การตรวจ Adrenocorticotropic Hormone (ACTH) โดยเก็บตัวอย่างจากเลือดไปทดสอบ ทำเพื่อวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งมีด้วยกันหลายประเภท ผู้ที่มีอาการบ่งชี้ว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนชนิดนี้จะได้รับการตรวจเพื่อหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ชื่ออื่น: Corticotropin
ตรวจระดับฮอร์โมนวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 382 บาท ลดสูงสุด 69%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ชื่อทางการ: Adrenocorticotropic Hormone
จุดประสงค์ของการตรวจ Adrenocorticotropic Hormone (ACTH)
การตรวจเลือดหา Adrenocorticotropic Hormone (ACTH) มักถูกทำควบคู่กับการตรวจคอร์ติซอลเพื่อช่วยตรวจหาความผิดปกติ วินิจฉัย และติดตามโรคที่เกี่ยวข้องกับการมีฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) มากหรือน้อยเกินไป ซึ่งประกอบไปด้วย
- โรคคูชชิ่ง : มีคอร์ติซอลมากเกินไป เนื่องจากมีเนื้องอกที่ผลิต ACTH ในต่อมใต้สมอง
- กลุ่มอาการคูชชิ่ง: อาการและสัญญาณที่สัมพันธ์กับการมีคอร์ติซอลมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากเนื้องอกต่อมใต้สมอง Adrenal Hyperplasia การใช้ยาสเตียรอยด์ หรือเกิดจากเนื้องอกที่ผลิต ACTH ที่อยู่ด้านนอกต่อมใต้สมอง
- โรคแอดดิสัน: การผลิตคอร์ติซอลลดลง เนื่องจากต่อมหมวกไตได้รับความเสียหาย
- ภาวะขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไตทุติยภูมิ: การผลิตคอร์ติซอลลดลง เพราะต่อมใต้สมองผิดปกติ
- Hypopituitarism: ต่อมใต้สมองผิดปกติ หรือเกิดความเสียหายที่นำไปสู่การลดลงของฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมใต้สมอง ซึ่งรวมถึงการผลิต ACTH
การวัดทั้ง ACTH และคอร์ติซอล ช่วยแยกความแตกต่างระหว่างโรคหรือปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้ เพราะปกติแล้วระดับของ ACTH จะเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้ามกับระดับของคอร์ติซอล หากมีการตรวจพบระดับที่ผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อยืนยันสิ่งที่พบและช่วยหาสาเหตุของปัญหา
เมื่อไรที่ต้องตรวจ Adrenocorticotropic Hormone (ACTH)?
แพทย์อาจทำการตรวจ ACTH หลังจากที่พบว่าผลตรวจคอร์ติซอลผิดปกติ หรือพบอาการที่เกี่ยวข้องกับการมีคอร์ติซอลมากกว่าปกติ เช่น
- โรคอ้วน ซึ่งน้ำหนักตัวส่วนใหญ่จะอยู่ที่ลำตัวของร่างกาย ไม่ได้อยู่บริเวณแขนและขา
- ไขมันสะสมระหว่างหัวไหล่
- ใบหน้ากลมและแดง
- ผิวอ่อนแอและบาง
- มีเส้นสีม่วงที่หน้าท้อง
- กล้ามเนื้ออ่อนแอ
- มีสิวขึ้น
- ผิวติดเชื้อ
- ขนขึ้นตามร่างกายมากขึ้น
- อ่อนเพลีย
- ความดันโลหิตสูง โพแทสเซียมต่ำ ไบคาร์บอเนตสูง ระดับกลูโคสสูง
ส่วนผู้ที่มีคอร์ติซอลน้อยกว่าปกติอาจมีอาการ เช่น
- กล้ามเนื้ออ่อนแอ
- อ่อนเพลีย
- น้ำหนักลด
- ผิวสีคล้ำมากขึ้นแม้ว่าเป็นบริเวณที่ไม่โดนแสงแดด
- เบื่ออาหาร
- ท้องร่วง
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- เวียนศีรษะ
- อยากทานเกลือ
- ความดันโลหิตต่ำ กลูโคสในเลือดต่ำ โซเดียมต่ำ โพแทสเซียมสูง และแคลเซียมสูง
สำหรับอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะต่อมใต้สมองทำงานน้อย (Hypopituitarism) โดยทั่วไปแล้วประกอบไปด้วย
- เบื่ออาหาร
- อ่อนเพลีย
- รอบเดือนผิดปกติ
- อวัยวะเพศทำงานผิดปกติ
- ความต้องการทางเพศลดลง
- ปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- รู้สึกร้อนวูบวาบ
- ไวต่อความเย็น
เมื่อโรคหรือภาวะต่างๆ เกิดจากเนื้องอกต่อมใต้สมอง ผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจมีอาการที่สัมพันธ์กับการบีบอัดของเซลล์ข้างเคียงและเส้นประสาท เช่น เนื้องอกที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ซึ่งอาจส่งผลต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการมองเห็น
วิธีเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจ Adrenocorticotropic Hormone (ACTH)
แพทย์จะตรวจ Adrenocorticotropic Hormone (ACTH) จากเลือด โดยการแทงเข็มเข้าไปในเส้นเลือดดำในแขน ซึ่งแพทย์อาจให้คุณเข้านอนเร็วกว่าปกติ เพื่อรับการเจาะเลือดตรวจเวลา 08.00 - 09.00 น.
รายละเอียดการตรวจ Adrenocorticotropic Hormone (ACTH)
Adrenocorticotropic Hormone (ACTH) เป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการผลิตคอร์ติซอล ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมหมวกไต ต่อมดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกลูโคส โปรตีน การเมทาบอลิซึมไขมัน ยับยั้งการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยรักษาความดันโลหิต
ตรวจระดับฮอร์โมนวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 382 บาท ลดสูงสุด 69%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
โดยทั่วไปแล้วระดับของ ACTH จะเพิ่มขึ้นเมื่อคอร์ติซอลมีปริมาณต่ำ และจะน้อยลงเมื่อคอร์ติซอลมีปริมาณสูง โดยสมองส่วนไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) จะทำหน้าที่ผลิต Corticotropin-Releasing Hormone (CRH) เพื่อตอบสนองต่อการลดลงของระดับคอร์ติซอลในเลือด ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองผลิต ACTH เพราะฉะนั้น การที่จะมีปริมาณของคอร์ติซอลที่เหมาะสม ไฮไพทาลามัส ต่อมใต้สมอง และต่อมหมวกไตจะต้องทำงานประสานกันได้อย่างสมบูรณ์
โรคหรือภาวะต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อไฮโพทาลามัส ต่อมใต้สมอง หรือต่อมหมวกไตสามารถขัดขวางการควบคุม ACTH และการผลิตคอร์ติซอล ทำให้เกิดสัญญาณและอาการที่สัมพันธ์กับการมีคอร์ติซอลมากหรือน้อยเกินไป
ความหมายของผลตรวจ
มีหลายกรณี ที่การแปลผลเป็นเรื่องซับซ้อน เนื่องจากระดับของทั้ง ACTH และคอร์ติซอลมีการแปรผัน ซึ่งเกิดจากภาวะหรือโรคที่ส่งผลต่อการผลิต ACTH
ตารางด้านล่างนี้ บ่งชี้ได้ถึงรูปแบบทั่วไปของ ACTH และคอร์ติซอลที่พบในโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมอง
โรค | คอร์ติซอล | ACTH |
โรคคูชชิ่ง | เพิ่ม | เพิ่ม |
เนื้องอกต่อมหมวกไต | เพิ่ม | ลด |
Ectopic ACTH (เนื้องอกด้านนอกต่อมใต้สมองผลิต ACTH โดยทั่วไปแล้วเป็นเนื้อเยื่อในปอด) | เพิ่ม | เพิ่ม |
โรคแอดดิสัน | ลด | เพิ่ม |
Hypopituitarism | ลด | ลดหรือปกติ |
อย่างไรก็ตาม การแยกความแตกต่างของโรคคูชชิ่ง และ Ectopic ACTH จากการตรวจวัดคอร์ติซอลและ ACTH เพียงลำพัง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องใช้การตรวจอื่นๆ เพื่อหาความแตกต่างต่อไป
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการตรวจ Adrenocorticotropic Hormone (ACTH)
- การใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาทาน ยาสูด ยาเฉพาะจุด หรือยาหยอดตา อาจทำให้ผลตรวจผิดปกติ
- Megestrol Acetate หรือฮอร์โมนเพศหญิงในกลุ่มโปรเจสติน ก็สามารถทำให้ผลผิดปกติเช่นกัน
- ยาไมเฟพริสโตน (Mifepristone) ที่ใช้ในการทำแท้ง มีแนวโน้มจะทำให้ระดับของ ACTH เปลี่ยนไป
- ความเครียดอาจทำให้มีการหลั่ง ACTH มากขึ้น
- มีการนำ ACTH มาใช้ในการรักษาโรค ในฐานะของยารักษาโรคปลอกหุ้มเส้นประสาทอักเสบและโรคลมชักประเภทชักผวา (Infantile Spasms)
ที่มาของข้อมูล
Lab Test Online, Adrenocorticotropic Hormone (ACTH) (https://labtestsonline.org/tests/adrenocorticotropic-hormone-acth), 21 December 2018.
โรค | คอร์ติซอล | ACTH |
โรคคูชชิ่ง | เพิ่ม | เพิ่ม |
เนื้องอกต่อมหมวกไต | เพิ่ม | ลด |
Ectopic ACTH (เนื้องอกด้านนอกต่อมใต้สมองผลิต ACTH โดยทั่วไปแล้วเป็นเนื้อเยื่อในปอด) | เพิ่ม | เพิ่ม |
โรคแอดดิสัน | ลด | เพิ่ม |
Hypopituitarism | ลด | ลดหรือปกติ |