กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ประโยชน์ของว่านหางจระเข้ และไอเดียการกินการใช้ว่านหางจระเข้เพื่อสุขภาพ

เผยแพร่ครั้งแรก 31 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
ประโยชน์ของว่านหางจระเข้ และไอเดียการกินการใช้ว่านหางจระเข้เพื่อสุขภาพ

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ว่านหางจระเข้ เป็นพืชล้มลุกเขตร้อนที่มีสรรพคุณกระตุ้นกระบวนการเมตาโบลิซึมของร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ ส่งผลให้ระบบในร่างกายฟื้นฟูได้เร็ว สามารถเผาผลาญ และนำพลังงานจากอาหารไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ความโดดเด่นของว่านหางจระเข้ มักจะอยู่ที่บำรุงระบบผิวหนัง เช่น รักษาแผล แผลแสบร้อน แผลน้ำร้อนลวก ป้องกันการเกิดฝ้า รักษาสิว ลดอาการบวมแดง ฟื้นฟูผิวไหม้แดด ลดความมันบนใบหน้า
  • โรค และอาการเจ็บป่วยหลายอย่าง ยังสามารถรักษาได้ด้วยว่านหางจระเข้ ทั้งริดสีดวงทวาร อาการปวดศีรษะ ปวดฟัน โรคลำไส้อักเสบ
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ว่านหางจระเข้แบบสดๆ เพราะยางที่เคลือบเนื้อว่านหางจระเข้ อาจทำให้ท้องเสีย หรือเป็นตะคริวในลำไส้ใหญ่ได้
  • ว่านหางจระเข้สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ไม่ต่างสมุนไพรชนิดอื่น ผู้ที่ผิวแพ้ง่าย ควรลองทาว่านหางจระเข้ที่ท้องแขนดูเพื่อทดสอบอาการแพ้ก่อน หรือไปตรวจภูมิแพ้ที่โรงพยาบาล (ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ และภาวะแพ้ได้ที่นี่)

ว่านหางจระเข้ พืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณเป็นยาซึ่งหลายคนน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะมีความโดดเด่นด้านบำรุงให้ผิวหนังชุ่มชื้นได้ 

ซึ่งความจริงแล้ว ว่านหางจระเข้นั้นสามารถนำมาใช้ได้ทั้งภายใน และภายนอกร่างกายเพื่อบำรุงสุขภาพ และบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาใช้ดูแลด้านความสวยความงามได้อีกด้วย 

คุณสามารถนำว่านหางจระเข้มาใช้สดๆ จากต้นได้ เพราะเป็นพืชที่ปราศจากสารเคมีอันตราย เพียงแต่จะต้องล้างยางออกให้สะอาดก่อน 

ไม่เพียงเท่านั้น ว่านหางจระเข้ยังเป็นพืชที่สามารถดัดแปลง และแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลายอย่าง ทั้งการใช้สำหรับรับประทาน และดูแลร่างกายภายนอก ดังนั้นว่านหางจระเข้จึงเรียกได้ว่า เป็นสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์ล้ำเลิศชนิดที่ใช้ได้ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้ากันเลยทีเดียว

ทำความรู้จักว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้ (Aloe vera) เป็นพืชเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน และบริเวณตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เป็นไม้ล้มลุกที่มีความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร ลำต้นเป็นปล้อง โคนใบใหญ่ ใบอวบน้ำหนา และค่อนข้างยาว มีสีเขียวลายจุดขาว มีหนามรอบขอบใบ 

ภายในว่านหางจระเข้จะมีวุ้นใส ซึ่งในส่วนดังกล่าวนิยมนำมาใช้เพื่อบำรุงรักษาผิวพรรณ และยังสามารถนำมารับประทานได้อีกด้วย

ประโยชน์ของว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้ เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ และสรรพคุณทางยาในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของทางร่างกายได้หลายด้าน โดยที่สมุนไพรชนิดอื่นๆ ก็ยังเทียบสรรพคุณของพืชชนิดนี้แทบไม่ได้ 

นั่นเป็นเพราะว่านหางจระเข้สามารถช่วยให้กระบวนการเมตาโบลิซึมในร่างกายทำงานอย่างเป็นปกติได้ ทำให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูจากอาการป่วย และความอ่อนเพลียได้ดี อีกทั้งสามารถนำพลังงานจากอาหารไปใช้ในระบบต่างๆ ของร่างกายได้ดีนั่นเอง 

แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะประโยชน์ของว่านหางจระเข้ยังมีอีกมากมาย เช่น 

1. รักษาแผล

นับเป็นสรรพคุณเด่นของว่านหางจระเข้ที่หลายคนคุ้นเคยกันอยู่แล้ว โดยว่านหางจระเข้นั้นสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดแผล แผลที่แสบร้อนจากการโดนไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก 

นั่นเป็นเพราะว่านหางจระเข้มีสารที่ช่วยสมานแผลได้ นั่นก็คือ "อะลอคติน เอ (Aloctin A)" ซึ่งเป็นสารที่มีมากในทุกส่วนของต้นว่านหางจระเข้ นอกจากนี้ สารอะลอคติน เอยังช่วยแก้ปัญหาผิวหนังได้อีกหลายด้านและยังช่วยดูแลปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ได้อีกหลากหลาย

2. ช่วยลดการอักเสบของผิว

เพราะในเนื้อวุ้นของว่านหางจระเข้นั้นสามารถช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยป้องกันการเกิดฝ้า ทำให้ฝ้าจางลงได้ รวมถึงช่วยลดการอักเสบของผิว และยังใช้รักษาสิวได้ 

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เนื้อวุ้นของว่านหางจระเข้ยังมีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบ ลดอาการบวมแดง ทำให้สิวยุบตัวลงได้เร็วขึ้น และยังช่วยรักษาแผลจากสิวไม่ให้เกิดรอยแผลเป็นเมื่อใช้เป็นประจำ

3. ฟื้นฟูผิวไหม้เสียจากแดด

ในวุ้นของว่านหางจระเข้มีฤทธิ์เย็น ช่วยให้ผิวที่โดนความร้อนเป็นเวลานานเย็นลงได้ อีกทั้งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผิว พร้อมฟื้นฟูผิวให้กลับมานุ่ม ชุ่มชื้นอีกครั้งได้ วิธีบำรุงก็ไม่ยาก เพียงนำเนื้อวุ้นมาทาบนผิวที่มีปัญหาไหม้แดดก็จะช่วยปลอบประโลมผิวให้ดีขึ้น

4. ลดความมันบนใบหน้า

ผู้ที่มีผิวหน้ามันสามารถใช้เนื้อว่านหางจระเข้มาช่วยรักษาความมันได้ เพียงนำเนื้อวุ้นมาปั่นให้ละเอียด ผสมกับน้ำมะนาว นำมาพอกหน้าสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ก็จะช่วยลดเลือนความมันบนผิวได้ แถมทำให้ผิวหน้าขาวกระจ่างใสขึ้นได้ 

สูตรนี้ยังสามารถช่วยรักษาสิว และลดเลือนรอยสิวให้จางลงได้ด้วย หรือจะนำเนื้อวุ้นมาพอกหน้าเพียวๆ ก็ยังได้

5. ฆ่าเชื้อโรค รักษาแผล

วุ้นว่านหางจระเข้มีสารที่มีประโยชน์ คือ สารอะโลอิน (Aloin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ ยังช่วยในการห้ามเลือด รักษาโรคผิวหนัง เช่น ฝี โดยสารดังกล่าวจะเข้าไปสลายเชื้อโรค ช่วยให้แผลเปียกสมานติดกัน และกระตุ้นการเกิดเนื้อเยื่อใหม่ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น 

วุ้นว่านหางจระเข้สามารถรักษาแผลได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแผลเรื้อรัง เริม แผลเป็นที่เกิดจากการคลอดบุตร แก้ผื่นคันต่างๆ แก้พิษแมงกะพรุน ตลอดจนแผลสดใหม่ สิว และโรคเรื้อนกวาง

6. รักษาโรคต่างๆ

ว่านหางจระเข้สามารถรักษาโรคกระเพาะอาหาร ช่วยบำรุงร่างกาย ขับสารพิษ รักษาโรคเหงือก อาการปวดศีรษะ ปวดฟัน บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร และอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี

7. บำรุงเส้นผม

ว่านหางจระเข้สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาเส้นผม และหนังศีรษะได้ พร้อมทำหน้าที่ช่วยบำรุงผม และหนังศีรษะได้ในเวลาเดียวกัน โดยจะช่วยขจัดรังแค รักษาแผล และช่วยบำรุงรากผมให้แข็งแรงมีสุขภาพดี

8. นำมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ว่านหางจระเข้ไม่ว่าจะนำมาใช้แบบสด หรือแบบแปรรูป ก็ให้สรรพคุณที่ดีด้วยกันทั้งนั้น แต่ส่วนมาก ว่านหางจระเข้มักได้รับความนิยมในการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลความงามในด้านต่างๆ มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเจลบำรุงผิว ครีมบำรุงผิวหน้า บำรุงผิวกาย ตลอดจนแชมพูสระผม

ไอเดียของการใช้ว่านหางจระเข้เพื่อสุขภาพ

เนื้อวุ้นว่านหางจระเข้ เราสามารถนำมาใช้ได้ทั้งกิน และทาภายนอกโดยไม่มีอันตรายใดๆ แต่ทั้งนี้ควรล้างยางออกให้สะอาดเสียก่อน เพื่อป้องกันเชื้อโรค และป้องกันการแพ้จากยางของว่านหางจระเข้นั่นเอง 

เมื่อเราเตรียมเนื้อวุ้นอย่างสะอาดดีแล้ว สำหรับการนำมาเพื่อใช้บำบัดรักษาปัญหาสุขภาพต่างๆ ก็สามารถทำตามได้ดังนี้

  • แก้อาการปวดศีรษะ วุ้นของว่านหางจระเข้สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ โดยนำปูนแดงมาทาที่เนื้อวุ้น แล้วนำมาป้ายลงบนขมับ อาการปวดศีรษะก็จะค่อยๆ บรรเทาลง

  • บำรุงเหงือก และบรรเทาอาการปวดฟัน ให้ปอกเปลือกเอาแต่วุ้นมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นแท่งเล็กๆ แล้วนำมาเหน็บตามซอกฟันทิ้งไว้สักพัก จะช่วยรักษาเหงือกและอาการปวดฟันจะค่อยๆ ดีขึ้น

  • รักษาแผล ให้ใช้น้ำเมือกของว่านหางจระเข้มาทาบริเวณแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยหมั่นทาบ่อยๆ เพื่อให้เมือกของว่านหางจระเข้เคลือบอยู่เสมอ ไม่ให้แผลแห้ง ซึ่งจะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และไม่เกิดรอยแผลเป็น

    สำหรับแผลที่โดนความร้อน เช่น โดนน้ำร้อนลวก น้ำเมือกจากว่านหางจระเข้สามารถช่วยให้แผลไม่พุพองได้ และยังสมานแผลไม่ให้เกิดการลุกลาม เนื่องจากความเย็นของตัวพืชจะช่วยลดการอักเสบบวม และช่วยคลายความปวดลงได้

  • รักษาลำไส้อักเสบ ใครที่มีอาการลำไส้หรือกระเพาะอักเสบ สามารถรักษาด้วยการรับประทานวุ้นว่านหางจระเข้ประมาณวันละ 2 ช้อนโต๊ะ แผลในกระเพาะ หรือการอักเสบดังกล่าวก็จะค่อยๆ ดีขึ้น

  • สมานแผลสดจากของมีคม เริ่มจากการทำความสะอาดแผลให้สะอาด แล้วปอกเปลือกว่านหางจระเข้ หั่นเนื้อวุ้นของว่านหางจระเข้ให้เป็นแผ่นยาวๆ วางปิดลงบนแผล แล้วจึงนำเอาผ้ามาปิด ใช้น้ำเมือกหยอดลงบนแผลอย่าให้แผลแห้ง

    ว่านหางจระเข้จะช่วยสมานผิวบริเวณที่ฉีกขาดเป็นแผลให้ติดกัน และหายได้เร็วขึ้น หากเป็นแผลติดเชื้อ แผลถลอก หรือแผลครูดก็สามารถใช้วุ้นว่านหางจระเข้ทาให้หายเร็วขึ้นได้เช่นเดียวกัน

  • รักษาโรคผิวหนัง หากมีอาการเป็นผื่น และมีอาการปวดแสบปวดร้อนด้วยโรคขี้เรื้อนกวาง ให้รับประทานวุ้นหางจระเข้ทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ

    พร้อมกันนี้ ให้คุณนำวุ้นมาใช้ทาผสมกับครีมป้องกันผิวแห้งที่บริเวณผื่นคัน ก็จะยิ่งช่วยให้ปัญหาผิวหนังหายเร็วขึ้น

  • ลบรอยแผลที่หายแล้วบนผิว สำหรับผู้ที่มีรอยแผลเป็น หรือผิวแตกลายหลังจากการตั้งท้อง สามารถรักษาได้ด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้ทาทุกวัน เช้า-เย็น ก็จะช่วยลดเลือนรอยแผลต่างๆ ให้ดีขึ้น

  • รักษาริดสีดวงทวาร ในผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร เราสามารถใช้วุ้นว่านหางจระเข้สอดเข้าไปในทวารหนักเพื่อให้คลายจากความเจ็บ และสมานแผลที่เกิดจากริดสีดวงทวารได้

    โดยวิธีการ คือ ปอกเปลือกออก แล้วหั่นเป็นแท่งเล็กๆ นำไปล้างให้สะอาด จากนั้นนำไปแช่ตู้เย็นให้แข็ง จึงนำมาใช้สอดเข้าทวารหนักวันละ 2 ครั้งก็จะช่วยบรรเทาอาการจากโรคริดสีดวงทวารได้

    นอกจากนี้ หากเป็นฝีก็ยังสามารถนำมาใช้รักษาฝีได้อีกด้วย

  • ป้องกันโรคเบาหวาน ให้หั่นเนื้อวุ้นว่านหางจระเข้ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตรมารับประทานทุกวัน หรือจะนำมาทำเป็นน้ำปั่นก็ได้

    สูตรน้ำปั่นจากว่านหางจระเข้นี้จะช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานในระยะแรกๆ ให้เบาลงได้ ในส่วนผ้ที่ยังไม่เป็นก็สามารถรับประทานในปริมาณที่น้อยลงเพื่อป้องกันโรคได้เช่นกัน

ไอเดียการกินว่านหางจระเข้เพื่อสุขภาพ

ว่านหางจระเข้ ไม่เพียงแค่นำมาใช้บำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยได้แต่เพียงเท่านั้น เพราะในส่วนของเนื้อวุ้นว่านหางจระเข้ เรายังสามารถนำมาใช้ประยุกต์ทำเมนูต่างๆ รับประทานเพื่อบำรุงสุขภาพได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  1. น้ำว่านหางจระเข้ปั่น เมนูสุขภาพที่จะช่วยคลายความอ่อนเพลียได้เป็นอย่างดี สิ่งที่ต้องเตรียม คือ เนื้อวุ้นว่านหางจระเข้ น้ำตาลทราย ใบเตย และน้ำเปล่า

    วิธีทำเริ่มจากต้มน้ำใส่น้ำตาลทราย และใบเตย ชิมให้รสหวานพอประมาณ หลังจากนั้นนำน้ำเชื่อมที่ได้มาปั่นรวมกับว่านหางจระเข้ และน้ำแข็งเล็กน้อย ก็จะได้น้ำปั่นเพื่อสุขภาพที่จะช่วยคืนความสดชื่นได้เป็นอย่างดี

  2. ว่านหางจระเข้อบ เตรียมเนื้อวุ้นว่านหางจระเข้ น้ำตาลทราย น้ำ และน้ำหวานหลากสี วิธีทำเริ่มจากนำเนื้อวุ้นว่านหางจระเข้มาปั่นให้ละเอียด จากนั้นใส่น้ำ และน้ำตาลทรายลงไปต้มให้เดือด โดยต้มเคี่ยวกับว่านหางจระเข้จนเหนียวข้น

    จากนั้นให้ทิ้งไว้ให้เย็น ใช้มีดตัดเป็นก้อนเล็กๆ พอคำ จากนั้นนำขึ้นไปอบให้แห้งแล้วเก็บใส่ภาชนะให้มิดชิด

  3. วุ้นกะทิว่านหางจระเข้ ดัดแปลงเป็นขนมแบบไทยๆ ด้วยการใส่กะทิก็ช่วยให้ได้ประโยชน์จากการกินว่านหางจระเข้ได้ไม่น้อย ส่วนผสมที่ต้องเตรียม ได้แก่ ว่านหางจระเข้ น้ำเปล่า น้ำแข็ง เกลือป่น น้ำหวานกลิ่นสละ และกะทิ

    เริ่มจากการหั่นว่านหางจระเข้ให้ได้ชิ้นพอดีคำ ต้มลงในน้ำเดือดพร้อมเกลือ เมื่อสุกแล้วให้นำมาล้างจนกว่าจะหมดรสเค็ม ผสมน้ำหวาน น้ำ และวุ้นตามชอบ นำไปแช่ตู้เย็นจากนั้นนำกะทิ และน้ำตาลปี๊บละลายให้เข้ากัน ต้มจนเดือด ใส่เกลือเล็กน้อย พักไว้ให้เย็น

    เมื่อจะรับประทาน ให้นำว่านที่แช่ไว้ออกมาราดหน้าด้วยน้ำกะทิ และใส่น้ำแข็ง ก็จะได้เมนูขนมหวานแสนอร่อย แถมยังคลายร้อนได้อีกด้วย

ข้อควรระวัง

1. เกิดอาการแพ้

หากใช้ว่านหางจระเข้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น ลมพิษ โรคผิวหนังอักเสบ ในส่วนของผู้ที่แพ้ หากใช้ว่านหางจระเข้หลังจากเกิดการไหม้แดดของผิว อาจจะทำให้เกิดผื่น หรือการบวมบริเวณนั้นๆ บางรายก็อาจจะทำให้ผิวลอกในวงกว้าง 

ดังนั้น สำหรับผู้ที่ผิวบอบบางแพ้ง่าย จึงควรทดสอบด้วยการทาว่านหางจระเข้ในส่วนท้องแขนดูก่อนจะดีกว่า เพื่อทดสอบว่าแพ้หรือไม่

2. ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรใช้อย่างระมัดระวัง 

ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำว่านหางจระเข้ หรือไม่ควรดื่มในปริมาณมากจนเกินไป เนื่องจากว่านหางจระเข้มีฤทธิ์เป็นยาระบาย จึงอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ หรือควรดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอควบคู่ไปด้วย จะได้ปรับสมดุลให้ร่างกายไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ ไม่ควรรับประทานรับประทานว่านหางจระเข้พร้อมกับยารักษาโรคเบาหวาน เพราะมีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงทำให้ยาทำงานได้แบบไม่มีประสิทธิภาพ

3. ไม่รับประทานแบบสดๆ

ถึงแม้ว่านหางจระเข้แบบสดๆ จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที แต่คุณก็ควรหลีกเลี่ยงไม่รับประทานว่านหางจระเข้แบบสดๆ ที่ยังไม่ผ่านการทำความสะอาด  เพราะยางที่เคลือบเนื้อว่านหางจระเข้นั้นอาจส่งผลทำให้เกิดท้องเสีย และทำให้ลำไส้ใหญ่เป็นตะคริวได้

4. ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง

ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานว่านหางจระเข้ เพราะจะไปลดประสิทธิภาพการทำงานของยารักษา และน้ำยางของว่านหางจระเข้ยังส่งผลทำให้เกิดภาวะไตล้มเหลวได้อีกด้วย 

การใช้ว่านหางจระเข้ ควรเลือกใช้ต้นที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เพราะจะได้สรรพคุณสูงที่สุด และควรต้องตัดจากต้นใหม่ๆ แล้วใช้ทันที หากใช้ไม่หมดจริงๆ สามารถเก็บไว้ได้เพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น 

ในส่วนของผู้ที่ต้องการนำมาใช้สำหรับผิวพรรณ แนะนำให้นำมาลองทาที่ท้องแขนก่อน หากพบว่าไม่แพ้ จึงค่อยนำไปทาบนผิวหนังส่วนอื่นๆ ตามต้องการ

ว่านหางจระเข้เป็นพืชสมุนไพรที่ให้คุณประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังมีข้อควรระวังบางอย่างเช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คุณจึงยังต้องสังเกตตนเอง ว่าควรใช้ว่านหางจระเข้แบบไหนจึงจะปลอดภัย และให้ผลดีต่อร่างกายมากที่สุด และหากมีอาการแพ้เกิดขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ และภาวะแพ้ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Kristeen Cherney, 10 Benefits of Using Aloe Vera on Your Face (https://www.healthline.com/health/beauty-skin-care/aloe-vera-for-face) 7 June 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป