ทับหม้อเกลือ ภูมิปัญญาไทยเพื่อหญิงหลังคลอด

การทับหม้อเกลือมีประโยชน์กับมารดาหลังคลอดอย่างไร ถ้าไม่ตั้งครรภ์สามารถทับหม้อเกลือได้ไหม?
เผยแพร่ครั้งแรก 3 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ทับหม้อเกลือ ภูมิปัญญาไทยเพื่อหญิงหลังคลอด

คำว่า ”อยู่ไฟหลังคลอด” นั้น หมายถึงการทำหัตถการต่างๆ ที่มีความร้อน ช่วยเพิ่มความร้อนให้แก่ร่างกาย ทำให้กระบวนการเผาผลาญและกระบวนการขับถ่ายของเสียเกิดขึ้นเป็นปกติ เช่น การประคบสมุนไพร อบไอน้ำสมุนไพร ตามหลักการแพทย์แผนไทยมีความเชื่อว่า หลังการคลอดบุตรมารดาจะสูญเสียธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ลม และธาตุไฟ เปรียบได้กับของเหลวหรือเลือด อุณหภูมิ และการปรับสมดุลของฮอร์โมนนั้นยังไม่คงที่ จึงต้องทำการอยู่ไฟเพื่อปรับสมดุลของธาตุต่างในร่างกายให้อยู่ในสภาวะปกติ ป้องกันการเกิดโรคต่างๆ อีกวิธีหนึ่งซึ่งอาจไม่ค่อยพบเห็นมากแล้ว แต่อยู่ในกลุ่มของการอยู่ไฟแบบไทยๆ ได้แก่ “การทับหม้อเกลือ”

การทับหม้อเกลือคืออะไร?

การทับหม้อเกลือเป็นหนึ่งในวิธีการฟื้นฟูสภาพในหญิงหลังคลอด โดยการใช้หม้อที่มีเกลืออยู่ด้านในทับบริเวณหน้าท้อง ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ขับน้ำคาวปลา (น้ำที่เป็นของเสียหลังจากการคลอด โดยปกติมีลักษณะเป็นสีเลือดจางๆ จะหมดภายใน 3-4 สัปดาห์หลังคลอด) ความร้อนจากหม้อเกลือยังช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดและน้ำเหลืองดีขึ้น เมื่อเลือดไหลเวียนดีแล้วจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย รักษาอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกได้ นอกจากนี้ความร้อนจะกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญไขมันบริเวณหน้าท้อง ช่วยให้หน้าท้องยุบได้บ้างเล็กน้อย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

วิธีการเตรียมหม้อเกลือและวิธีทับหม้อเกลือ

ขั้นตอนแรกนำผ้าขาวบางปู จากนั้นนำสมุนไพรหั่นและตำให้แหลกพอประมาณมาผสมกับการบูรเล็กน้อย โดยสมุนไพรที่ใช้ในการทับหม้อเกลือส่วนใหญ่จะเป็นสมุนไพรฤทธิ์ร้อน และมีสรรพคุณที่ช่วยให้มดลูกเข้าอู่และขับน้ำคาวปลา เช่น ไพล ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ เป็นต้น จากนั้นใช้ใบพลับพลึงวางบนสมุนไพร ไขว้กันประมาณ 3-4 ใบ ขั้นตอนต่อไปคือการเตรียมหม้อเกลือโดยให้นำเกลือใส่หม้อดินเล็ก ตั้งไฟจนเม็ดเกลือแตก นำไปวางบนใบพลับพลึง (ช่วยไม่ให้หม้อเกลือร้อนจนเกินไปและช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อได้) จับมุมผ้าทั้งสี่ด้านและใช้เชือกรัดห่อให้เหมือนลูกประคบ จากนั้นนวดโกยท้อง 1 รอบและใช้หม้อเกลือทับบริเวณท้องน้อย สะโพก ขา ทำประมาณ 5-6 ครั้ง ขั้นตอนการนวดและการทับหม้อเกลือควรอยู่ในความดูแลของแพทย์แผนไทย เนื่องจากบริเวณท้องมีอวัยวะที่สำคัญหลายอย่าง อาจเกิดการระบมและช้ำได้ง่าย

การทับหม้อเกลือต่างจากการประคบสมุนไพรอย่างไร?

ทั้งการประคบสมุนไพรและทับหม้อเกลือต่างช่วยทำให้การไหลเวียนของโลหิตและนำเหลืองดีขึ้น ช่วยลดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายมารดาหลังคลอดได้

สิ่งที่แตกต่างกันคือสรรพคุณของสมุนไพรที่ใช้ ส่วนใหญ่ในลูกประคบจะเน้นสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการปวด คลายกล้ามเนื้อ และลดการอักเสบ แต่สมุนไพรที่ใช้ในการทับหม้อเกลือจะเน้นเรื่องการขับน้ำคาวปลาและช่วยให้มดลูกเข้าอู่เป็นหลัก นอกจากนี้การใช้หม้อเกลือจะช่วยเก็บความร้อนดีกว่าการใช้ลูกประคบอีกด้วย

ผ่าตัดคลอด ทับหม้อเกลือได้ไหม?

หญิงผ่าคลอดสามารถทับหม้อเกลือได้ แต่จะต้องทำหลังคลอดเกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน เนื่องจากต้องรอให้แผลผ่าตัดหายดีและไม่นานจนเกินไปก่อนมดลูกจะเข้าอู่ ส่วนหญิงที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติสามารถทับหม้อเกลือได้เลยหลังจากคลอด 1 สัปดาห์

ไม่ว่าจะคลอดแบบไหน ควรทับหม้อเกลือเพียงวันละไม่เกิน 1 ครั้ง ติดต่อ 3-7 วัน แล้วแต่สภาพร่างกายของหญิงหลังคลอด โดยหากเป็นท้องแรกจะฟื้นฟูได้เร็วกว่า

ข้อควรระวังในการทับหม้อเกลือ

แม้การทับหม้อเกลือจะให้ประโยชน์ต่อหญิงหลังคลอดมาก แต่เพื่อความปลอดภัย ควรระมัดระวังสิ่งต่อไปนี้

  • ระวังความร้อนจากหม้อเกลือ ไม่ควรวางหม้อเกลือหรือกดแช่นานเกินไป อาจทำให้ผิวไหม้ได้
  • ควรระวังผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง อาจเกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนระหว่างทำหัตถการ
  • ไม่ควรทับหม้อเกลือถึงใต้อก เนื่องจากเป็นบริเวณเนื้ออ่อน ผิวอาจจะไหม้และอาจทำให้มีอาการจุกเสียด
  • ห้ามทำในหญิงหลังคลอดที่มีไข้สูงเกิน 37 องศา และหากมีอาการตกเลือดหลังคลอดไม่ควรทับหม้อเกลือ
  • ควรทำหลังจากรับประทานอาหารแล้วเกิน 1 ชั่วโมง

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการพัฒนาแนวทางการผดุงครรภ์มารดาด้วยการแพทย์แผนไทย, คู่มือแนวทางการผดุงครรภ์มารดาด้วยการแพทย์แผนไทย, กรุงเทพมหานคร. สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระราชูปถุมภ์, 2557.
เนาวรัตน์ สุนทรัช ,อารีพร กลิ่นเฟื่อง และอรนุช เชาว์ปรีชา, ผดุงครรภ์ โรงเรียนอายุรเวท สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์, การดูแลมารดาหลังคลอดด้วยวิธีการแพทย์แผนไทย, กรุงเทพมหานคร, 2545.
สิรินทิพย์ วิชญวรนันท์, คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, การทับหม้อเกลือ (http://www.ttmed.psu.ac.th/blog.php?p=15), 11 มกราคม 2553.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
กระทือ
กระทือ

รู้จัก กระทือ พืชที่ส่วนเหง้าหรือหัวมีสรรพคุณทางยา ช่วยรักษาได้หลายอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงแรกคลอด

อ่านเพิ่ม
อาหารคุณแม่หลังคลอดและให้นมลูก
อาหารคุณแม่หลังคลอดและให้นมลูก

แหล่งสารอาหารหลังคลอด สำหรับคุณแม่ ทั้งคลอดธรรมชาติและผ่าคลอด คลอดใหม่ๆ ควรกินอะไร ถ้าต้องให้นมลูก กินอะไรจะดีที่สุด อ่านได้ที่นี่!

อ่านเพิ่ม