กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ตะคริวที่นิ้วเท้า แก้อย่างไรให้ถูกวิธี?

เผยแพร่ครั้งแรก 26 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ตะคริวที่นิ้วเท้า แก้อย่างไรให้ถูกวิธี?

ตะคริว (Muscle cramp) เป็นอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในนักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายอย่างหนัก หนึ่งในกล้ามเนื้อที่มีอาการเป็นตะคริวบ่อย คงหนีไม่พ้น นิ้วเท้า โดย ตะคริวที่นิ้วเท้า อาจไม่ได้เจ็บปวดทรมานมากเท่ากับตะคริวที่น่องหรือกล้ามเนื้ออื่นๆ แต่หากเกิดตะคริวที่นิ้วเท้าบ่อยๆ ก็อาจรบกวนชีวิตประจำวัน และเป็นอันตรายขณะทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ว่ายน้ำ หรือขับรถ ได้เช่นกัน

ตะคริวเกิดจากอะไร?

ตะคริว เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหดเกร็งกะทันหัน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดตะคริวนั้นมีมากมาย ยกตัวอย่างเช่น

  • กล้ามเนื้อมีความตึงเครียดมาก จากการถูกใช้งานหรือออกแรงมากเกินไป
  • กล้ามเนื้อขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างฉับพลัน
  • มีของเสียหรือสารพิษสะสมในเซลล์กล้ามเนื้อ เช่น สารตะกั่ว
  • การทำงานของระบบประสาทผิดปกติ เช่น ปลายประสาทอักเสบ
  • ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่บางชนิด เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม
  • มีการติดเชื้อบาดทะยัก ซึ่งสารพิษของเชื้อทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง
  • เป็นผลจากยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาสแตตินสำหรับลดไขมันในเลือด ยาโลซิฟีนสำหรับรักษาโรคกระดูกพรุน เป็นต้น

ใครที่เสี่ยงต่อการเกิดตะคริวที่นิ้วเท้า?

คนที่มีปัจจัยเสี่ยงจะเกิดตะคริวที่นิ้วเท้าได้บ่อยๆ ได้แก่

  • นักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายอย่างหนัก โดยไม่มีการวอร์มและยืดกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธีก่อนออกกำลังกาย ทำให้เกิดตะคริวได้ขณะพัก
  • ผู้สูงอายุ ซึ่งมวลกล้ามเนื้อลดลง ทำให้กล้ามเนื้อเกิดความตึงเครียดได้ง่าย
  • หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นผลมาจากระดับฮอร์โมนและแร่ธาตุในร่างกายแปรปรวน
  • คนที่มีความผิดปกติของระบบประสาท เช่น มีภาวะปลายประสาทอักเสบ ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีภาวะร่างกายขาดน้ำและแร่ธาตุ เช่น มีอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ
  • ผู้ป่วยโรคไต ซึ่งมีสมดุลเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ
  • ผู้ป่วยโรคตับ ซึ่งตับไม่สามารถกำจัดสารพิษได้ ทำให้มีสารพิษสะสมและเกิดกล้ามเนื้อหดเกร็ง
  • คนที่ได้รับสารพิษในปริมาณมาก เช่น สารปรอท สารตะกั่ว
  • ผู้ที่มีฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ ทำให้แคลเซียมในเลือดต่ำ
  • ผู้ที่ติดเชื้อบาดทะยัก
  • คนที่มีไขมันในเลือดสูง และต้องรักษาด้วยยา statin หรือ nicotinic acid
  • คนที่ทานยาขับปัสสาวะเป็นประจำ

ตะคริวที่นิ้วเท้าอันตรายหรือไม่?

ตะคริวมักทำให้รู้สึกเจ็บ ปวดเกร็ง แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหรือเป็นอันตราย แต่อย่างไรก็ตาม การเกิดตะคริวกะทันหันขณะทำกิจกรรมต่างๆ ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น เป็นตะคริวขณะว่ายน้ำ ขับรถ เดิน หรือวิ่ง อาการตะคริวที่นิ้วเท้า จึงเป็นอาการที่ไม่ควรชะล่าใจ

การแก้ไข/รักษาตะคริวที่นิ้วเท้า

หากเกิดอาการตะคริวที่นิ้วเท้าขึ้น ขณะเคลื่อนไหวร่างกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ เรามีวิธีรักษาตะคริวแบบเฉพาะหน้า ดังนี้

  • หยุดพักกิจกรรมที่ทำอยู่ หากตะคริวที่นิ้วเท้าเกิดขึ้นขณะเดิน วิ่ง หรือออกกำลังกาย ให้หยุดและนั่งพักเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว จะทำให้อาการปวดเกร็งค่อยๆ ดีขึ้นได้
  • ยืดกล้ามเนื้อปลายนิ้วเท้า ให้ยืดเหยียดนิ้วเท้าและกล้ามเนื้ออุ้งเท้า โดยนั่งลงและจับนิ้วเท้าดันเข้าหาตัวจนรู้สึกตึงๆ ยืดค้างไว้ประมาณ 30 วินาที จนอาการปวดเกร็งหายไป หรืออีกวิธีหนึ่ง คือให้ใช้ฝ่าเท้าเหยียบลูกเทนนิสและคลึงไปมา จะเป็นการนวดกล้ามเนื้อบริเวณเท้า และทำให้อาการหดเกร็งดีขึ้นได้
  • นวดนิ้วเท้าและฝ่าเท้า ให้เราถอดรองเท้าและถุงเท้าออก จากนั้นใช้มือคลำหากล้ามเนื้อที่แข็งและเป็นตะคริว ใช้นิ้วโป้งกดนวดเบาๆ จนกล้ามเนื้อคลายตัวและอ่อนลง ซึ่งอาจทำไปพร้อมกับการยืดกล้ามเนื้อโดยวิธีดันนิ้วเท้าก็ได้
  • ประคบร้อน-ประคบเย็น หากอาการตะคริวนั้นรุนแรง หรือเป็นนาน และมีอุปกรณ์สำหรับประคบอยู่ใกล้ตัว ให้เริ่มจากการประคบร้อนโดยใช้ถุงน้ำร้อนหรือแผ่นประคบสำเร็จรูปมาวางตรงกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว จนอาการตะคริวหาย แต่หากยังรู้สึกปวดอยู่ ให้ประคบเย็นต่อโดยใช้ผ้าห่อน้ำแข็งหรือขวดน้ำเย็นๆ มาวางบนกล้ามเนื้อประมาณ 10-15 นาที

การป้องกันตะคริวที่นิ้วเท้า

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อที่เท้าแข็งแรงและยืดหยุ่น ช่วยยึดกล้ามเนื้อและเอ็น ลดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งตัว และป้องกันไม่ให้เกิดตะคริวบ่อยๆ ได้ การออกกำลังกายที่แนะนำ ได้แก่ การว่ายน้ำ เล่นโยคะ และเต้นแอโรบิก เป็นต้น
  • ยืดและคลายกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม ก่อนและหลังออกกำลังกาย ควรวอร์มและยืดกล้ามเนื้อให้เข้าที่ก่อนประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ตึงตัวเกิดความยืดหยุ่น โดยอาจใช้วิธีนั่งเหยียดขา เหยียดปลายเท้า หรือยืนเขย่งปลายเท้าติดต่อกัน 15-20 ครั้ง
  • ใส่รองเท้าที่เหมาะกับสรีระ ควรเลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดี และรับกับรูปเท้า หากต้องเดินมากๆ ควรสวมรองเท้าที่นุ่มสบาย และหลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง หรือรองเท้าที่หน้าเท้าแคบเกินไป รวมถึงไม่ควรสวมรองเท้าที่ชำรุด ส้นเท้าสึก เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อที่นิ้วเท้าและฝ่าเท้าหดเกร็งอย่างต่อเนื่อง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ บางครั้งอาการตะคริวก็เกิดขึ้นจากร่างกายขาดน้ำ ดังนั้น เราจึงควรดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะคนที่ออกกำลังกาย และในระหว่างวันก็ควรจิบน้ำบ่อยๆ ด้วย
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และผักผลไม้ที่มีแร่ธาตุจำเป็นครบถ้วน เนื่องจากภาวะที่ร่างกายขาดแร่ธาตุบางชนิด ก็อาจนำไปสู่การเกิดตะคริวได้เช่นกัน


21 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Foot Cramps: What Causes Them, How To Get Rid of Cramps, & Prevention. WebMD. (https://www.webmd.com/pain-management/what-can-i-do-about-foot-cramps)
Toe cramps: 12 causes and home remedies. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/323318)
8 Causes of Foot Cramps at Night and How to Stop Them. Healthline. (https://www.healthline.com/health/foot-cramps-at-night)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
6 วิธีเดินเผาผลาญพลังงาน
6 วิธีเดินเผาผลาญพลังงาน

ใช้เทคนิคต่อไปนี้มาช่วยเผาผลาญพลังงานระหว่างการเดินกันเถอะ

อ่านเพิ่ม
อาหารและเมนูสำหรับกรดไหลย้อน (Heartburn)
อาหารและเมนูสำหรับกรดไหลย้อน (Heartburn)

แค่ปรับอาหารและพฤติกรรมการรับประทานให้เหมาัะสม ก็สามารถรักษาอาการกรดไหลย้อนได้

อ่านเพิ่ม