โรคมือเท้าปาก

วิธีการจัดการโรคมือเท้าปาก อาการเป็นอย่างไร วิธีรักษาและป้องกันมีอะไรบ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 29 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
โรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากคืออะไร

โรคมือเท้าปาก (Hand foot and mouth disease) เป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดแผลในปาก จุดบนมือและบนเท้า ส่วนมากมักจะเกิดกับเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี แต่ความเป็นจริงโรคนี้ก็สามารถเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่และเด็กโตได้เช่นกัน

โรคมือเท้าปากจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัว และจะหายไปเองภายใน 7-10 วัน ซึ่งคุณสามารถดูแลตนเองหรือลูกของคุณได้ที่บ้านตามปกติ และการติดเชื้อโรคมือเท้าปากนั้นไม่เกี่ยวข้องกับโรคมือเท้าปากเปื่อย (Foot and mouth disease) ที่มักจะเกิดกับวัว แกะ และสุกรด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการของโรคมือเท้าปาก

อาการของโรคมือเท้าปากมักจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 หลังติดเชื้อ ซึ่งอาการแรกที่ปรากฏมีดังนี้

แผลในปาก

หลังจากผ่านไป 1-2 วัน ผู้ป่วยจะเกิดจุดขึ้นที่ลิ้นและภายในช่องปาก ซึ่งจะกลายเป็นแผลในปากขนาดใหญ่ที่มีสีเหลืองเทากับมีขอบแผลสีแดงอย่างรวดเร็ว แผลในปากจะก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมาก และทำให้การดื่ม กิน และกลืนลำบากขึ้น ซึ่งอาการนี้ควรจะหายไปเองภายใน 1 อาทิตย์

ผื่นจุดและตุ่มหนอง

หลังจากที่คุณมีแผลในปาก คุณจะสังเกตเห็นผื่นเกิดขึ้นบริเวณแคบๆ บนผิวหนัง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบนนิ้ว หลังหรือบนฝ่ามือ ฝ่าเท้า และบางครั้งอาจเกิดขึ้นที่บั้นท้ายหรือขาหนีบก็ได้ จุดเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเป็นตุ่มหนองขนาดเล็กที่มีจุดสีเทาตรงกลางได้ และอาจก่อให้เกิดอาการคันหรือความรู้สึกไม่สบายตัว และจะคงอยู่เช่นนี้นานประมาณ 10 วัน

สิ่งที่ควรทำ หากตนเองหรือลูกเป็นโรคมือเท้าปาก

หากคุณหรือลูกของคุณประสบกับโรคมือเท้าปาก สิ่งที่สามารถทำได้เพื่อให้อาการของโรคดีขึ้น ได้แก่

  • พักผ่อนที่บ้านไปจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น และควรให้ลูกที่ป่วยลาเรียนไปจนกว่าพวกเขาจะรู้สึกดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาหรือยาที่ใช้รักษาโรคมือเท้าปากโดยเฉพาะ ทำให้คุณต้องดูแลตนเองไปก่อนจนกว่าอาการจะทุเลาลงเอง
  • ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อเลี่ยงภาวะขาดน้ำ และคุณสามารถให้น้ำหรือนมแก่เด็กก็ได้
  • ทานอาหารอ่อน หากการกลืนหรือทานอาหารปกติทำให้คุณไม่สบายปาก เช่น มันฝรั่งบด โยเกิร์ต หรือซุป และพยายามเลี่ยงอาหารร้อน อาหารที่มีกรดสูง หรืออาหารเผ็ด
  • ทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้จากร้านขายยา เช่น พาราเซตตามอล (Paracetamol) หรือ ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอและเป็นไข้ แต่ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี และหากคุณกำลังตั้งครรภ์ ควรใช้ยาพาราเซตตามอลจะดีที่สุด
  • พยายามกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ เพื่อบรรเทาอาการไม่สบายตัวจากแผลในช่องปาก และพยายามอย่ากลืนน้ำที่นำมากลั้วคอ วิธีการนี้ควรทำในผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่แนะนำให้ทำกับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก
  • ใช้เจลทาปาก ยาบ้วนปาก หรือสเปรย์สำหรับรักษาแผลในปากที่วางขายตามร้านขายยาก็ได้ แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่อง และบางประเภทอาจไม่เหมาะกับเด็กเล็ก ดังนั้นคุณควรสอบถามเภสัชกรและอ่านคำแนะนำที่ฉลากผลิตภัณฑ์ก่อน

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร

คุณไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโรคมือเท้าปาก การติดเชื้อประเภทนี้จะหายไปเองภายใน 7-10 วัน และแม้ว่าจะไปพบแพทย์ ก็ยังไม่มีวิธีรักษาโรคมือเท้าปากโดยเฉพาะอยู่ดี และยาปฏิชีวนะจะไม่ช่วยรักษาโรคมือเท้าปากได้ เนื่องจากโรคนี้เกิดมาจากเชื้อไวรัส

คุณควรไปพบแพทย์ หรือพาผู้ป่วยเด็กไปพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ไม่สามารถหรือไม่อยากดื่มน้ำ
  • มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะออกเล็กน้อยหรือไม่มีเลย หรือมือและเท้าเย็น
  • มีอาการชัก สับสน อ่อนแรง และหมดสติ
  • ลูกของคุณมีอายุต่ำกว่า 3 เดือนและมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือลูกมีอายุระหว่าง 3-6 เดือนและมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • เจ็บปวดผิวหนังรุนแรงมาก มีอาการผิวแดง ร้อน และบวม หรือมีหนองไหลออกมา
  • อาการต่างๆ ทรุดลง หรือไม่ดีขึ้นภายใน 7-10 วัน

หากคุณตั้งครรภ์ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังติดเชื้อ ให้ไปขอรับคำแนะนำจากแพทย์ การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่ก็มีโอกาสเล็กน้อยที่ทำให้ลูกของคุณป่วยได้หากคุณติดเชื้อก่อนคลอดไม่นาน

โรคมือเท้าปากแพร่กระจายได้อย่างไร

ผู้ป่วยโรคมือเท้าปากจะแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายมากตั้งแต่ก่อนเริ่มมีอาการไปจนถึงหลังจากผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น การติดเชื้อมักเกิดขึ้นจากการเข้าใกล้ผู้ป่วย หรือสัมผัสกับสิ่งของปนเปื้อนเชื้อ

เชื้อไวรัสมือเท้าปากสามารถถูกพบได้ที่

  • ละอองจามและไอจากผู้ติดเชื้อ: คุณจะติดเชื้อตามได้ หากคุณมีละอองปนเปื้อนอยู่ที่มือของตนเอง หรือไปสัมผัสกับปากหรือหายใจนำละอองเหล่านั้นเข้าไป
  • อุจจาระของผู้ติดเชื้อ: หากผู้ติดเชื้อไม่ล้างมือหลังทำธุระให้สะอาด และไปสัมผัสกับอาหารหรือสิ่งของต่างๆ 
  • น้ำลายของผู้ติดเชื้อ หรือของเหลวที่ออกจากตุ่มหนอง: คุณสามารถติดเชื้อตามได้หากของเหลวเหล่านี้เข้าสู่ปากของคุณ

การติดเชื้อโรคมือเท้าปากสามารถเกิดจากเชื้อไวรัสได้หลายชนิด ทำให้คุณสามารถป่วยเป็นโรคมือเท้าปากได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่ผู้คนส่วนมากจะมีภูมิคุ้มกันเหล่านี้เมื่อมีอายุมากขึ้น

วิธีป้องกันการแพร่กระจายโรคมือเท้าปาก

การหลีกเลี่ยงโรคมือเท้าปากเป็นเรื่องที่อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเป็นโรคที่มีการแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสและหายใจ ซึ่งยากที่จะควบคุมได้เนื่องจากในทุกวันเราต้องต้องพบเจอผู้คนและอยู่ในสถานที่ที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโดยไม่รู้ตัว แต่ก็มีคำแนะนำสำหรับวิธีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ดังนี้

  • หากคุณรู้ว่าตนเองเป็นโรคมือเท้าปาก ให้หยุดงาน หรือลาเรียนไปจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปถึงคนอื่น
  • ใช้กระดาษชำระปิดปากกับจมูกเมื่อต้องไอหรือจาม และนำกระดาษชำระที่ใช้ทิ้งลงถังขยะทันที
  • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากเข้าห้องน้ำ หลังไอ จาม หรือหยิบจับผ้าอ้อม และก่อนเตรียมอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ ช้อนส้อม ผ้าเช็ดตัว และเสื้อผ้าร่วมกับผู้ติดเชื้อ หรือทางที่ดี ไม่ควรใช้สิ่งของดังกล่าวร่วมกับผู้อื่นเลยถึงแม้จะไม่มีการติดเชื้อ เพื่อความสะอาดและป้องกันการติดเชื้ออื่นๆ เพิ่มเติม
  • ฆ่าเชื้อบนสิ่งของหรือพื้นผิวทั้งหมดที่อาจปนเปื้อนเชื้อ
  • ซักผ้าปูเตียง หรือเครื่องนุ่งห่มที่อาจปนเปื้อนเชื้อแยกจากเสื้อผ้าส่วนอื่นด้วยความร้อน 

การรักษาความสะอาด และดูแลสุขอนามัยของตนเองให้สะอาดอยู่เสมอคือ หัวใจหลักที่จะสามารถป้องกันโรคมือเท้าปากได้ และนอกจากตัวคุณเองแล้ว คุณควรสอนให้ลูกรู้จักที่จะดูแลความสะอาดให้กับตนเองด้วย โดยฝึกฝนให้ติดเป็นนิสัย ก็จะช่วยป้องกันเด็กให้ห่างไกลจากโรคมือเท้าปากได้อีกส่วนหนึ่ง เช่น การล้างมือบ่อยๆ การใช้กระดาษชำระเมื่อจามหรือไอ พยายามไม่ใช้สิ่งของที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น


17 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Hand-foot-mouth disease. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/ency/article/000965.htm)
Hand-foot-and-mouth disease: Signs and symptoms. American Academy of Dermatology. (https://www.aad.org/public/diseases/a-z/hand-foot-mouth-symptoms)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปาก

ทั้งอาการ การติดต่อ การป้องกัน การวินิจฉัยโรค การรักษา และภาวะแทรกซ้อน

อ่านเพิ่ม