อาการหน้ามืดและเวียนศีรษะขณะลุกขึ้นยืน มักเกิดจากภาวะความดันต่ำจากการเปลี่ยนท่า สามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่าง
อาการหน้ามืดและเวียนศีรษะขณะลุกขึ้นยืน เกิดจากภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกขึ้นยืน (Orthostatic Hypotension) หรือภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Postural Hypotension) ส่วนมากจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีและมีอาการไม่รุนแรงมากนัก แต่อาจมีบางคนที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นลมหรือหมดสติได้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อาการของภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกขึ้นยืน
อาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือความรู้สึกหน้ามืดและเวียนศีรษะขณะลุกขึ้นยืน ซึ่งอาการมักหายได้เองหลังจากได้นั่งหรือนอนพักประมาณ 3-5 นาที ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบได้บ้าง ได้แก่ คลื่นไส้ ใจสั่น ปวดศีรษะ อ่อนแรง สับสน มึนงง และตาพร่า ส่วนอาการที่พบได้ไม่บ่อย ได้แก่ เป็นลม เจ็บหน้าอก ปวดคอและไหล่
ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกขึ้นยืนเกิดจากอะไร?
อาการหน้ามืดและเวียนศีรษะขณะลุกขึ้นยืน ที่เกิดจากภาวะความดันโลหิตต่ำ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydration)
- ภาวะโลหิตจาง หรือมีเม็ดเลือดแดงต่ำ (Anemia)
- มีปริมาตรเลือดต่ำ (Hypovolemia) ซึ่งเกิดจากยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ
- อยู่ระหว่างตั้งครรภ์
- ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome (ACS)) หรือโรคลิ้นหัวใจ (Valvular Heart Disease)
- โรคเบาหวาน (Diabetes)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)
- สภาพอากาศร้อน
- การใช้ยาควบคุมความดันโลหิตหรือยาต้านโรคซึมเศร้า
- การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด ในขณะใช้ยาควบคุมความดันโลหิต
- การใช้ยาขับปัสสาวะ
- มีอายุมาก
การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกขึ้นยืน
หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าว แพทย์จะทำการวัดความดันโลหิตในขณะนั่ง นอน และยืน ซึ่งหากความดันโลหิต Systolic (แรงดันเลือดขณะหัวใจบีบตัว) ลดลง 20 mmHg หรือความดันโลหิต Diastolic (แรงดันเลือดขณะหัวใจคลายตัว) ลดลง 10 mmHg ภายใน 3 นาทีหลังจากลุกขึ้นยืน ก็จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกขึ้นยืน
ในการระบุหาสาเหตุ แพทย์อาจทำการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจร่างกาย ตรวจวัดอัตราการเต้นหัวใจ และส่งตรวจด้วยวิธีที่จำเพาะอื่นๆ ได้แก่
- การตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดโดยสมบูรณ์ (CBC) : เพื่อหาภาวะโลหิตจาง
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) : เพื่อดูจังหวะการเต้นของหัวใจ
- การตรวจเอคโคหัวใจ (Echocardiogram) : เพื่อดูว่าหัวใจและลิ้นหัวใจทำงานปกติหรือไม่
- การตรวจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) : เพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกาย
- การตรวจหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test) : ให้ผู้ป่วยนอนบนเตียงที่ปรับขึ้นลงในแนวตั้งได้ เพื่อทดสอบอาการหน้ามืด
การรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อลุกขึ้นยืน
การรักษาอาการหน้ามืดและเวียนศีรษะขณะลุกขึ้นยืน ในกรณีที่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุทางการแพทย์ เช่น ภาวะโลหิตจาง หรือภาวะร่างกายขาดน้ำ มักจะได้รับการรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
- ดื่มน้ำให้มากขึ้น และจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
- เมื่อจะลุกจากเตียงหรือเก้าอี้ ให้ลุกขึ้นอย่างช้าๆ
- ออกกำลังกายแบบไอโซเมตริก (Isometric Exercise) หรือออกกำลังกายด้วยวิธีเกร็งกล้ามเนื้อขณะอยู่กับที่ก่อนลุกขึ้นยืนเพื่อเพิ่มความดันโลหิต เช่น ใช้มือบีบลูกบอลยางหรือผ้าขนหนูแรงๆ
- หากสาเหตุเกิดจากยา อาจต้องปรับปริมาณยาหรือเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น
- สวมถุงน่องรัดกล้ามเนื้อเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนบริเวณขาได้ดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงการไขว้ขา หรือการยืนต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
- นอนโดยยกศีรษะให้สูงกว่าขาหรือเท้าเล็กน้อย
- หลีกเลี่ยงมื้ออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป
ในกรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ยาเพื่อเพิ่มปริมาตรเลือด หรือกระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด เช่น
- Fludrocortisone (Florinef)
- Midodrine (ProAmatine)
- Erythropoietin (Epogen, Procrit)
- Pyridostigmine (Mestinon)
ที่มาของข้อมูล
Jacquelyn Cafasso, What Causes Dizziness on Standing Up? (https://www.healthline.com/symptom/dizziness-on-standing-up), November 2016