กระทือ

รู้จัก กระทือ พืชที่ส่วนเหง้าหรือหัวมีสรรพคุณทางยา ช่วยรักษาได้หลายอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงแรกคลอด
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 8 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
กระทือ

ต้นกระทือ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ต่อมาภายหลังได้แพร่กระจายมายังทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย ต้นกระทือจะโทรมในฤดูแล้ง จากนั้นจะขึ้นใหม่ในช่วงฤดูหน้าฝน สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้าหรือที่เรียกว่าหัว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ในที่ที่มีความชื้นพอสมควร และมีแสงแดดส่องตลอดวัน พบขึ้นมากทางภาคใต้ ตามป่าดงดิบ ริมลำธารหรือชายป่า บางคนนำดอกกระทือมาใส่แจกันเป็นดอกไม้ประดับ แต่ในบางภูมิภาคกินกระทือเป็นอาการ เช่น ภาคอีสาน มีการนำดอกกระทือมาต้มกินกับน้ำพริก ภาคใต้ ฝั่งทะเลอันดามัน นำกระทือไปแกงกับปลาย่าง ฯลฯ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber zerumbet (Linn.) Smith.

ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE

ชื่อพ้อง Zingiber amaricans Blume

ชื่อท้องถิ่น กะทือป่า กะแวน กะแอน เปลพ้อ เฮียวข่า เฮียวแดง แฮวดำ

ชนิดย่อยของกระทือ

กระทือ แบ่งออกเป็นหลายชนิด ได้แก่

  • กระทือบ้าน มีลักษณะกาบสีแดงอมม่วง ดอกช่ออัดแน่นทรงกรวยป้อม ใบประดับสีแดง กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ต้นสูงราว 1-1.5 เมตร
  • กระทือป่าเล็ก ลักษณะกาบสีแดงอมม่วง ใบสีเข้มกว่ากระทือบ้าน ดอกช่ออัดแน่นทรงกรวยป้อม ใบประดับสีแดง กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ต้นสูงราว 1 เมตร
  • กระทือป่าใหญ่ สีกาบสีเขียว ใบสีเขียว ดอกช่ออัดแน่นทรงกรวยยาวซึ่งต่างจากกระทือบ้านและกระทือป่าเล็ก ใบประดับสีเขียวอมแดงเข้ม กลีบดอกพบได้ทั้งสีขาว สีเหลืองอ่อน และสีเหลืองเข้ม ต้นสูงราว 1.5-2 เมตร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระทือ

กระทือเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นอยู่เหนือดินสูงราว 0.9-1.5 เมตร และมีเหง้าอยู่ใต้ดินเรียกว่า หัวกระทือ เปลือกนอกของเหง้ามีสีน้ำตาลแกมเหลือง ส่วนเนื้อในมีสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม มีรสขม ขื่น ปร่า และเผ็ดเล็กน้อย ใบโตยาวเขียว ดกหนา ทึบซ้อนกันแผง ลักษณะใบคล้ายรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบและแผ่นใบเรียบ ด้านล่างของใบมักมีขนนุ่ม ดอกออกเป็นก้านแข็งชูขึ้นไปแล้วมีดอกที่ปลายของก้านนั้น ดอกปุ้มๆ กลมยาวคล้ายฟองไข่ เป็นเกล็ดเล็กๆ คล้ายเกล็ดปลา มีดอกเล็กสีเหลืองออกแทรกตามกลีบของเกล็ดนั้น

การเพาะปลูกกระทือ

กระทือสามารถเพาะปลูกได้ทั่วไปในทุกฤดูกาล ชอบดินร่วนซุยและมีความชุ่มชื้น มีการระบายน้ำได้ดี เวลาปลูกใช้วิธีแยกเหง้าจากกอแม่และตัดใบที่ติดมาทิ้งไป เพื่อลดการสูญเสียน้ำ ปลูกลงดินไม่ต้องลึกมากนัก คอยดูแลให้ความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ส่วนที่ใช้เป็นยาของกระทือคือหัวหรือเหง้าสด ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บส่วนเป็นยาคือ ช่วงฤดูแล้ง

สรรพคุณของกระทือ

แต่ละส่วนของกระทือมีสรรพคุณทางยาดังนี้

  • ตามสรรพคุณยาโบราณว่า ลำต้น ราก ดอกและเกสร รสขมขื่น ออกเฝื่อนๆ เล็กน้อย มีสรรพคุณแก้ผอมเหลือง แก้ไข้เรื้อรัง ไข้ตัวเย็น ไข้จับสั่น แก้เบื่ออาหาร แก้ลม บำรุงธาตุ โดยนำส่วนลำต้น ราก ดอกและเกสรมาต้มในน้ำแค่พอเดือด ไม่ต้องเคี่ยวให้น้ำงวดจนเกินไป รับประทานวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ติดต่อ 3-5 วัน
  • ใบ ช่วยขับเลือดเน่าในเรือนไฟ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ขับเลือดเสียในมดลูก ขับน้ำคาวปลา หลังจากคลอดบุตรโดยนำส่วนใบในน้ำเดือด รับประทานวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ติดต่อกัน 7 วันหลังคลอดบุตร
  • หัวและเหง้า มีรสขมขื่นปร่า มีสรรพคุณบำรุงน้ำนม บำรุงธาตุ วิธีใช้คือนำเหง้าไพลและกระทือฝ่านเป็นแว่น แล้วแช่น้ำ ให้สตรีหลังคลอดดื่มเพื่อให้น้ำนมออกมากขึ้น และบำรุงร่างกายของหญิงหลังคลอดเองด้วย
  • หัวและเหง้า มีสรรพคุณขับน้ำย่อยให้ลงสู่ลำไส้ แก้จุกเสียด แก้ปวดมวน แก้บิด ขับลมผาย ขับปัสสาวะ โดยนำเหง้า เผาไฟให้สุกนำไปฝนกับน้ำปูนใส รับประทานแก้บิดปวดเบ่ง แก้ แน่นท้อง ปวดบวม แก้เบื่ออาหาร แก้เสมหะเป็นพิษ แก้แน่นอก ขับเสมหะ และยังกล่าวอีกว่ากะทือป่ามีสรรพคุณแรงกว่ากะทือบ้าน และขับน้ำย่อยอาหาร แก้จุกเสียดดีกว่ากะทือบ้าน

กระทือกับสรรพคุณบำรุงน้ำนมในมารดาหลังคลอดบุตร

หัวกระทือประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) ซึ่งประกอบด้วยสาร Methyl-gingerol, Zingerone, Citral เป็นต้น น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ขับลมได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในระดับคลินิกที่รองรับว่า มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้เซลล์เต้านมนั้นเพิ่มการสร้างน้ำนมมากขึ้นได้ ส่วนด้านความเป็นพิษ กองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีรายงานว่า กระทือไม่มีพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาความเป็นพิษในคน ฉะนั้นการรับประทานกระทือที่เหมาะสมคือไม่รับประทานในปริมาณที่มากเกินไป หรือติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน ควรผลัดเปลี่ยนสมุนไพรตัวอื่นๆ ที่สามารถช่วยบำรุงน้ำนมได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ระย่อม มะละกอ ขิง เป็นต้น


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, ไม้เทศเมืองไทย, 2522.
มูลนิธิส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิมฯ, ตำราเภสัชกรรมไทย, 2547.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อาหารคุณแม่หลังคลอดและให้นมลูก
อาหารคุณแม่หลังคลอดและให้นมลูก

แหล่งสารอาหารหลังคลอด สำหรับคุณแม่ ทั้งคลอดธรรมชาติและผ่าคลอด คลอดใหม่ๆ ควรกินอะไร ถ้าต้องให้นมลูก กินอะไรจะดีที่สุด อ่านได้ที่นี่!

อ่านเพิ่ม