ทองกวาว เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ คนไทยโบราณนิยมปลูกเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล เชื่อกันว่า บ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ประจำบ้านจะทำให้มีทองมาก เพราะเป็นไม้มงคลนาม และยังมีดอกที่สวยเรืองรองดั่งทองธรรมชาติ ไม่เพียงแต่เท่านี้ ส่วนต่างๆ ของต้นทองกวาวยังมีสรรพคุณทางยามากมายอีกด้วย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea monosperma (Lam.) Taub.
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE (FABACEAE) - PAPILIONOIDEAE
ชื่อพ้อง Butea frondosa Willd.
ชื่ออังกฤษ Bastard Teak, Bengal Kino, Flame of the Forest
ชื่อท้องถิ่น กวาว ก๋าว จอมทอง จาน ทองต้น ทองธรรมชาติ ทองพรมชาติ
ถิ่นกำเนิดของทองกวาว
ทองกวาวมีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินเดีย พม่า และภูมิภาคแทบอินโดจีน ทองกวาวเป็นไม้กลางแจ้ง พบได้ทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยภาคเหนือมีมากที่สุด ทองกวาวเลี้ยงง่าย โตช้า ทนแล้ง ทนเค็ม ทนลม และทนต่ออากาศหนาว เหมาะจะปลูกในที่แห้งแล้งหรือริมทะเล ไม่ควรปลูกริมน้ำหรือพื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง จะทำให้ไม่ออกดอก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของทองกวาว
ทองกวาวเป็นไม้ต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-15 เมตร ลำต้นมักจะคดงอและแตกกิ่งต่ำ เปลือกต้นสีเทาคล้ำ แตกเป็นร่องตื้นๆ มีน้ำยางใสๆ ถ้าทิ้งไว้สักครู่เปลี่ยนเป็นยางเหนียวสีแดงเรื่อๆ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ กิ่งลักษณะคดงอ มีขนสีน้ำตาลแก่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคลี่ เรียงเวียนสลับ ใบย่อยมี 3 ใบ ใบย่อยมีรูปต่างๆ รูปป้อมๆ รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และรูปไต ปลายใบมน โคนใบสอบ แผ่นใบหนา หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสาก เส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3-5 มิลลิเมตร รวมกันเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ก้านช่อยาว ก้านใบย่อยสั้น ดอกโตสีแสด หรือเหลือง เป็นช่อเล็กบ้างใหญ่บ้าง ตามกิ่งเหนือรอยแผลใบและตามปลายกิ่ง ตามส่วนต่างๆ ของช่อดอกมีขนสีน้ำตาลคล้ำทั่วไป กลีบดอกมีรูปต่างๆ กัน 5 กลีบ มีเกสรผู้ 10 อัน 1 อันเป็นอิสระ 9 อันมีโคนก้านอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดหุ้มเกสรเมียไว้ ผลเป็นฝักแบนๆกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 15 เซนติเมตร มีขนคลุมแน่น ภายในมีเมล็ดแบนๆ 1 เมล็ด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ประโยชน์ทางยาของทองกวาว
ส่วนต่างๆ ของทองกวาวมีประโยชน์ทางยา ดังนี้
- แพทย์ตามชนบทในภาคกลาง ใช้ดอกทองกวาวรับประทานเป็นยาถอนพิษไข้ แก้ไข้ตัวร้อน และเป็นยาขับปัสสาวะ หรือใช้ส่วนดอกตำพอแหลก แล้วผสมน้ำปูนใส ใช้เป็นยาหยอดตาแก้ตาเจ็บฝ้าฟาง
- แพทย์พื้นบ้านในภาคเหนือ นำเปลือกต้นทองกวาวบดเป็นผง ผสมน้ำกระสายยาแล้วกวาดคอเด็ก แก้ตานทราง (โรคในปากและลำคอที่เกิดขึ้นเป็นเม็ดในเด็ก) หรือนำมาทาบริเวณที่ปวดฟัน
- แพทย์ทางภาคอื่นๆ ใช้ส่วนดอกเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้เลือดออกในกระเพาะอาหารและกระเพาะปัสสาวะ โดยต้มในน้ำเดือด ดื่มรับประทานเป็นยาต้ม หรือดื่มเพื่อลดความกำหนัด
- ใช้ส่วนใบทองกวาวตำพอกบริเวณฝี แก้ปวดถอนพิษอักเสบจากฝี หรือพอกบริเวณผิวหนัง แก้ผิวหนังอักเสบ แก้ผื่นแดง คันและแสบร้อน
- เมล็ดในฝักทองกวาวมีรสเมาร้อน ใช้เมล็ด ขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก แก้อาการท้องอืดเฟ้อ แก้ริดสีดวง โดยบดเมล็ด ผสมกับน้ำมะนาวแล้วรับประทาน
- ราก มีรสเมาร้อน ต้มน้ำดื่มแก้โรคประสาทและบำรุงร่างกาย โดยใช้รากสดมาสับเป็นชิ้น 30-50 กรัม แล้วผสมน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เดือดและเคี่ยวให้เหลือ 3 ใน 4 ส่วน กรองเอาแต่น้ำดื่มหรือจิบวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น
ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของทองกวาว
นอกจากสรรพคุณทางยาแล้ว ทองกวาวยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- ทองกวาวเป็นต้นไม้ที่ออกดอก จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนเพื่อความสวยงาม
- ดอกทองกวาวมีสีเหลืองหรือสีแสด จึงนิยมนำไปทำเป็นสีย้อมผ้า
- เปลือกต้นของทองกวาว ให้เส้นใย จึงใช้ทำเป็นเชือกและกระดาษ
- ชาวสุรินทร์นิยมเพาะเลี้ยงครั่งบนต้นทองกวาว (ครั่ง เป็นแมลงจำพวกเพลี้ย แต่เป็นแมลงที่ให้ประโยชน์ เนื่องจาก หลังจากครั่งสร้างรังบนต้นไม้แล้ว ครั่งจะขับสารชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายยางเหนียวสีแดง ซึ่งจะนำสารนี้ไปใช้ในการทำสีย้อมผ้าได้)
ข้อควรระวังในการรับประทานทองกวาว
พบสารบูทิน (ฺButin ในเมล็ด) ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรี มีผลทำให้มดลูกบีบตัว ฉะนั้นหญิงตั้งครรภ์ห้ามรับประทานเมล็ดทองกวาว เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้