ว่านชักมดลูก (Curcuma comosa)

ว่านชักมดลูก สมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณบำรุงสตรี รู้จักว่านชักมดลูกหลากหลายรูปแบบ รวมถึงข้อห้ามและผลข้างเคียงของการกินว่านชักมดลูก
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 7 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ว่านชักมดลูก (Curcuma comosa)

ว่านชักมดลูก เป็นสมุนไพรในตระกูลเดียวกับขมิ้น มีสรรพคุณตามตำรายาไทยคือใช้รักษากลุ่มอาการของสตรีที่โบราณใช้กันมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ว่านชักมดลูกยังเป็นส่วนประกอบหลักในการทับหม้อเกลือที่ใช้ดูแลหญิงหลังคลอดบุตรอีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma xanthorrhiza Roxb.

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE

ชื่อพ้อง Curcuma comosa Roxb.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของว่านชักมดลูก

ว่านชักมดลูกจัดเป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 2 เมตร เหง้ายาวได้ถึง 10 เซนติเมตร ผิวนอกสีส้มอ่อน เนื้อในสีส้มหรือส้มแดง ใบเดี่ยว เรียงเป็นกระจุกใกล้รากรูปขอบขนานแกมวงรี กว้าง 15-21 เซนติเมตร ยาว 40-90 เซนติเมตร มีแถบสีม่วงเข้มกว้างได้ถึง 10 เซนติเมตร กาบใบยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร ดอกช่อเชิงลดรูปทรงกระบอก กว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาว 16-20 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 15-20 เซนติเมตร ใบประดับที่ไม่ได้รองรับดอกย่อยสีม่วง ยาวได้ถึง 9 เซนติเมตร ใบประดับย่อยยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร กลีบดอกสีชมพู เกสรตัวผู้ที่เป็นหมันสีขาว กลีบปากสีเหลืองแถบกลางสีเหลืองเข้ม

หมายเหตุ : ว่านชักมดลูกมีหลากหลายสายพันธุ์ สำหรับในประเทศไทย ที่พบมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ว่านชักมดลูกตัวเมีย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma comosa Roxb. กับว่านชักมดลูกตัวผู้ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Curcuma latifolia Roscoe สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงว่านชักมดลูกตัวเมีย

ความแตกต่างระหว่างว่านชักมดลูกตัวเมียและตัวผู้

ว่านชักมดลูกตัวเมียจะมีลักษณะของหัวกลมรีตามแนวตั้ง มีแขนงสั้น ส่วนว่านชักมดลูกตัวผู้นั้นมีลักษณะต่างจากตัวเมียตรงที่หัวใต้ดินจะกลมแป้นมากกว่า และแขนงจะยาวมากกว่า บางครั้งเมื่อนำมาเทียบกันทั้งตัวเมียและตัวผู้จะคล้ายกันมาก

สรรพคุณของว่านชักมดลูก

ว่านชักมดลูกมีสรรพคุณหลายอย่าง ส่วนใหญ่เน้นทางอาการผิดปกติของสตรี ดังนี้

  • ตามตำราแพทย์แผนไทยระบุว่า ส่วนหัวใช้ฝนกับน้ำสุรารับประทานแก้ปวดมดลูก
  • ใช้ปรุงเป็นยาต้ม แก้มดลูกพิการ แก้มดลูกปวดบวมและอักเสบ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ แก้ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน แก้ตกขาว
  • สำหรับสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ๆ ให้รับประทานตำรับยาที่มีส่วนประกอบของว่านชักมดลูก จะทำให้มดลูกรัดตัวเล็กลง หรือที่เรียกว่า มดลูกเข้าอู่ และจะช่วยขับน้ำคาวปลา
  • ว่านชักมดลูกเป็นส่วนประกอบหลักในการทับหม้อเกลือ ที่ใช้ดูแลหญิงหลังคลอดบุตร
  • ในปัจจุบันมีการนำว่านชักมดลูกผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลากหลายรูปแบบ ส่วนมากจะพบเป็นรูปแบบอบแห้งแล้วบดเป็นผง บรรจุในแคปซูล ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนนำบริโภคควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรด้วยเสมอ

ทับหม้อเกลือคืออะไร?

  • การทับหม้อเกลือ เป็นวิธีการหนึ่งของการดูแลสุขภาพในมารดาหลังคลอดที่มีมาอย่างช้านาน ซึ่งจะช่วยขับน้ำคาวปลาให้ไหลสะดวก ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น โดยความร้อนจะช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น
  • การทับหม้อเกลือมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ ขั้นตอนแรกเตรียมหม้อเกลือจำนวน 2 หม้อ ให้ความร้อนจนกระทั่งได้ยินเสียงเกลือแตก จากนั้นนำมาห่อด้วยผ้าดิบโดยรองสมุนไพรไว้ด้านล่าง ซึ่งได้แก่ ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ว่านมหาเมฆ และไพล ขั้นตอนที่สองให้มารดาหลังคลอดอยู่ในท่านอนหงาย แล้วทับหม้อเกลือบริเวณท้อง ที่ตำแหน่งของมดลูกนาน 30 วินาที แล้วคลายออกเป็นระยะๆ

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการรับประทานว่านชักมดลูก

  • ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากรับประทานว่านชักมดลูก คืออาจมีตกขาวปริมาณมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป ไม่ถือว่าผิดปกติ และสามารถรับประทานว่านชักมดลูกต่อไปได้ แต่หากตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีสีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น มีสีเขียว สีเหลือง สีน้ำตาล หากมีอาการเช่นนี้ถือว่าผิดปกติ ให้ปรึกษาแพทย์ทันที
  • ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ มีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ตัวร้อน มีอาการไอเหมือนจะเป็นไข้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้สตรีที่ร่างไม่แข็งแรง แต่แนะนำว่าให้หยุดรับประทานสักพักจนกว่าอาการไข้จะหายไป แล้วให้รับประทานต่อในปริมาณที่ลดลงครึ่งหนึ่ง หรือสำหรับผู้ไม่ได้มีอาการไข้ให้เริ่มรับประทานในปริมาณน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น
  • หากมีผื่นขึ้นบริเวณผิวหนังและตามลำตัว แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ให้หยุดรับประทาน เพราะเป็นอาการที่บ่งบอกถึงอาการแพ้สมุนไพร
  • สำหรับสตรีวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน หลังจากรับประทานอาจจะมีประจำเดือนใหม่เกิดขึ้นได้ สามารถรับประทานต่อไปได้ ประจำเดือนก็จะค่อยๆ หมดไปเอง

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, ไม้เทศเมืองไทย, 2522.
มูลนิธิส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิมฯ, ตำราเภสัชกรรมไทย, 2547.
มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม, โรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ตำราการแพทย์แผนไทยเดิม (แพทยศาสตร์สงเคราะห์ฉบับอนุรักษ์) เล่มที่ ๑ ฉบับชำระ พ.ศ.๒๕๕๐, 2550.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
สรรพคุณของว่านชักมดลูก
สรรพคุณของว่านชักมดลูก

หาคำตอบถึงสรรพคุณของว่านชักมดลูก อย่างถูกต้องและมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ

อ่านเพิ่ม