กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ริมฝีปากเขียวคล้ำ (Blue Lips)

ริมฝีปากเขียวคล้ำ มักมีสาเหตุมาจากออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงต่ำ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะทางการแพทย์ที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต
เผยแพร่ครั้งแรก 26 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 25 ม.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ริมฝีปากเขียวคล้ำ (Blue Lips)

อาการริมฝีปากเป็นสีเขียวคล้ำ (Blue Lips) อาจบ่งบอกถึงการมีออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงต่ำลง และอาจหมายถึงร่างกายมีปริมาณฮีโมโกลบินผิดปกติในเลือดจำนวนมาก ถ้าริมฝีปากกลับมาเป็นสีปกติด้วยการประคบร้อนหรือการนวด อาจหมายถึงริมฝีปากอยู่ในภาวะที่ได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษารอยแตกลาย รอยคล้ำ วันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 89%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุของริมฝีปากเขียวคล้ำ

อาการริมฝีปากเขียวคล้ำ อาจเกิดได้จากโรคหรือภาวะทางการแพทย์ดังต่อไปนี้

  • โรคที่เกิดจากการขึ้นที่สูง (Acute Mountain Sickness) : เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเดินทางขึ้นที่สูงตั้งแต่ 2,400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป ซึ่งมีระดับออกซิเจนต่ำ และมีความกดอากาศต่ำ อาจพบอาการที่ไม่รุนแรงตั้งแต่ เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก ไปจนถึงอาการรุนแรงที่เกิดจากการสะสมของของเหลวที่ปอดและสมอง เช่น ผิวหนังเปลี่ยนสี ไม่สามารถเดินได้ หรือสูญเสียการทรงตัว เป็นต้น
  • ปอดอักเสบจากการสำลัก (Aspiration Pneumonia) : เกิดการติดเชื้อที่ปอดจากการสำลักอาหาร มีกรดในกระเพาะอาหาร หรือน้ำลายลงสู่ปอดโดยไม่ได้ตั้งใจ พบได้บ่อยในผู้ที่มีปัญหาการไอหรือการกลืน อาการของปอดอักเสบ ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย เหงื่อออกมาก
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease (COPD)) : มีสาเหตุจากถุงลมและหลอดลมได้รับความเสียหาย ในระยะแรกจะรู้สึกหายใจลำบากเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะหลังออกกำลังกาย มีอาการไอเรื้อรังที่ไม่รุนแรง แต่ต้องบ้วนเสมหะออกเป็นประจำ อาจมีภาวะแทรกซ้อนเช่น ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือเป็นไข้หวัดใหญ่บ่อยครั้ง
  • โรคปอดบวมน้ำ (Pulmonary Edema) : เป็นสภาวะที่มีของเหลวคั่งอยู่ในปอด ทำให้ออกซิเจนไม่สามารถแลกเปลี่ยนไปอยู่ในเลือดได้ จึงทำให้รู้สึกหายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด มีน้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะที่ขา มีอาการบวมที่ส่วนล่างของร่างกาย และอ่อนเพลีย
  • กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress) : เกิดจากปอดอักเสบอย่างรุนแรง เพราะมีการสะสมของของเหลวในปอดอย่างรวดเร็ว ปริมาณออกซิเจนในเลือดจึงต่ำลงและปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดกลับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะอื่นในร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว กล้ามเนื้อล้า อ่อนแรง ความดันโลหิตต่ำ สีผิวหรือสีเล็บเปลี่ยนแปลง
  • พิษจากก๊าชคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide Poisoning) : การหายใจเอาก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปมากเกินไปอาจทำให้อวัยวะภายในร่างกายได้รับความเสียหายเนื่องจากการได้รับออกซิเจนลดลง ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อ่อนแรง ง่วงนอนมากกว่าปกติ คลื่นไส้ อาเจียน สับสน และหมดสติ ภาวะนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
  • ถุงลมโป่งพอง (Emphysema) : เกิดจากถุงลมที่อยู่ในปอดถูกทำลาย ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหายใจลำบาก และมีอาการไอ ในระหว่างการออกกำลังกายหรือระหว่างการออกแรง หากมีความรุนแรง จะทำให้ริมฝีปากหรือเล็บเป็นสีเขียวคล้ำ เนื่องจากขาดออกซิเจน
  • ภาวะปอดรั่ว หรือ ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax) : เกิดขึ้นเมื่ออากาศรั่วออกมาที่ช่องว่างรอบๆ ปอด การเปลี่ยนแปลงของแรงดันที่เกิดจากการมีรูเปิดที่ผนังปอดจะทำให้ปอดแฟบลงและเป็นการเพิ่มแรงดันไปที่หัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการ เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน ปวดบริเวณหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก อาการเขียวคล้ำ และหัวใจเต้นเร็วอย่างรุนแรง ภาวะนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด
  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism) : เกิดขึ้นจากการมีลิ่มเลือดอุดกั้นในเส้นเลือดดำที่เข้าสู่ปอด ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆ ของปอดลดลง ทำให้เกิดอาการปวด และเป็นการขัดขวางไม่ให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย อาการที่พบบ่อยของโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ได้แก่ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกเหมือนถูกทิ่มแทงขณะหายใจลึกๆ ไอเป็นเลือด หัวใจเต้นเร็ว และเวียนศีรษะหรือหน้ามืด จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
  • อาการเขียวคล้ำ (Cyanosis) : เกิดจากการลดลงของออกซิเจนในเลือดและการไหลเวียนเลือดที่แย่ลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวและเยื่อเมือกของร่างกายเป็นสีม่วง หรือสีเขียว โรคนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
  • โรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia) : เป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่ทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติ คือ มีรูปร่างเหมือนพระจันทร์เสี้ยว หรือเป็นรูปเคียว จึงมีแนวโน้มที่จะอุดตันอยู่ภายในเส้นเลือดขนาดเล็ก ทำให้เกิดการขัดขวางการไหลเวียนเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการอ่อนเพลียมาก ผิวหนังมีสีซีด ตัวเหลือง บวมและปวดที่มือและเท้า ติดเชื้อบ่อย
  • หอบหืด (Asthma) : โรคปอดที่มีการอักเสบอย่างเรื้อรัง เมื่อได้รับปัจจัยกระตุ้นจะทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง ผู้ป่วยจะมีอาการ ไอแห้ง หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจหอบเหนื่อย
  • ภาวะบีบรัดหัวใจ (Cardiac Tamponade) : เป็นภาวะฉุกเฉินทางโรคหัวใจ ซึ่งมีเลือดหรือน้ำปริมาณมากอยู่ในถุงเยื่อหุ้มหัวใจ ทำให้หัวใจห้องล่างไม่สามารถคลายตัวได้เต็มที่ และหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีอาการเจ็บหน้าอกร้าวไปที่คอ ไหล่ หรือหลัง และรู้สึกเหนื่อย หากมีอาการรุนแรงอาจหายใจลำบาก แขนขาเป็นสีม่วง และหมดสติ จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยด่วน
  • ปรากฏการณ์เรเนาด์ (Raynaud’s Phenomenon) : ภาวะที่มีการขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังนิ้วมือ นิ้วเท้า หู หรือจมูก จากการหดตัวของหลอดเลือด เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นเอง หรือเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคข้ออักเสบ, เนื้อเยื่อถูกทำลายเพราะความเย็นจัด (Frostbite) หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disease) จะพบการเปลี่ยนสีของนิ้วมือ นิ้วเท้า หู หรือจมูก เป็นสีม่วง เขียวคล้ำ หรือสีขาว
  • โรคเลือดข้น หรือ ภาวะเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ (Polycythemia Vera) : เป็นโรคของไขกระดูกที่มีการสร้างเม็ดเลือดแดงออกมามากเกินไป  
  • หัวใจห้องขวาล้มเหลวที่มีสาเหตุมาจากปอด (Cor Pulmonale) : หัวใจห้องขวาทำงานน้อยลงเนื่องจากมีความดันโลหิตในปอดสูงขึ้นเป็นเวลานาน
  • ภาวะเลือดเป็นพิษ (Septicemia) : เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในเลือด ทำให้ริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำได้

หากพบผู้ป่วยที่มีอาการริมฝีปากเขียวคล้ำเกิดพร้อมกับอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก เหงื่อออกมาก ปวดหรือชาที่แขน มือ หรือนิ้วมือ ให้รีบโทรเรียกรถพยาบาล หรือสายด่วน 1669 ทันที

การวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุ

แพทย์จะใช้วิธีวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดจากปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) ซึ่งเป็นวิธีวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดที่ง่ายที่สุด และการเจาะเลือดเพื่อวิเคราะห์ก๊าซในเลือดแดง (Arterial Blood Gases) เพื่อวัดปริมาณออกซิเจนและตรวจหาปัจจัยอื่นที่อาจทำให้เกิดอาการริมฝีปากสีเขียวคล้ำ

บางกรณีอาจไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดจากปลายนิ้วเพื่อหาสาเหตุของอาการริมฝีปากสีเขียวคล้ำ เพราะถ้าผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง หรือปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอื่นๆ แพทย์ก็สามารถสรุปได้เลยว่าอาการริมฝีปากเขียวคล้ำ เกิดขึ้นจากสาเหตุดังกล่าวแน่นอน

การรักษาอาการริมฝีปากสีเขียวคล้ำ

การรักษาอาการริมฝีปากสีเขียวคล้ำจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การไหลเวียนเลือดที่มีออกซิเจนสูงกลับสู่ริมฝีปากได้อีกครั้งซึ่งแพทย์อาจจะรักษาด้วยวิธีเบื้องต้นดังต่อไปนี้

  • ถ้าผู้ป่วยใช้ยาลดความดันโลหิต ยาในกลุ่ม Beta-blockers หรือยาละลายลิ่มเลือด แพทย์อาจต้องปรับขนาดยาเหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าปริมาณเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงในร่างกายอยู่ในระดับที่สมดุล
  • ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาจมีความเป็นไปได้ว่าริมฝีปากสีเขียวคล้ำจะเป็นการบ่งชี้ว่าอาการแย่ลง ในกรณีนี้ แพทย์อาจแนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หยุดสูบบุหรี่ และเริ่มออกกำลังกายที่จะช่วยให้ระบบหายใจและระบบหลอดเลือดทำงานดีขึ้น

ที่มาของข้อมูล

JC Jones MA and Kathryn Watson, What’s Causing My Blue Lips? (https://www.healthline.com/health/blue-lips), December 15, 2016.


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Blue Lips: Causes, Photos, and Treatments. Healthline. (https://www.healthline.com/health/blue-lips)
Blue skin or lips (cyanosis). NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/blue-skin-or-lips-cyanosis/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)