วแต่ปัจจัยจะเอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นความสะดวก ชนิดของผักผลไม้และปริมาณที่ต้องการจะล้าง เวลาที่มีอยู่ ส่วนการทานผักผลไม้นั้นควรที่จะทานให้ได้หลากหลายชนิด และไม่ควรที่จะซื้อจากร้านใดร้านหนึ่งเพียงร้านเดียว แต่ควรที่จะเปลี่ยนร้านบ้าง เพราะว่าหากร้านที่เราซื้ออยู่ประจำนั้น ผักหรือผลไม้มีสารพิษตกค้างก็จะทำให้เราไม่ได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปจนเกิดอันตราย