June 23, 2019 12:21
ตอบโดย
กันตณัฏฐ์
อยู่ตรีรักษ์ (แพทย์ทั่วไป)
(นพ.)
General physician
สวัสดีครับ
การที่มีอาการร้องไห้บ่อยๆโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้นั้นอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ครับ
อาการของโรคซึมเศร้านั้นจะประกอบด้วยการมีอารมณ์เศร้าหดหู่หรือเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไรต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ร่วมกับมีอาการ
- นอนไม่หลับหรืออยากนอนมากขึ้น
- เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น
- อ่อนเพลียไม่มีแรง
- ไม่มีสมาธิ ความคิด ความจำแย่ลง
- คิดช้าทำช้าลงหรือกระสับกระส่ายมากขึ้น
- มีความคิดในแง่ลบ คิดโทษตัวเองบ่อยๆ หรือเห็นคุณค่าในตนเองลดลง
- เคยคิดหรือลงมือทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
ถ้าหากมีอาการในลักษณะนี้หลายๆข้อ ร่วมกับอาการที่เป็นส่งผลรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็จะมีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้นครับ
ในเบื้องต้นนั้นอาจลองทำแบบทดสอบตามลิงค์นี้เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าด้วยตนเองก่อนได้ครับ
http://www.prdmh.com/แบบประเมินโรคซึมเศร้า-9-คำถาม-9q.html
ถ้าหากทำได้ตั้งแต่ 7 คะแนนขึ้นไปก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น
หรือต่อให้อาการไม่ได้เหมือนโรคซึมเศร้ามาก การที่มีปัญหาร้องไห้อยู่บ่อยๆก็ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การมีความเครียดบางอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ ลักษณะบุคลิกภาพบางอย่าง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้เช่นกันครับ
ในกรณีนี้หมอแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการเพิ่มเติมให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก่อน เพื่อที่จะได้ให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ทำเลสิกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 25,500 บาท ลดสูงสุด 35%!!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ตอบโดย
Shintai Thavonlun (นพ.)
อาจเป็นอาการของภาวะซึมเศร้าได้ครับ
เบื้องต้นแนะนำให้ หาเวลาออกกำลังกาย เช่น วิ่ง เต้นแอโรบิค, ดูภาพยนตร์ตลกหรืออ่านหนังสือการ์ตูนตลก, ระบายผ่อนคลายความเครียดบ้าง เช่น ร้องไห้ ตะโกน เขียนระบายความรู้สึก, พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ จะทำให้ลดความเครียด ความกังวลได้ครับ และสุดท้ายคือ มองโลกในแง่ดี คิดว่าทุกปัญหามีทางแก้ครับ ส่วนโทรปรึกษาจะมีสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 ได้ครับ
โดยแบบประเมินโรคซึมเศร้ามีดังนี้ครับ
จะมีอาการดังต่อไปนี้ 5 อาการขึ้นไป โดยอาการมีดังนี้
1. อารมณ์ซึมเศร้า (เด็กและวัยรุ่นอาจจะเป็นอารมณ์หงุดหงิดแทนได้ครับ)
2. มีความสนใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงมาก
3. นํ้าหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (โดยเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมากขึ้น
4. กระวนกระวาย หรือดูเชื่องช้าลง
5.นอนไม่หลับ/หลับมากไป
6. อ่อนเพลีย ไม่มีแรงแรง
7. มีสมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจ
8.รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
9. มีความคิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย
จะต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ และมีอาการเป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และควรมีอาการเหล่านี้แทบจะตลอดเวลาครับ
ดีที่สุดน่าจะไปพบแพทย์เฉพาะทาง ทางด้านจิตใจ(จิตแพทย์)โดยเฉพาะครับ เพราะจะได้วินิจฉัยแยกโรคอื่นๆที่มีอาการคล้ายกัน เช่น ภาวะเศร้าการปรับตัวไม่ได้จากปัญหาที่มากระทบจิตใจ หรือ ภาวะวิตกกังวลครับ และคุณหมอจิตแพทย์จะชำนาญในการรักษาและให้ยา อีกทั้งจะได้ให้คำแนะนำและติดตามอาการครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ตอบโดย
ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
นอกจากอาการร้องไห้ง่ายแล้ว หากมีอาการเบื่อหน่าย ท้อแท้ มีปัญหาการนอนหลับ มีปัญหาการกิน อ่อนเพลีย รู้สึกน้อยใจ รู้สึกไร้ค่า อยากตาย หรือคิดอยากทำร้ายตัวเอง ร่วมด้วย และมีอาการจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน มีผลต่อการเรียน แบบนี้อาจบ่งถึงอาการของโรคซึมเศร้าก็เป็นไปได้นะคะ
ซึมเศร้ามีสาเหตุหลักจากสารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติ ทำให้การรับรู้ ความคิด การแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรมผิดปกติไปจากเดิม หากเจอปัญหาหรือมีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น
อาการของโรคซึมเศร้า จะมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 7 ข้อ ต่อเนื่องเกือบทุกวัน นานเกิน 2 สัปดาห์
1.เบื่อหน่าย ไม่มีความสุข
2.ท้อแท้ เศร้า
3.อ่อนเพลีย
4.นอนไม่หลับ/หลับมากเกินปกติ
5.เบื่ออาหาร/ทานได้เยอะกว่าปกติ
6.ขาดสมาธิ
7.หงุดหงิดง่าย
8.ขี้น้อยใจ รู้สึกไร้ค่า
9.อยากตาย /อยากทำร้ายตัวเอง
หากมีอาการเข้าข่ายซึมเศร้าควรพบจิตแพทย์ทันที ประเมินอาการเพิ่มเติม วินิจฉัยโรคให้แน่ชัด แล้วรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม
การรักษาซึมเศร้าที่ได้ผลดี คือการรักษาด้วยยา ยาจะช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมอง ทำให้ควบคุมความคิดอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆได้เหมาะสม ร่วมกับการทำจิตบำบัด จะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจทำให้ปรับตัวต่อปัญหาต่างๆได้ดีขึ้นค่ะ
ในระหว่างทำการรักษา ควรทานยาสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเอง หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ งดสารเสพติดทุกชนิด และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งจะช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้นนะคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
หนูเป็นคนร้องไห้ง่ายมากเลยค่ะ เป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว (ตอนนี้หนูอายุ 14-15แล้วค่ะ) มีอยู่ช่วงนึงเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่ร้องแทบทุกวัน แต่ก็พยายามหาสิ่งที่ชอบ หันไปสนใจสิ่งอื่นแทน ก็คิดว่ามันจะหายแต่ไม่เลยค่ะ แค่ยืนต่อหน้าครูหรือพ่อกับแม่สอนอะไรหน่อยก็ร้องแล้ว มันทำให้บางทีหนูก็แสดงออกมาว่าไม่อยากฟังบ้าง ไม่สนใจบ้าง เล่นมุขอย่างอื่นแทนบ้าง จนพ่อกับแม่บอกว่าผิดหวังในตัวหนู หนูไม่ได้มีอาการอยากฆ่าตัวตายนะคะ หนูยังมีเพื่อนมีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องทำ หนูไม่อยากให้คนอื่นรู้เลยค่ะว่าร้องไห้ง่าย หนูเป็นคนตัวใหญ่จะร้องไห้ให้คนอื่นเห็นมันก็ยังไงอยู่ พอจะมีคำแนะนำอะไรบ้างมั้ยคะ ที่อ่านมาแต่ละอย่างหนูพยายามทำแล้วแต่มันก็ยังร้องเหมือนเดิม ขอบคุณล่วงหน้านะคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)