โรคแอดดิสัน (Addison's Disease)

ทำความรู้จักโรคแอดดิสัน เกิดจากอะไร วิธีการวินิจฉัยและรักษาเป็นอย่างไรบ้าง
เผยแพร่ครั้งแรก 19 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
โรคแอดดิสัน (Addison's Disease)

ความหมายของโรคแอดดิสัน

โรคแอดดิสัน (Addison’s Disease) หรือ "ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง" (Primary Adrenal Insufficiency หรือ Hypoadrenalism) คือ ภาวะผิดปกติชนิดหายากที่ทำให้ต่อมหมวกไตได้รับความเสียหายจนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ให้เพียงพอต่อการใช้งานของร่างกายได้ โรคนี้สามารถเกิดได้กับผู้คนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในผู้ที่ป่วยมีอายุระหว่าง 30-50 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อาการของโรคแอดดิสัน

โรคแอดดิสัน เป็นโรคที่ตรวจพบได้ยากในระยะเริ่มต้น เพราะอาการส่วนมากมักใกล้เคียงกับภาวะสุขภาพอื่นๆ ทั่วไป เช่น เหนื่อยล้า หมดแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำหนักลด มีภาวะขาดน้ำ อยากรับประทานอาหารรสเค็ม หงุดหงิดง่าย เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

แต่หากผู้ป่วยเกิดความเครียด และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ก็จะทำให้อาการของโรคนี้รุนแรงมากขึ้น จนเกิดอาการดังต่อไปนี้

  • ความดันโลหิตต่ำขณะลุกขึ้นยืน จนทำให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องร่วง
  • ปวดท้อง ปวดหลัง หรือปวดข้อต่อ
  • เหนื่อยล้าเรื้อรัง จนอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้น
  • ความต้องการทางเพศลดลง โดยเฉพาะในผู้ป่วยหญิง
  • ภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติในบางครั้ง หรืออาจทำให้ประจำเดือนขาดหาย
  • การเจริญพันธุ์ช้ากว่าปกติในผู้ป่วยเด็ก
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycaemia)
  • มีภาวะจุดด่างดำบนผิวหนัง (Hyperpigmentation) บริเวณรอยพับส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงบนริมฝีปากและเหงือก

ภาวะรุนแรงของโรคแอดดิสัน

หากผู้ป่วยเพิกเฉยไม่ทำการรักษาโรคแอดดิสันตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้ระดับของฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไตในร่างกายค่อยๆ ลดลง จนเกิดอาการต่างๆ ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะวิกฤติในต่อมหมวกไต และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ได้แก่

  • ภาวะขาดน้ำรุนแรง
  • ผิวหนังเย็นและซีด
  • เหงื่อออก หายใจสั้น และถี่
  • วิงเวียนศีรษะ อาเจียน และท้องร่วงอย่างรุนแรง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปวดศีรษะ ง่วงนอนมากและอาจหมดสติได้

สาเหตุของโรคแอดดิสัน

โรคแอดดิสันมักเกิดจากปัญหาด้านระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายโจมตีเนื้อเยื่อชั้นนอกของต่อมหมวกไต (Adrenal Cortex) จนไปยับยั้งการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล และฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน แต่ก็มีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน ได้แก่

  • วัณโรค (Tuberculosis: TB) เป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลต่อปอดเป็นหลัก แต่สามารถลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ด้วย โรคนี้สามารถทำให้เกิดโรคแอดดิสันขึ้นได้หากการติดเชื้อลุกลามไปสร้างความเสียหายที่ต่อมหมวกไต
  • การติดเชื้อ เช่น เชื้อที่เชื่อมโยงกับโรคเอดส์ (Acquired Immunol Deficiency Syndrome: AIDS) หรือการติดเชื้อราอื่นๆ
  • การตกเลือด (Haemorrhage) เป็นภาวะเลือดออกรุนแรงเข้าสู่ต่อมหมวกไต และบางครั้งก็มีความเกี่ยวข้องกับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) หรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Sepsis) ร้ายแรงประเภทอื่นด้วย
  • มะเร็ง (Cancer) ส่วนมากมักเกิดจากเชื้อมะเร็งบริเวณตำแหน่งอื่นของร่างกาย แต่ได้ลุกลามไปที่ต่อมหมวกไต
  • อะไมลอยโดซิส (Amyloidosis) เป็นโรคที่สารอะไมลอยด์ (Amyloid) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผลิตจากเซลล์ไขกระดูกได้เข้าไปสะสม และสร้างความเสียหายในต่อมหมวกไต
  • การผ่าตัดต่อมหมวกไต (Adrenalectomy) เช่น การผ่าตัดกำจัดเนื้องอก (Tumour) บนต่อมหมวกไต
  • โรคประสาทถดถอย (Adrenoleukodystrophy: ALD) เป็นภาวะทางพันธุกรรมที่หายากและร้ายแรงซึ่งจะเกิดกับต่อมหมวกไต และเซลล์ประสาทในสมอง มักพบในเด็กผู้ชายอายุน้อย
  • การรักษาโรคคุชชิ่ง (Cushing's Syndrome) บางประเภท โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่อาการเกิดจากมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกายสูง

การวินิจฉัยโรคแอดดิสัน

ในการวินิจฉัยโรคแอดดิสัน แพทย์จะเริ่มจาก

  1. การสอบถามอาการและตรวจสอบประวัติสุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงสอบถามว่ามีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง (Lupus) หรือไม่
  2. หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจหาภาวะจุดด่างดำบนผิวหนัง ตามบริเวณผิวพับที่ฝ่ามือ ข้อพับที่ศอก รอยแผลเป็น ริมฝีปากและเหงือก และตรวจว่ามีความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าหรือไม่ 
  3. หากแพทย์สงสัยว่าคุณเป็นโรคแอดดิสัน ก็จะมีการตรวจเลือดเพื่อดูระดับของสารเคมีและฮอร์โมนต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ระดับโซเดียม (Sodium) และโพแทสเซียม (Potassium) หรือระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกาย
  4. หากพบค่าฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดต่ำ หรือผู้ป่วยมีอาการที่บ่งชี้ถึงการเป็นโรคแอดดิสันอย่างชัดเจน ก็จะมีการทดสอบการกระตุ้นของสารซินแอคเทน (Synacthen) เพื่อยืนยันการวินิจฉัย โดยซินแอคเทนคือ สารสังเคราะห์ลอกเลียนแบบฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิค (Adrenocorticotrophic Hormone: ACTH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติจากต่อมใต้สมอง เพื่อกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอล และฮอร์โมนแอลโดสเตอโรนออกมา
    โดยก่อนฉีดสารซินแอคเทนเข้าสู่ร่างกาย จะมีการเก็บตัวอย่างเลือดจากแขนไปทดสอบหาฮอร์โมนคอร์ติซอลก่อน และหลังจากฉีดสารไปแล้ว 30-60 นาที ก็จะมีการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อวัดค่าของฮอร์โมนคอร์ติซอลอีกครั้ง หากในเลือดมีฮอร์โมน ACTH ในระดับสูง แต่มีฮอร์โมนคอร์ติซอล และฮอร์โมนแอลโดสเตอโรนในระดับต่ำ แพทย์มักจะยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคแอดดิสันจริง
  5. นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการทดสอบต่อมไทรอยด์เพื่อตรวจว่าต่อมดังกล่าวสามารถทำงานได้ตามปกติหรือไม่ เพราะผู้ป่วยโรคแอดดิสันมักจะมีภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) เกิดขึ้น และในผู้ป่วยบางราย อาจต้องมีการเข้ารับการถ่ายภาพต่อมหมวกไต ซึ่งอาจเป็นทั้งการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan (Computerised Tomography Scan) หรือการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI Scan (Magnetic Resonance Imaging) เพื่อตรวจสอบต่อมหมวกไตให้ชัดเจนขึ้น

การรักษาโรคแอดดิสัน

โรคแอดดิสันสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาชดเชยฮอร์โมนที่ขาดหายไป แต่ผู้ป่วยจะต้องใช้ยานั้นๆ ไปตลอดชีวิต เพื่อให้ฮอร์โมนมีความสมดุล โดยแพทย์จะใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เพื่อชดเชยฮอร์โมนคอร์ติซอล กับฮอร์โมนแอลโดสเตอโรนที่ร่างกายไม่สามารถผลิตขึ้นมาได้เหมือนคนทั่วไป ตัวยามักจะอยู่ในรูปยาเม็ดที่ต้องรับประทาน 2-3 ครั้งต่อวัน สำหรับชื่อยาที่ชดเชยฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิด จะจำแนกชื่อได้ดังนี้

  • ยาสำหรับชดเชยฮอร์โมนคอร์ติซอล จะเรียกว่า "ยาไฮโดรคอร์ติโซน" (Hydrocortisone)
  • ยาสำหรับชดเชยฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน จะเรียกว่า "ยาฟลูโดรคอร์ติโซน" (Fludrocortisone)

โดยทั่วไปแล้วยาที่ใช้รักษาโรคแอดดิสันจะไม่มีผลข้างเคียงใดๆ นอกจากผู้ป่วยจะใช้ยาในปริมาณที่สูงเกินไปเป็นเวลานาน จนอาจทำให้เกิดอาการกระดูกพรุน มีอารมณ์แปรปรวน และนอนไม่หลับ นอกจากนี้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเติมเกลือลงในอาหารแต่ละวันด้วย แต่ในบางกรณี การรักษาภาวะต้นตอของโรคแอดดิสัน เช่น วัณโรค ก็สามารถรักษาอาการของโรคแอดดิสันให้หายขาดได้โดยไม่จำเป็นต้องรับประทานฮอร์โมนเสริม

การใช้ชีวิตร่วมกับโรคแอดดิสัน

ผู้ป่วยโรคแอดดิสันหลายรายรู้สึกว่าการใช้ยาทำให้การดำเนินชีวิตง่ายขึ้น เพราะยาทำให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารและออกกำลังกายได้ตามปกติ แม้จะยังรู้สึกเหนื่อยง่ายเป็นบางครั้ง แต่ถ้ารับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยป้องกันอาการนี้ได้

และเพื่อเป็นการควบคุมโรคไม่ให้กำเริบ ผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์เป็นประจำทุกๆ 6-12 เดือน เพื่อติดตามผลการรักษาและปรับขนาดยาที่ใช้ตามความจำเป็น นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาให้ตรงต่อเวลาและห้ามลืม แนะนำว่าควรมียาสำรองติดกระเป๋า หรือเก็บไว้ในที่ต่างๆ หากผู้ป่วยเกิดภาวะวิกฤติของต่อมหมวกไต จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที


19 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Addison's disease. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/addisons-disease/)
Addison's Disease: Basics & Possible Causes. WebMD. (https://www.webmd.com/a-to-z-guides/understanding-addisons-disease-basics)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
โรคแอดดิสัน (Addison's Disease)
โรคแอดดิสัน (Addison's Disease)

โรคแอดดิสัน หรือภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องคืออะไร อาการ สาเหตุ การวินิจฉัย การรักษา และการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคนี้

อ่านเพิ่ม