April 23, 2017 16:46
ตอบโดย
ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)
อาการปวดศีรษะส่วนใหญ่มักจะไม่ได้มีสาเหตุที่ร้ายแรงและอาจบรรเทาไปเองได้ เมื่อปวดศีรษะคงไม่แปลกที่หลายคนจะกังวลกลัวจะเป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงไว้ก่อน แต่ทางที่ดีควรใจเย็นๆ และสังเกตอาการ หาความสัมพันธ์ว่าปวดศีรษะนั้นๆมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ปวดซ้ำๆเช่น อาการปวดศีรษะเป็นบริเวณไหน ปวดอย่างไร มักเป็นเวลาไหนอะไรทำให้อาการดีขึ้นอะไรทำให้อาการแย่ลงและมีอาการใดนำหรือตามหลัง
อาการปวดศีรษะที่สำคัญและพบบ่อยมาจากโรคต่อไปนี้
1.ปวดศีรษะจากความเครียดและกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension headache)
เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบศีรษะ ผู้ป่วยจะรู้สึกมึนศีรษะเหมือนสมองถูกบีบรัดอาการปวดอาจร้าวลงท้ายทอยหรือร้าวลงบ่าไหล่ บางคนอาจมีอาการปวดเป็นจุดวงกว้างบนศีรษะและอาจพบอาการปวดบริเวณเบ้าตาร่วมได้อาจทำให้มีอาการคลื่่นไส้บางครั้ง การเดินหรือวิ่งอาจทำให้รู้สึกปวดเพิ่มได้ ส่วนมากอาการมักเกิดช่วงบ่ายหลังการทำงานล้ามาทั้งวัน
- สาเหตุของโรคส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้คือ การพักผ่อนไม่พอเพียงการมีความเคร่งเครียดบางรายพบอาการหลังดื่มแอลกอฮอล์
- การรักษา พักผ่อนให้เพียงพอและเป็นเวลาและหลับสนิทเพราะจะเป็นการคลายกล้ามเนื้อที่ดีที่สุด การหลีกเลี่ยงการทำงานเมื่อยล้าต่อเนื่องเป็นเวลานานหากอาการไม่ทุเลาควรพบแพทย์เพื่อให้ยาที่คลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อยาบรรเทาอาการปวด
2.ปวดศีรษะจากหลอดเลือด (Vascular headache) แบ่งย่อยได้เป็น
2.1 ไมเกรน เป็นโรคที่พบในคนอายุน้อยถึงวัยกลางคนมักพบในเพศหญิงมากกว่าชาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดศีรษะบีบๆบริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่ง (บางรายปวดขมับทั้งสองข้างพร้อมๆกันได้) อาการปวดมักร้าวไปกระบอกตาและมีอาการคลื่นใส้อาเจียนร่วมด้วย อาจมีอาการนำก่อนเกิดอาการปวดศีรษะ เช่น เห็นแสงระยิบระยับ เห็นเส้นซิกแซกพาดเป็นแนว อาการปวดศีรษะของไมเกรนนี้เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดที่อยู่ชิดกับเยื่อหุ้มสมองหลังจากได้รับการกระตุ้นจากการไม่สบายของร่างกายและจิตใจ
- สิ่งกระตุ้นให้เกิดไมเกรน ได้แก่ การนอนพักผ่อนไม่สมดุลย์พอเพียง ความวิตกกังวล ร้อน ความตื่นเต้นตกใจ แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นไม่ชอบ เช่น กลิ่นบุหรี่ ไอเสีย น้ำมัน น้ำหอม กลิ่นอาหาร ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง เช่น (ก่อน/ระหว่าง/หลัง) มีประจำเดือนหรือการใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิด
- การป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงจากปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดไมเกรน ถ้าผู้ป่วยยังคงมีอาการบ่อยมาก ปวดรุนแรงมากหรือรบกวนการดำลงชีวิตประจำวัน
- การรักษา ต้องเข้าใจว่าไมเกรนเป็นโรคที่ไม่หายขาด การรักษาจะช่วยทำให้ความรุนแรงลดลงและการเกิดไมเกรนห่างออกไปและไม่รบกวนชีวิตประจำวัน ในช่วงที่มีอาการปวดรุนแรงแนะนำให้พักหลับในที่เงียบ มืดจะดีที่สุด หากอาการปวดไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยาที่เหมาะสมไม่ควรซื้อยาทานเองเพราะยาจะมีอาการข้างเคียงได้หลายรูปแบบ
- ยาที่ใช้แบ่งเป็น
* ยาที่ใช้เมื่อมีอาการเฉียบพลัน ควรใช้เป็นครั้งคราวหากจำเป็นใช้ต่อเนื่องควรใช้ระยะสั้นๆ เนื่องจากบางชนิดอาจมีผลระคายเคืองกระเพาะอาหาร
* ยาใช้ในการป้องกัน ใช้ในผู้ป่วยที่ปวดต่อเนื่องมากกว่า 2-3 วันต่อสัปดาห์ ผลข้างเคียงจะต่ำกว่าและทำให้การปวดลดความถี่และความรุนแรงลง ซึ่งจำเป็นต้องปรับยากับแพทย์
2.2 ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ เป็นโรคที่พบได้น้อยมักพบในผู้ชายอายุ 20 - 40 ปี มักปวดศีรษะซีกเดียวหรือหน้าครึ่งซีกโดยเฉพาะกระบอกตาลึกๆและบริเวณใกล้เคียง มีตาแดง น้ำตาไหล และคัดจมูกในด้านเดียวกัน จะไม่มีคลื่นใส้อาเจียนซึ่งมีความต่างจากไมเกรน อาการปวดมักมาเป็นชุดๆตามชื่อ (คลัสเตอร์แปลว่าเป็นกลุ่มๆ) ในช่วงที่โรคกำเริบจะเกิดอาการหลังมีการกระตุ้นจากแอลกอฮอล์ การเดินทาง การขึ้นที่สูง ได้ยากลุ่มไนเตรท อาหารที่มีไนเตรท แต่ในช่วงที่โรคสงบตัวสิ่งกระตุ้นดังกล่าวจะไม่มีผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ
3.อาการปวดศีรษะที่เกิดจากความผิดปกติในสมอง
เป็นกลุ่มอาการที่มีความสำคัญมากที่แพทย์ต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม ได้แก่
- เนื้องอกในสมองชนิดต่างๆ
- การติดเชื้อเยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้อสมอง ฝีในสมอง
- เส้นเลือดสมองแตก มีเลือดออกในสมอง
- เส้นเลือดสมองสานตัวต่อผิดปกติ หรือโป่งพอง
- พยาธิเข้าในเยื้อหุ้มสมองหรือเนื้อสมอง
อาการปวดศีรษะจากโรคในกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่มีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆเป็นลำดับ จากสิ่งที่ผิดปกติมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆทำให้ความดันในช่องศีรษะที่เพิ่มขึ้น อาการปวดจะอยู่ลึกๆในศีรษะและมีอาการทางระบบประสาทปรากฎร่วม เช่น มีอาการแขนขาอ่อนแรง/ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัดกลืนสำลักหรือการได้ยินลดลงอาเจียนพุ่ง ซึม ชัก หมดสติได้
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ตอบโดย
รัชนี รุ่งราตรี (พญว.)
สำหรับสาเหตุของอาการปวดศีรษะนั้นมีได้หลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อยมักเกิดจากความเครียด สภาพแวดล้อม อารมณ์ การพักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดศีรษะบริเวณขมับ ท้ายทอย ปวดรัดตึงรอบศีรษะ นอนไม่หลับ บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย เป็นต้น
ในเบื้องต้นการรักษาอาการปวดศีรษะนั้นเป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยากลุ่ม NSAIDs การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกาย เป็นต้น แต่การรับประทานยาแก้ปวดนั้นควรอยู่ในการแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เนื่องจาก ยาอาจมีผลข้างเคียงและเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ ตัวอย่างยาแก้ปวดที่ใช้บ่อย คือ ยาพาราเซตามอล ไม่ควรรับประทานเกิน 8 เม็ดต่อวัน เนื่องจากเป็นพิษต่อตับ และยากลุ่ม NSAIDs มีผลทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผล หรือมีผลต่อไตได้ค่ะ
นอกจากนี้ อาการปวดศีรษะอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกถึงโรคที่มีสาเหตุเฉพาะ เช่น เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะหรือโรคเหล่านี้มีอันตรายถึงแก่ชีวิตหรืออาจทุพพลภาพได้หากการรักษาล่าช้า ทั้งนี้ อาการที่ผู้ป่วยและญาติควรสังเกต ได้แก่ อาการปวดศีรษะรุนแรงกะทันหันแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ก้มคอแล้วอาการปวดเป็นมากขึ้น จนบางครั้งมีอาการคอแข็ง มีไข้ อาการปวดศีรษะเป็นมากช่วงเช้า อาจมีอาเจียนร่วมด้วย อาการปวดศีรษะสัมพันธ์กับท่านั่ง ท่านอน ไอ จาม เบ่งแล้วปวดศีรษะมากขึ้น อาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ชักเกร็งกระตุก ซึมหรือหมดสติ อ่อนแรงหรือชาแขนขา ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เดินเซ มองเห็นภาพลดลง หรือมองเห็นภาพซ้อน เป็นต้น
หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ หรือเรียกรถพยาบาลเพื่อพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากรักษาไม่ทันท่วงที
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปวดหัวบ่อยๆทำไงถึงหายค่ะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)