กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ชา มีทั้งหมดกี่ชนิด

รวมข้อมูล ประโยชน์ และวิธีการใช้ชาเพื่อสุขภาพ
เผยแพร่ครั้งแรก 5 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ชา มีทั้งหมดกี่ชนิด

บทความนี้เขียนโดยทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HonestDocs วันที่ 25/03/2562

หลายประเทศมีวัฒนธรรมการดื่มชาเป็นของตัวเอง เช่น จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ และไอซ์แลนด์ ซึ่งบางประเทศถือว่าการชงและดื่มชาเป็นศิลปะที่ต้องทำอย่างประณีต การบริโภคชาอย่างพอเหมาะส่งผลดีต่อสุขภาพ ในขณะเดียวกัน ในชาก็มีสารบางอย่างที่ต้องระมัดระวังไม่ให้ร่างกายได้รับมากเกินไปเพราะจะเกิดผลเสียต่อร่างกาย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Camellia sinensis L. Kuntze

ชื่อวงศ์ Theaceae

ชื่อสามัญ White tea, green tea, oolong, pu-erh tea และ black tea

ชื่อท้องถิ่น เมี่ยง เมี่ยงป่า (ภาคเหนือ) ชา (ภาคกลาง) ลาบ่อ (อาข่า) นอมื่อ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) แต๊ (จีนแต้จิ๋ว) ฉา (จีนกลาง)

คุณค่าทางโภชนาการ

ชาน้ำหนัก 100 กรัม ให้พลังงาน 1 กิโลแคลอรี่

ที่มา: กองโภชนาการ กรมอนามัย (ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม)

ประเภทของชา แบ่งตามระดับการหมัก

กระบวนการผลิตชานั้นเริ่มจากการเก็บใบชาสด แล้วนำมาเข้ากระบวนการที่ทำให้เกิดการหมักในระดับแตกต่างกัน ดังนี้

  1. ชาดำ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ชาฝรั่ง" เตรียมได้โดยการเอาใบชาที่เก็บมาได้ เอามากองสุมไว้ เพื่อให้เกิดการหมัก ขณะที่หมักไว้อาจจะบดหรือขยี้ใบชาเพื่อช่วยเร่งการหมักให้เร็วขึ้น ในขั้นตอนของการหมักนี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของสารสำคัญในใบชา เมื่อหมักจนได้ที่ตามที่ต้องการแล้ว ก็จะนำไปทำให้แห้ง ใบชาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีแดง ชาชนิดนี้เป็นชาที่ขึ้นขื่อว่ามีรสชาติเข้มข้นและกลิ่นหอมมากที่สุด แต่ในประเทศจีนเรียกว่าชาแดง เพราะชาเข้มข้นกว่า
  2. ชาอู่หลง เป็นชาอีกชนิดหนึ่งที่ผ่านการหมักเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันเช่นเดียวกับชาดำกัน แต่เป็นหมักแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น บางตำราจึงจัดเป็น "ชาดำ" ประเภทหนึ่ง
  3. ชาเขียว เป็นชาที่นำเอาใบชาสดที่เก็บได้มาทำให้แห้งอย่างรวดเร็วในหม้อทองแดง โดยใช้ความร้อนไม่สูงเกินไปนัก โดยใช้มือคลึงเบาๆก่อนแห้ง ชาเขียวอาจจะแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ประเภทคือ "ชาคอ" ที่ดื่มแล้วจะรู้สึกชุ่มคอ และ "ชากลิ่น" ที่มีกลิ่นหอม เนื่องจากอบด้วยกลิ่นหอมจากดอกไม้ เช่น ดอกมะลิ ดอกประยงค์ เป็นต้น หรืออาจแบ่งประเภทตามกรรมวิธี ก็แบ่งได้ 2 ประเภทเช่นกัน คือ คือชาเขียวที่ไม่ผ่านการคั่ว จะนิยมในประเทศญี่ปุ่น และชาเขียวที่ผ่านการคั่วด้วยกะทะร้อน จะนิยมในประเทศจีน
  4. ชาขาว คือชาที่เลือกเก็บจากยอดอ่อนชาเท่านั้น แล้วนำมาตากให้แห้งด้วยวิธีธรรมชาติอย่างรวดเร็ว ชาขาวจะไม่ผ่านการหมักใบชาเหมือนชาชนิดอื่นๆ ทำให้ยังคงปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในใบชาได้มากกว่าชาชนิดอื่นๆ ควรชงกับน้ำอุ่นๆ ไม่ร้อนจัด เพื่อรักษารสชาติของใบชาอ่อนๆ ไว้

สรรพคุณของชา

  • ตำราสรรพคุณยาโบราณว่า น้ำชามีรสฝาด ชุ่มคอ ขับเสมหะ
  • มีสรรพคุณฝาดสมาน แก้ท้องร่วง ท้องเสีย เนื่องจากมีสารกลุ่มแทนนิน แต่หากรับประทานมากไปจะท้องผูก
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • บำรุงร่างกาย ทำให้คึกคักมีชีวิตชีวา

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของชา

เนื่องด้วยชาเป็นสมุนไพรที่นิยมทำเป็นเครื่องดื่ม จึงมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย พบว่า ชามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายได้ มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นให้ตื่นตัว มีฤทธิ์ลดไขมันและน้ำตาลในเลือด บรรเทาอาการท้องเสีย ช่วยลดความอ้วน ช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน และยังสามารถช่วยต่อต้านการเกิดโรคของหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย

ควรดื่มชาอย่างไรให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ

การนำใบชามาต้ม จะทำให้ได้ตัวยาสำคัญในใบชามากขึ้น คือ สารคาเฟอีนและทีโอฟิลลีน (Theophylline) ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและขับปัสสาวะ และสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่เรียกว่า คาเทชิน (Catechins) ซึ่งมีความสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังมีสารจำพวกแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีรสฝาด หากรับประทานมากไปจะทำให้ท้องผูก ซึ่งสารสำคัญเหล่านี้ เมื่อถูกความร้อนของน้ำอาจสลายหมดไป ทำให้เหลือแต่ความหอมและรสชาติ ฉะนั้นหากต้องการให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงควรดื่มชาขณะที่ยังร้อนอยู่ เพราะแม้ว่าสารเหล่านี้จะสลายตัวไป แต่ก็ยังคงมีบางส่วนที่หลงเหลืออยู่และพอจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้

ข้อควรระวังในการดื่มชา

การดื่มน้ำชาในปริมาณมากๆ อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ใจสั่น และทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ เนื่องจากสารคาเฟอีนในชา และอาจมีอาการท้องผูกเนื่องจากสารแทนนิน การดื่มชามากเกินไปยังอาจทำให้เกิดอาการเหน็บชา หรือโรคโลหิตจางได้ เนื่องจากขาดวิตามินบีหนึ่งและธาตุเหล็ก โดยมีรายงานว่าโพลีฟีนอลในชาเขียวอาจยับยั้งการดูดซึมวิตามินบีหนึ่งและธาตุเหล็กจากทางเดินอาหาร

ดังนั้นการดื่มชาที่ถูกต้องคือประมาณวันละไม่เกิน 3 ถ้วย โดยแต่ละครั้งให้ใช้ใบชาประมาณ 1-2 ช้อนชาชงในน้ำร้อน และควรดื่มในระหว่างมื้ออาหาร ส่วนผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา เนื่องจากชาจะทำให้ฤทธิ์ของยาลดลง

ที่มาของข้อมูล

ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต และ วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบาย ตำราพระโอสถพระนารายณ์, 2542.

ภญ. กฤติยา ไชยนอก, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, จิบชายามบ่าย, 2560.

ธิดารัตน์ จันทร์ดอน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ชาเขียว ดื่มอย่างไรให้ได้ประโยชน์, 2559.


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Health Benefits of Different Types of Tea. Verywell Fit. (https://www.verywellfit.com/health-benefits-of-tea-how-different-types-compare-4148086)
The top 5 teas for health. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/321243)
Types of Teas and Their Health Benefits. WebMD. (https://www.webmd.com/diet/features/tea-types-and-their-health-benefits#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
กระวาน
กระวาน

สรรพคุณของกระวานมีอะไรบ้าง? มีวิธีใช้ที่ถูกต้องอย่างไร?

อ่านเพิ่ม
​แอปเปิ้ล องุ่น สับปะรด แตงโม มะละกอ มะม่วง ช่วยล้างพิษได้
​แอปเปิ้ล องุ่น สับปะรด แตงโม มะละกอ มะม่วง ช่วยล้างพิษได้

ล้างพิษ ต้านอนุมูลอิสระแบบธรรมชาติ 100 % ได้ผลดี ปลอดภัย และไม่เสี่ยง

อ่านเพิ่ม