การติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมากในผู้หญิง มีสาเหตุมาจากเชื้อราที่ชื่อว่าแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) ซึ่งพบได้เป็นปกติในบริเวณช่องคลอด รวมไปถึงเชื้อแบคทีเรียต่างๆ แต่หากแบคทีเรียที่ทำหน้าที่ควบคุมเชื้อราเหล่านี้มีจำนวนน้อยลง เชื้อราก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นจนเกิดการติดเชื้อในที่สุด ทำให้มีอาการคัน บวม และระคายเคืองบริเวณปากช่องคลอดอย่างที่หลายคนเป็นนั่นเอง
การติดเชื้อราในช่องคลอดสามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงที่มีและไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน จึงไม่จัดว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม การมีเพศสัมพันธ์นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ หากอวัยวะเพศชายไม่สะอาด และหากเคยติดเชื้อมาแล้วครั้งหนึ่งก็จะมีโอกาสเป็นซ้ำสูงขึ้น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการของเชื้อราในช่องคลอด
อาการของการติดเชื้อราในช่องคลอดที่พบบ่อย ได้แก่
- คันที่ช่องคลอดและปากช่องคลอด
- มีอาการบวมหรือแดงรอบๆ ช่องคลอด
- รู้สึกแสบหรือเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ
- เจ็บ ปวด หรือมีผื่นขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ
- ตกขาวมีลักษณะข้น เป็นก้อนสีขาวขุ่น หรือบางครั้งอาจเป็นน้ำเหลวๆ
เชื้อราในช่องคลอดที่ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้มีอาการรุนแรงยิ่งขึ้นได้ ดังนั้นหากคุณสงสัยว่าตัวเองมีอาการติดเชื้อราในช่องคลอดดังข้างต้น ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
สาเหตุของเชื้อราในช่องคลอด
เชื้อรา Candida albicans ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อราในช่องคลอดนั้นพบได้ในบริเวณช่องคลอดตามธรรมชาติ เช่นเดียวกันกับเชื้อแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีในช่องคลอด ที่จะช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อราให้เหมาะสม แต่หากเกิดการสูญเสียสมดุลระหว่างแบคทีเรียและเชื้อราทั้ง 2 ชนิดนี้ ก็จะทำให้แบคทีเรียทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพและส่งผลให้เชื้อรามีจำนวนเพิ่มขึ้น จนเกิดเป็นอาการของการติดเชื้อราในช่องคลอด
ปัจจัยที่ทำให้เกิดเชื้อราในช่องคลอด
ภาวะเชื้อราในช่องคลอดเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ดังนี้
- การใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะไปลดปริมาณของแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดจากการตั้งครรภ์ การให้นมบุตร การเข้าสู่ช่วงวัยทอง การรับประทานยาคุมกำเนิด หรือแม้แต่ในช่วงใกล้มีรอบเดือน
- โรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- พฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่น กินอาหารที่มีน้ำตาลสูง
- การสวนล้างช่องคลอดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือน้ำสบู่
- ความเครียด
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ
- การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ติดเชื้อรา
การวินิจฉัยเชื้อราในช่องคลอด
การติดเชื้อราในช่องคลอดนั้นวินิจฉัยได้ไม่ยาก แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ รวมถึงประวัติการติดเชื้อราในช่องคลอดก่อนหน้านี้ และประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หลังจากนั้นจะเป็นการตรวจภายในเพื่อดูช่องคลอด ปากมดลูก และอวัยวะเพศบริเวณด้านนอก ว่ามีอาการของการติดเชื้อราหรือไม่
นอกจากนี้แพทย์อาจเก็บตัวอย่างเซลล์จากช่องคลอดไปตรวจในห้องปฏิบัติการด้วย และอาจมีการตรวจเลือดในผู้ที่ติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นประจำหรือรักษาไม่หาย เพราะมีโอกาสที่จะเกิดจากเชื้อ Candida สายพันธุ์อื่น ไม่ใช่เชื้อราสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยอย่างเชื้อ Candida albicans ซึ่งสามารถรักษาได้ง่าย
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การรักษาเชื้อราในช่องคลอด
การติดเชื้อราในช่องคลอดแต่ละครั้งอาจมีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกันไป ดังนั้นแพทย์จะวางแผนการรักษาที่เหมาะสำหรับคุณที่สุด ซึ่งมักขึ้นกับความรุนแรงของอาการ โดยอาการของการติดเชื้อราในช่องคลอดจะทุเลาลงภายในไม่กี่วันหลังจากเริ่มรักษา แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจจะต้องใช้เวลารักษานานถึง 2 สัปดาห์
การติดเชื้อในช่องคลอดแบบธรรมดา
การติดเชื้อราในช่องคลอดแบบธรรมดามักจะรักษาได้ด้วยการใช้ยากำจัดเชื้อราแบบครีม ยาทา หรือยาเหน็บ เป็นเวลา 1-3 วัน
ยาที่มักใช้รักษาประกอบด้วย
- บูโตโคนาโซล (Butoconazole)
- ไมโคนาโซล (Miconazole)
- เทอร์โคนาโซล (Terconazole)
- ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)
แม้จะเป็นการติดเชื้อแบบทั่วไป แต่ก็ควรไปตรวจติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ายานั้นใช้ได้ผล และอาจจะต้องมาตรวจซ้ำหากมีอาการติดเชื้ออีกครั้งภายใน 2 เดือน
การติดเชื้อในช่องคลอดแบบซับซ้อน
แพทย์อาจให้การรักษาที่มีขั้นตอนมากขึ้นหรือนานขึ้น ในกรณีที่เห็นว่าเป็นการติดเชื้อราในช่องคลอดแบบซับซ้อนหรือรุนแรง เช่น
- มีอาการบวม แดง หรือคันอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดแผลหรือรอยฉีกขาดในเนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอด
- มีการติดเชื้อราในช่องคลอดบ่อยกว่า 4 ครั้งใน 1 ปี
- เป็นการติดเชื้อจากเชื้อราสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ Candida albicans
- กำลังตั้งครรภ์
- เป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดี หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการใช้ยา
- ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
การรักษาการติดเชื้อราในช่องคลอดที่ซับซ้อนมักจะประกอบไปด้วย
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- การใช้ยาฆ่าเชื้อราในรูปแบบยาทา ยารับประทาน หรือยาเหน็บอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน
- การรับประทานยาฟลูโคนาโซล 2-3 ครั้ง
- การใช้ยาฟลูโคนาโซลหรือยาฆ่าเชื้อราแบบทาในระยะยาว
หากยังมีการติดเชื้อซ้ำหลังจากที่รักษาไปแล้ว คุณอาจจะต้องพาคู่นอนมาตรวจด้วยว่ามีการติดเชื้อราหรือไม่ และอย่าลืมใส่ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หากสงสัยว่าคุณติดเชื้อรามาจากคู่นอนของคุณ
ทางเลือกอื่นในการรักษาเชื้อราในช่องคลอด
หากไม่อยากใช้ยา คุณอาจลองใช้วิธีธรรมชาติต่อไปนี้ในการช่วยบรรเทาอาการติดเชื้อราในช่องคลอด แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะยังไม่มีหลักฐานที่บอกได้ชัดเจนว่าวิธีเหล่านี้จะปลอดภัยและได้ผลจริงหรือไม่
- น้ำมันมะพร้าว
- ครีมจากน้ำมันต้นชา
- กระเทียม
- ยาเหน็บช่องคลอดจากกรดบอริก
- รับประทานโยเกิร์ตรสธรรมชาติหรือทาโยเกิร์ตเข้าไปในช่องคลอด
เพื่อความปลอดภัยอย่าลืมล้างมือให้สะอาดก่อนทาครีมหรือน้ำมันลงในช่องคลอด และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก่อนเสมอ เพราะสมุนไพรบางตัวอาจส่งผลต่อยาที่รับประทานอยู่และทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้
การป้องกันเชื้อราในช่องคลอด
สิ่งที่ควรทำ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- รับประทานโยเกิร์ตหรืออาหารเสริมที่มีแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus)
- ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ หรือทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน และผ้าไหม
- ทำความสะอาดชุดชั้นในด้วยน้ำร้อนเพื่อกำจัดเชื้อราที่หมักหมม
- เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ เมื่อมีประจำเดือน
- ล้างทำความสะอาดช่องคลอดบริเวณภายนอกเท่านั้น
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
- การใส่กางเกงที่รัดแน่นเกินไป หรือถุงน่อง เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้นหรือสะสมของเชื้อราได้ง่าย
- การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอดหรือผ้าอนามัยที่มีกลิ่น
- การอยู่ในชุดที่เปียกเป็นเวลานาน โดยเฉพาะชุดว่ายน้ำ
- การสวนล้างช่องคลอด
หากสังเกตอาการของตัวเองเป็นประจำ คุณอาจจะพอคาดเดาได้ว่าติดเชื้อราในช่องคลอดจากอะไร เช่น ผู้หญิงบางคนจะติดเชื้อทุกครั้งที่รับประทานยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ซึ่งการรู้และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของตัวเองนั้นก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำในอนาคตได้อย่างดี