ระบบต่างๆของร่างกายถูกควบคุมควบคุมผ่านการสร้างและการหลั่งฮอร์โมน ฮอร์โมนทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นเมสเซนเจอร์ที่ช่วยในการควบคุม และช่วยประสานกิจกรรมต่างๆภายในร่างกาย เมื่อเรามีอายุมากขึ้นระดับของฮอร์โมนส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง แต่ก็มีฮอร์โมนบางกลุ่มที่มีระดับไม่เปลี่ยนแปลง หรืออาจเพิ่มมากขึ้นได้ แต่แม้ว่าระดับฮอร์โมนนั้นอาจเพิ่มขึ้นแต่การทำงานของฮอร์โมนนั้นโดยปกติจะลดลงกว่าตอนที่ยังเป็นหนุ่มสาว เนื่องมาจากตัวรับฮอร์โมนที่อยู่ตามอวัยวะต่างๆเริ่มตอบสนองน้อยลง
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
ฮอร์โมนในร่างกายที่ลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ในเพศหญิง ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone) ในเพศชาย โกรทฮอร์โมน (growth hormone) และเมลาโทนิน (melatonin) ฮอร์โมนที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณหรืออาจลดลงเล็กน้อย ได้แก่ คอร์ติซอล (cortisol) อินซูลิน (insulin) และไทรอยด์ฮอร์โมน (thyroid hormone) ส่วนฮอร์โมนที่มีระดับสูงขึ้น ได้แก่ ฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน (follicle stimulating hormone) ลิวทีไนซิงฮอร์โมน (luteinizing hormone) นอร์อิพิเนปฟริน (norepinephrine) อิพิเนปฟริน (epinephrine) และพาราไทรอยด์ฮอร์โมน (parathyroid hormone)
ตรวจระดับฮอร์โมนวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 382 บาท ลดสูงสุด 69%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
1. ไทรอยด์ฮอร์โมน สร้างจากต่อมไทรอยด์ที่อยู่บริเวณคอ ฮอร์โมนนี้มีส่วนช่วยควบคุมระบบเผาผลาญของร่างกาย เมื่ออายุเพิ่มขึ้นต่อมไทรอยด์มีโอกาสกลายเป็นก้อน (nodular) กระบวนการเผาผลาญของร่างกายจะเริ่มลดถอยลงไปเรื่อยๆตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 20 ปี ในผู้ป่วยบางรายที่ระดับไทรอยด์ฮอร์โมนอาจสูงขึ้น นำไปสู่การเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตจากโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
2. พาราไทรอยด์ฮอร์โมน สร้างจากต่อมพาราไทรอยด์ เป็นต่อมขนาดเล็ก 4 ต่อมที่อยู่บนต่อมไทรอยด์ พาราไทรอยด์ฮอร์โมนส่งผลต่อระดับของแคลเซียมและฟอสเฟต ระดับของแคลเซียมส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูก มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
3. อินซูลิน สร้างจากตับอ่อน อินซูลินมีส่วนช่วยในการขนส่งน้ำตาลจากหลอดเลือดเข้าสู่ภายในเซลล์ไว้ใช้เป็นพลังงาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ทุกๆ 10 ปีหลังจากอายุ 50 ปี เซลล์จะมีการตอบสนองต่ออินซูลินต่ำลง มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2
4. ฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน (aldosterone) และคอร์ติซอล สร้างจากต่อมอะดรีนอล อยู่บริเวณส่วนบนของไต ฮอร์โมนอัลโดเตอโรนมีส่วนช่วยควบคุมสมดุลของเหลวและแร่ธาตุในร่างกาย การหลั่งฮอร์โมนอัลโดสเตอโรนลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น การลดลงนี้เป็นผลทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะแบบมึนๆ หวิวๆ (lightheadedness) และภาวะความดันโลหิตลดลงเมื่อเปลี่ยนท่าทาง (orthostatic hypotension) ส่วนคอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเครียด โดยทำหน้าที่สลายกลูโคส โปรตีน และไขมัน และยังมีฤทธิ์ต้านการแพ้ และต้านการอักเสบ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นคอร์ติซอลจะมีการหลั่งลดลงเช่นเดียวกัน แต่ระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดยังอยู่ในระดับคงที่ ผลของการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนนี้ยังไม่ชัดเจน
5. ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ในเพศชาย สร้างจากอัณฑะ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมการแสดงออกลักษณะทางเพศทุติยภูมิ เช่น การสร้างขน เสียงแตก การเจริญเติบโตของอวัยวะเพศ ผลของฮอร์โมนต่อระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย ได้แก่ ทำให้แรงขับทางเพศลดลง (libido) เลือดไปเลี้ยงที่บริเวณอวัยวะเพศน้อยลง อวัยวะเพศแข็งตัวได้น้อยลง ความรู้สึกบริเวณอวัยวะเพศลดลง
6. ฮอร์โมนเอสโตรเจน และเอสตราไดออล (estradiol) ในเพศหญิง สร้างจากรังไข่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมการแสดงออกลักษณะทางเพศทุติยภูมิแบบเดียวกันกับในเพศชาย ฮอร์โมนทั้งสองนี้มีระดับลดลงหลังจากหมดประจำเดือน ส่งผลกระทบหลายอย่างต่ออวัยวะอื่นที่เป็นผลมาจากการหมดปรำจำเดือน เช่น ผนังของมดลูกบางลง แห้งขึ้น และมีความยืดหยุ่นน้อยลง อาจทำให้เกิดอาการเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธุ์ แรงขับทางเพศลดลง ฮอร์โมนที่ลดลงยังส่งผลต่อความหนาแน่นของมวลกระดูก พบว่าหลังจากสองปีที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้นจะลดลงร้อยละ 1 ถึง 2 ต่อปี กระดูก ความเปลี่ยนแปลงนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคกระดูกพรุน ส่งผลต่อระดับไขมัน LDL (ไขมันชนิดเลว) ที่เพิ่มสูงขึ้น มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) และโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนยังส่งผลต่ออารมณ์อีกด้วย