กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ยาลดความอ้วน

ประเภทของยาลดความอ้วน ผลข้างเคียงและอันตราย
เผยแพร่ครั้งแรก 29 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ยาลดความอ้วน

ผู้หญิงกับความสวย เป็นของคู่กันมาตลอด ในผู้ชายเองก็มีความใส่ใจในรูปร่างหน้าตาของตัวเองมากขึ้นเรื่อย หลายคนอยากจะมีหุ่นเพรียวบาง สวยงาม แต่อาจมีข้อจำกัดด้านเวลา ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายหรือเลือกรับประทานอาหารเพื่อลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ แต่หากจะเลือกการศัลยกรรมก็อาจจะน่ากลัวเกินไป ในกรณีนี้ ยาลดความอ้วน จึงเข้ามาเป็นตัวเลือกที่ดูเหมือนเหมาะสม แต่ ยาลดความอ้วน ที่วางขายกันอยู่ทำจากอะไร มีการแบ่งเป็นประเภทหรือไม่ ให้ผลการรักษาเป็นอย่างไร มีผลข้างเคียงใดที่ต้องคอยระมัดระวัง HonestDocs มีคำตอบ

แค่ไหนถึงเรียกว่าอ้วน?

ในทางการแพทย์ มีการวัดมวลกายเพื่อหาว่าร่างกายอ้วนจริงหรือไม่ (Body Mass Index; BMI) แล้วนำเอาค่ามวลกายที่หาได้มาแปลผล ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ค่าคำนวนที่ได้ต่ำกว่า 18.5 >> ผอม 

ค่าคำนวนที่ได้ 18.5 - 23 >> ปกติ

ค่าคำนวนที่ได้ 23 – 27.5 >> น้ำหนักเกิน 

ค่าคำนวนที่ได้ 27.5 ขึ้นไป >> อ้วน

นอกจากนี้ยังมีวิธีการวัดความอ้วนจากการวัดรอบเอว (Waist circumference) ซึ่งมาตรฐานรอบเอวของคนไทยนั้น ผู้ชายไม่ควรเกิน 36 นิ้ว หรือ 90 เซนติเมตร ของผู้หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว หรือ 80 เซนติเมตร วิธีวัดรอบเอวควรทำในตอนเช้าก่อนการรับประทานอาหาร ในขณะที่วัดไม่ควรสวมเสื้อผ้า โดยต้องอยู่ในท่ายืน วัดรอบเอวผ่านสะดือ และวัดตอนหายใจออก (ท้องแฟ่บ) ให้สายวัดแนบกับลำตัว แต่อย่ารัดแน่นจนเกินไป

ยาลดความอ้วนที่มีวางขายในท้องตลาด

ยาลดความอ้วนส่วนใหญ่ในตอนนี้ ได้มีการตรวจสอบพบว่า มีการใช้สาร "ไซบูทามีน" ผสมกับตัวยา "แอมฟีปาโมน และเฟเทอร์มัน" ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท สามารถกระตุ้นต่อมประสาทให้ลดความอยากอาหารลง แต่จะมีผลข้างเคียงต่อร่างกายค่อนข้างมาก ได้แก่ อาการนอนไม่หลับ กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ดังนั้นหากใช้ยาลดความอ้วนต่อเนื่องไปนานๆ ก็อาจทำให้กลายเป็นโรคจิตประสาท และมีอาการติดยาเพิ่มขึ้น จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ยาลดความอ้วน แยกออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. ยาลดความอ้วนจากสารเคมี

ยาลดความอ้วนบางประเภทจะจัดเป็นยาชุด ที่มีลักษณะการจ่ายมาจากแพทย์ของคลีนิกความงาม หรือวางขายทั่วไป หาซื้อมาใช้เองได้ แบบหลังนี้ค่อนข้างอันตรายมาก เพราะยาชุดลดน้ำหนักที่ขายทั่วไปส่วนใหญ่จะมีตัวยาลดความอยากอาหาร ชื่อ เฟนเทอร์มีน (phentermine) ยาไทรอยด์ฮอร์โมน จะเข้าไปเผาผลาญพลังงานในร่างกาย แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากไป ก็จะเข้าไปทำลายโปรตีนของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการใจสั่นได้

ยาลดความอ้วนบางตัวมีส่วนผสมของยาขับปัสสาวะและยาระบาย จะออกฤทธิ์เข้าไปขับน้ำในร่างกายให้ลดลงเพื่อให้น้ำหนักลด แต่ขณะเดียวกันก็จะทำให้แร่ธาตุในร่างกายลดลงไปด้วย ซึ่งเมื่อรับเข้าไปนานๆ ยาตัวนี้จะส่งผลเสียต่อหัวใจและสมองให้ทำงานผิดปกติ จนอาจจะถึงขั้นหัวใจวายได้

ยาที่กล่าวมาทั้งหมดจัดเป็นยาอันตราย เมื่อนำมาใช้เป็นยาลดน้ำหนัก ไม่ควรใช้เกิน 3-6 เดือน เพราะถ้ารับยานานมากกว่านี้จะส่งผลให้เกิดอาการมึนงง เห็นภาพหลอน หงุดหงิด และติดยาไปในที่สุด

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้เคยออกประกาศว่า ในยาลดความอ้วนบางตัวมีสารแอมเฟตามีน ที่เป็นส่วนผสมของยาบ้าร่วมด้วย ซึ่งสารตัวนี้จะทำให้ปัสสาวะมีสีม่วง ลักษณะอาการของผู้ที่รับประทานยานี้คือ ปากแห้ง ไม่อยากอาหารแม้แต่น้ำ ปวดศีรษะบ่อย และนอนไม่หลับ ที่น่ากลัวที่สุดคืออาการทางจิตประสาท โดยเฉพาะกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า

อีกตัวยาที่พบได้ในยาลดความอ้วนที่ขายกันตามท้องตลาด คือ เฟนเทอร์มีน ซึ่งถ้าได้รับยาที่มีเฟนทามีนเข้าไปมากๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการไม่อยากอาหาร และกลายเป็นคนขาดสารอาหารไปในที่สุด ตัวยาเฟนเทอร์มีน จะใช้ได้อย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น ไม่มีขายตามร้านยาทั่วไป เพราะการที่จะสั่งจ่ายยาได้ แพทย์ต้องประเมินว่าผู้นั้นอ้วนถึงขนาดต้องรับประทานยาหรือไม่ โดยอ้างอิงตามเกณฑ์ที่ค่า BMI ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 30 หรือ BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 27 แต่มีสภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน หรือไขมันในเส้นเลือดสูงร่วมด้วย และต้องเริ่มใช้ยาในขนาดต่ำๆ ก่อน คือ 7.5 มิลลิกรัม ในตอนเช้า และต้องไม่เกิน 9 มิลลิกรัม ในตอนกลางวัน แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณเป็น 15 มิลลิกรัม เรื่อยๆ และแพทย์ต้องติดตามอาการของผู้ที่รับยานี้ตลอดระยะการรักษา และไม่ใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน ในการรับประทานยาที่มีส่วนผสมของเฟนทามีน ต้องระมัดระวังการรับประทานยาร่วมบางตัว เพราะอาจมีอาการ "ยาตีกัน" ส่งผลให้ยาเป็นพิษ จนเป็นอันตรายได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

2. ยาลดความอ้วนจากสมุนไพร

อีกหนึ่งทางเลือกของคนอยากผอม แต่กลัวสารเคมี คือการใช้ยาสมุนไพรเป็นตัวช่วย ไม่ว่าจะเป็นส้มแขก มะขามป้อม มะนาว เป็นต้น แต่ในยาสมุนไพรนั้น จะใช้ได้อย่างปลอดภัยก็ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์สมุนไพรร่วมด้วย

ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่ายาสมุนไพรจะเริ่มแพร่หลายในคนที่ลดความอ้วนบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่ากับยาที่เป็นสารเคมี เพราะยาสมุนไพรต้องใช้เวลาเพื่อรักษาอาการ

ผลข้างเคียงในการใช้ยาลดความอ้วน

ยาลดความอ้วน

ผู้รับประทานยาลดความอ้วนต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจมีอาการทางประสาทอ่อนๆ และอาการที่เป็นกันมากคือ "การโยโย่" หรือการกลับมาอ้วนมากกว่าเดิม จนอาจอ้วนกว่าก่อนกินยาลดความอ้วนเสียอีก สาเหตุของ โยโย่ มาจากขณะที่รับประทานยานั้น ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารใด และเมื่อหยุดยาลง ร่างกายจึงหลั่งสารเข้าไปกระตุ้นสมองให้มีความอยากอาหารมากขึ้นเป็น 2 เท่า จากนั้นเมื่อน้ำหนักเพิ่ม ก็ส่งผลให้เกิดอาการเครียด และด้วยผลของยาที่ยังคงค้างในร่างกาย จึงยิ่งเพิ่มความวิตกกังวล จนอาจจะรู้สึกไม่อยากออกไปเจอใคร กลายเป็นโรคกลัวสังคม และกลับไปรับประทานยาอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเกิดการดื้อยา ที่ทำให้รับประทานยาตัวเดิมก็ไม่ได้ผล ต้องใช้ยาที่แรงขึ้นกว่าเดิม และมีอันตรายต่อร่างกายมากกว่าเดิมอีกด้วย

ในปัจจุบันยาสารเคมีเหล่านี้มีการขายกันอย่างมากมาย และเป็นที่นิยมในหมู่สาววัยรุ่นและสาววัยทำงาน ผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ มากกว่า 3 แสนรายการ โดยส่วนใหญ่จะนิยมขายกันที่ 30 เม็ด ในราคา 1,500–3,000 บาท แล้วแต่ยี่ห้อ ในบางรายมีการขายแบ่งเป็นชุด ชุดละ 7 วัน ในราคา 500–1,000 บาท หรือมีการขายเหมา 100 เม็ดขึ้นไป เหลือเม็ดละ 35 บาท

เมื่อใช้ยาสารเคมมีลดความอ้วนมากจนเกินไป อาจก่อให้เกิดโรคเหล่านี้

  1. โรคความดันโลหิตสูง
  2. โรคหลอดเลือดหัวใจ
  3. โรคหลอดเลือดอุดตัน
  4. โรคจิตประสาท
  5. โรคซึมเศร้า
  6. มีภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานผิดปกติ
  7. มีอาการติดยาอย่างรุนแรง

การลดความอ้วนที่ถูกต้อง

1. ดูแลเรื่องอาหารการกินให้ถูกต้อง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เน้นรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์เยอะๆ อย่างผักและผลไม้ เพื่อให้อิ่มท้องได้นานขึ้น ถ่ายคล่อง ไม่อดอาหาร อาจเปลี่ยนจากการรับประทานอาหารมื้อหลักปริมาณมาก ไปเป็นมื้อเล็ก ๆ 5 มื้อต่อวัน ลดอาหารจุกจิก ขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ ที่มีส่วนผสมของผงชูรส เป็นต้น

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จัดตารางว่างๆ ให้ตัวเองได้มีเวลาออกกำลังกายให้มากขึ้น โดยเริ่มจาก 10 นาที เป็น 30 นาที และ 1 ชั่วโมงไปเรื่อยๆ และเริ่มจากท่าออกกำลังแบบง่ายๆ แล้วค่อยเริ่มท่าที่ยากขึ้น การออกกำลังกาย ยังมีรูปแบบหลากหลายให้เราเลือก ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังที่สนุกสนาน อย่างการเต้นแอโรบิก ที่ได้ทั้งออกกำลังและอาจได้เพื่อนเพิ่ม หรือการออกกำลังแบบเรียบง่าย สงบ อย่างโยคะ หรือออกกำลังหนักๆ อย่างเข้าฟิตเนส แต่ถ้ารักธรรมชาติ ก็อาจจะเลือกไปวิ่งตามสวนสาธารณะก็ได้

3. ไม่กดดันตัวเอง เมื่อเริ่มที่จะลดความอ้วน เชื่อว่าทุกคนต้องอยากเห็นผลในทันที แต่เมื่อตั้งใจที่จะลดโดยปราศจากยาแล้ว ก็ต้องเข้าใจว่าผลก็อาจจะช้ากว่า จึงไม่สมควรที่จะกดดันตัวเองจนเกิดอาการเครียด เพราะจะยิ่งทำให้อ้วนขึ้น และอาจหันกลับไปใช้ยาลดได้อีกครั้ง แนะนำให้ลองใช้วิธีการทำสมาธิเพื่อลดอาการเครียด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถทำได้ทุกครั้งที่รู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล โดยการนั่งนิ่งๆ แล้วหลับตาลง หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ประมาณ 5 ครั้ง แค่นี้อารมณ์ของเราจะเริ่มสงบลงและเริ่มกลับมามีสติอีกครั้ง แต่ถ้าใครเครียดจัดก็ให้ทำแบบที่กล่าวมาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสงบ หรืออีกทางก็อาจจะหาอะไรทำเพื่อไม่ให้สมองยึดติด อยู่แต่กับเรื่องเครียด เช่น ฟังเพลง เล่นเกมส์ ดูภาพยนตร์ผ่อนคลาย

4. เลิกดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ (ใส่นม) ในเครื่องดื่มเหล่านี้ล้วนแต่มีแคลอรีร้าย เพียงแค่ดื่มนิดหน่อยน้ำหนักก็เพิ่มขึ้นได้หลายเปอร์เซ็นต์ สำหรับคนที่ติดน้ำอัดลม แนะนำให้ใช้วิธีลดการดื่มลงเรื่อยๆ ซึ่งบางคนอาจดื่มได้ถึงวันละ 3-4 ครั้ง ก็ลดลงเหลือแค่วันละ 2 ครั้ง แล้วลดลงเหลือ 1 ครั้ง หรือไม่หากงดไปเลยได้จะยิ่งดี ส่วนชากับกาแฟ ให้เปลี่ยนเป็นกาแฟดำแทน ได้ทั้งแบบร้อนและเย็น หรือไม่อาจเปลี่ยนเป็นเลือกดื่มน้ำผลไม้ที่แคลอรีต่ำ แต่ความสดชื่นเต็มร้อย ทั้งนี้ น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวยังสามารถลดอาการง่วงและซึมลงได้ดีกว่ากาแฟอีกด้วย

5. ไม่อดนอนเด็ดขาด การพักผ่อนไม่เพียงพอทำให้ร่างกายต้องสูญเสียน้ำหล่อเลี้ยงร่างกายไปอย่างมากมายในแต่ละวัน ยิ่งถ้าคุณนอนดึกแต่ต้องตื่นเช้าเข้ามากๆ ก็จะยิ่งทำให้สุขภาพแย่ลง ไปพร้อมอ้วนขึ้นด้วย เพราะยิ่งดึกมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งกินเยอะมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากร่างกายต้องการอาหารเข้าไปทดแทนสารอาหารที่ใช้ไปทั้งวัน โดยเฉพาะหลังเวลา 23.00 น. เป็นต้นไป ตามปกติการนอนจะเป็นการหยุดการทำงานทุกอย่างของร่างกาย ทำให้ร่างได้พัก รวมถึงหยุดความอยากอาหาร แต่เมื่อเลยเวลานอนไปแล้วร่างกายยังคงทำงานอยู่ ความต้องการอาหารจึงเกิดขึ้น โดยอาหารมื้อนี้ที่รับประทานเข้าไป ร่างกายจะไม่ได้นำพลังงานไปใช้ และไม่มีการย่อยอีก ไขมันจึงไปค้างอยู่ในลำไส้กลายเป็นของเสีย จนอาจทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้อีกมากมาย

6. ทำให้เป็นนิสัย เมื่อทำได้ครบทุกข้อที่ว่ามาแล้ว ก็ควรที่จะทำต่อไปจนกลายเป็นนิสัยส่วนตัว เพื่อที่จะทำให้สามารถมีน้ำหนักเหมาะสม และสุขภาพที่ดีจริง โดยไม่ต้องพึ่งยาอีกต่อไป ทุกสิ่งที่ตั้งใจทำล้วนแล้วแต่ดีต่อรูปร่างและสุขภาพของในอนาคต อยู่ที่ตัวเองว่าจะเลือกมีรูปร่างที่สมส่วนอย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมสุขภาพที่แข็งแรงยาวนานได้หรือไม่


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ลดน้ำหนักไม่ต้องพึ่งยาทำอย่างไร? จะโยโย่ไหม? ลดน้ำหนักยังไงดี? ตอบครบโดยนักกำหนดอาหาร, (https://hdmall.co.th/c/hdinsight-how-to-lose-weight-without-drugs-by-eatology).
9 แนวทางลดน้ำหนักโดยไม่ต้องอดอาหาร ตอบโดยนักกำหนดอาหาร , (https://hdmall.co.th/c/hdinsight-9-ways-to-lose-weight-without-dieting-by-eatology).
ปรึกษานักโภชนาการ ลดน้ำหนัก เป็นยังไง? ทำอะไรบ้าง?, (https://hdmall.co.th/c/weight-management-by-health-check-up).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป