April 30, 2019 22:49
ตอบโดย
ฉัตรดนัย
ศรชัย
(นักจิตวิทยาการปรึกษา)
Rehabilitation in Mental Health & Addiction
สวัสดีครับ
จากเรื่องที่เล่ามา ผมก็เห็นนะครับว่าคุณได้ผ่านประสบการณ์ที่ไม่ค่อยเป็นเรื่องที่ดีนัก ซึ่งจากเรื่องที่มีปัญหาทางบ้านที่เรื้อรังมานาน และการที่คุณรู้สึกว่าไม่มีที่พึ่งพิง คงเป็นความรู้สึกที่ทำให้คุณอยากร้องไห้ และอาจจะเป็นเรื่องของความเครียดสะสมที่มาจากการที่คุณต้องผ่านปัญหาต่างๆมาตลอด ซึ่งตรงนี้ก็ขอชื่นชมด้วยนะครับที่เข็มแข็งให้ตนเองผ่านเรื่องราวต่างๆมาได้
ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้แหละครับที่ทำให้ อาจจะมีความเป็นไปได้ครับในเรื่องของภาวะโรคซึมเศร้า หรือภาวะความเครียดในชีวิตที่สูงขึ้น ซึ่งหากอาการเหล่านั้นเข้ามารบวนเราจนทำให้เราไม่สามารถเรียนหรือทำงานได้ตามปกติหรือไม่สามารถเป็นตัวเราที่เป็นเราได้จริงๆ อันนี้ก็อยากแนะนำให้ลองพูดคุยกับใครซักคนหนึ่ง อาจจะเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อที่จะรับการประเมินและรับการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไปนะครับ เพราะการที่คุณจะต้องฝ่าฟันเรื่องต่างๆไปได้ดัวยตัวคนเดียวอาจจะเป็นสิ่งที่เริ่มหนักสำหรับคุณครับ
นอกจากการเข้าพบผู้เชี่ยวชาญ ผมขอเพิ่มเติมว่า คุณสามารถลองทำกิจกรรมที่เคยสนใจหรือทำแล้วรู้สึกว่าทำให้ผ่อนคลายหรือทำให้รู้สึกดีขึ้นได้บ้าง หาเวลาที่ตนเองจะรู้สึกสงบ รู้สึกดี หรือรู้สึกสนุกผ่อนคลายให้ และแบ่งเวลาไปอยู่กับสิ่งๆนั่นครับ นอกจากนั้นอาจจะลองมองดูกิจกรรมที่สามารถทำเป็นประจำได้เช่น การออกลังกาย การฟังเพลง หรือการทำงานอดิเรกบางอย่าง ทานอาหารให้ครบหมู่ ออกไปทานของอร่อยๆบ้าง ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้ความเครียดลดลงได้ คล้ายๆกับการพักฟื้นให้สภาพจิตใจของตนเองค่อยๆมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งการดูแลตนเองควบคู่กันไปด้วยกับการรับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต จะเป็นการฝึกเพื่อให้คุณสามารถรับมือกับเรื่องต่างๆที่เข้ามาในชีวิตได้ในระยะยาวครับ
สุดท้ายนี้หากรู้สึกว่าต้องการจะพูดคุยกับใครซักคนหนึ่งแต่ยังไม่ต้องการที่จะพบกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คุณจะสามารถโทรเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้ซึ่ง ข้อเสียคืออาจจะต้องมีการรอสายที่นานในบางช่วงเวลานะครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ตอบโดย
ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
การที่คนเราต้องประสบกับปัญหา และไม่สามารถปรับตัวกับปัญหานั้นได้ ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ น้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา หากใช้กลไกเก็บกดมากๆ ความรู้สึกแย่ๆ ก็จะสะสม และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ค่ะ
อาการของซึมเศร้า
1.เบื่อหน่าย ไม่มีความสุข
2.ท้อแท้ เศร้า ร้องไห้
3.อ่อนเพลีย
4.นอนไม่หลับ/หลับมากเกินปกติ
5.เบื่ออาหาร/ทานได้เยอะกว่าปกติ
6.ขาดสมาธิ
7.กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย
8.รู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง
9.คิดอยากตาย/ทำร้ายตัวเอง
หากมีอาการเกิน 7 ข้อ และมีอาการต่อเนื่องนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ก็อาจเข้าข่ายซึมเศร้านะคะ
ซึมเศร้ามีสาเหตุหลักจากสารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัญหาต่างๆ ที่เข้ามากระตุ้น การรักษาจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมอง ช่วยให้ควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมได้ดีขึ้น ร่วมกับการทำจิตบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ นะคะ
ในกรณีนี้แนะนำพบจิตแพทย์ ประเมินอาการเพิ่มเติม วินิจฉัยโรคให้แน่ชัด แล้วรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมจะช่วยให้อาการดีขึ้น มีพลังใจที่จะต่อสู้ปัญหาต่างๆได้ง่ายขึ้นนะคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
มีความเครียดตั้งแต่เด็ก เพราะปัญหาทางบ้าน สะสมมาสิบปี มีอาการแปลกๆคือ รู้สึกอยากร้องไห้ ถ้าไม่ร้องไห้จะนอนไม่หลับ มีอาการปวดหัวข้างเดียว รู้สึกตึงๆที่หัว บ่อยครั้ง อยากรู้ว่าจะเป็นอาการความเคาียดสะสมหรือเปล่าครับ เพราะปัญหาตอนเด็กกดดันมาก ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีพ่อแม่ น้อง เป็นที่พึ่ง ผ่านมาด้วยตัวคยเดียวตลอดเกือบทุกัญหาในชีวิตครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)