ทีมแพทย์ HD
เขียนโดย
ทีมแพทย์ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

โรคผิวหนังอักเสบ (Dermatitis)

ผิวหนังอักเสบ มีแบบไหนบ้าง แต่ละแบบอาการเป็นอย่างไร?
เผยแพร่ครั้งแรก 10 ต.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 17 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
โรคผิวหนังอักเสบ (Dermatitis)

ผื่นผิวหนังอักเสบคือการอักเสบแดงคันของผิวหนัง มีสาเหตุแตกต่างกันไปตามชนิดที่เป็น เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้เกิดจากความแห้งของผิว โดยอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การติดเชื้อที่ผิวหนัง การได้รับอาหารบางอย่าง หรือสารก่อภูมิแพ้บางอย่าง หรือปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ผื่นแพ้สัมผัส เกิดจากสารที่ก่อความระคายเคืองต่อผิวหนังหรือสารก่อภูมิแพ้ ผื่นแพ้จากต่อมไขมันหรือเซ็บเดิร์มเกิดจากยีสต์ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่อยู่ในน้ำมันที่ผลิตจากผิวหนัง เป็นต้น และยังมีผื่นแพ้ผิวหนังอีกหลายชนิดที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ผิวหนังอักเสบมีแบบไหนบ้าง?

อาการผิวหนังอักเสบขึ้นกับระยะที่เป็น ถ้าเป็นระยะเฉียบพลัน มักจะมีอาการคัน บวมแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสแตกออกเป็นน้ำเหลืองแฉะได้ ระยะกึ่งเฉียบพลัน จะมีขุยคันแดงแห้ง ส่วนระยะเรื้อรัง ผื่นจะมีความหนาตัวจากการเกาเรื้อรัง แห้ง หรือเห็นเส้นริ้วตามผิวหนังชัดเจนขึ้น หรือแตกเป็นร่องได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ผื่นผิวหนังอักเสบมีหลากหลายประเภท เช่น

1. ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic dermatitis)

เป็นผิวหนังอักเสบที่พบบ่อย ซึ่งมักเริ่มมีอาการตั้งแต่ในเด็ก โดยมีอาการตั้งแต่ไม่มากจนถึงรุนแรง มีประวัติตนเองหรือครอบครัวเป็นภูมิแพ้

ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้เกิดจากชั้นปกป้องของผิวหนังเสียไป ทำให้น้ำในผิวหนังระเหยออก ผิวหนังจึงแห้ง จากนั้นจะกลายเป็นผื่นแดงคันอักเสบ มักเกิดในบริเวณซอกพับต่างๆ ของร่างกาย เช่น ซอกพับแขน ซอกพับเข่า หน้า คอ

ในทารกหรือเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีที่เป็นผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้มักมีผื่นตามแก้ม ศีรษะ หรือด้านนอกของแขนและขา และมีประวัติกำเริบเป็นๆ หายๆ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการกำเริบ ได้แก่

  • ความชื้นต่ำ อากาศเย็น หรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลัน
  • การสัมผัสสารระคายเคือง เช่น สารซักล้าง สบู่ น้ำหอม ไรฝุ่น ขนสัตว์หรือน้ำลายสัตว์
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง รวมทั้ง หิด
  • ผ้าบางชนิด เช่น ผ้าขนสัตว์ ผ้าสังเคราะห์
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงก่อนหรือระหว่างการตั้งครรภ์
  • การแพ้อาหาร

การเกาจะทำให้ผื่นแย่ลงได้ โดยอาจมีน้ำเหลืองแฉะ หรือหากเกาหรือขัดถูมากจะทำให้ผิวค่อยๆ หนาขึ้นจนเป็นภาวะผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (Lichen simplex chronicus) นอกจากนี้เด็กที่เป็นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้มักมีความเสี่ยงที่จะแพ้อาหาร หรือเป็นหอบหืดร่วมด้วย

2. ผื่นแพ้ส้มผัส

บางคนมีปฏิกิริยาการอักเสบของผิวหนังหลังสัมผัสกับสารบางอย่าง เรียกว่า ผื่นแพ้สัมผัส ซึ่งอาการของผื่นแพ้สัมผัสได้แก่ แห้ง แดง คัน หรือแสบร้อนที่ผิวหนัง หรือผิวหนังอาจมีตุ่มน้ำ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดผื่นแพ้สัมผัสได้ โดยผื่นแพ้สัมผัสแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ

  1. ผื่นจากสารระคายสัมผัส (Irritant contact dermatitis) เกิดจากการสัมผัสสารที่ระคายเคืองต่อผิวหนัง หรืออาจมีอาการสัมผัสซ้ำๆ แล้วเกิดการระคายเคืองขึ้นมา เช่น กรดด่าง สารซักล้างที่มีฤทธิ์รุนแรง ยาฆ่าแมลง ยาย้อมผม ซีเมนต์ แชมพู
  2. ผื่นแพ้สัมผัสจากสารก่อถูมิแพ้ (Allergic contact dermatitis) เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของคนไข้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่มาสัมผัสผิวหนัง ซึ่งมีได้ตั้งแต่กาวหรือเทปต่างๆ ยาง น้ำยางลาเท็กซ์ ยาปฏิชีวนะชนิดทา ผ้า สีย้อมผ้า พืชบางชนิด ส่วนประกอบในเครื่องสำอาง ยาทาเล็บ ยาย้อมปม ครีม โลหะบางชนิด เช่น นิเกิล โคบอลต์ เป็นต้น

3. ผื่นแพ้จากต่อมไขมัน หรือ เซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)

เกิดจากการทำงานของต่อมไขมันทำงานมากผิดปกติและเชื้อราบางชนิด มักเกิดในบริเวณผิวที่มีความมัน เช่น หน้า อกและหลังช่วงบน หรือบางครั้งอาจพบตามซอกพับได้ บริเวณหน้ามักพบตามหน้าผาก หว่างคิ้ว เปลือกตาบน ร่องแก้ม ซอกจมูก หรือหลังใบหู มีลักษณะเป็นผื่นขุย แดง คัน และอาจมีรังแคที่ศีรษะร่วมด้วย เป็นภาวะที่เรื้อรัง และอาจกำเริบตามฤดูกาล ในทารกจะมีผื่นชนิดนี้ที่ศีรษะได้ (Cradle cap)

4. ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic eczema หรือ Pompholyx eczema)

ลักษณะเป็นตุ่มน้ำเล็กๆ ใสๆ และคันได้มาก ขึ้นตามมือและเท้าทั้งสองข้าง รวมถึงตามด้านข้างของนิ้วมือนิ้วเท้า โดยมักเกิดที่มือมากกว่าเท้า เป็นในคนอายุต่ำกว่า 40 ปี ในบางรายตุ่มน้ำอาจมีการติดเชื้อตามมา ทำให้เกิดอาการเจ็บ บวม อักเสบได้มาก หรือมีหนองได้ ตุ่มน้ำมักจะหายใน 2-3 สัปดาห์ และอาจตามด้วยอาการผิวแห้ง เกิดการลอก มีขุยหนาหรือแตกเป็นร่อง มีอาการเจ็บได้

ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มักเกี่ยวข้องกับในคนที่มีประวัติเป็นผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ หรือผื่นแพ้สัมผัส ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นได้อีก ได้แก่ ความเครียดและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง มักมีแนวโน้มกำเริบได้บ่อย

5. ผื่นผิวหนังอักเสบรูปเหรียญ (Nummular eczema หรือ Discoid eczema)

ลักษณะเป็นผื่นคล้ายรูปเหรียญ มักมีอาการคันมาก แดง แตก มักเกิดที่ปลายขา ปลายแขน หรือตัว บางครั้งตรงกลางของผื่นอาจจางไป และเห็นเป็นผื่นวงแดงได้ เกิดได้ในทุกอายุ รวมทั้งเด็ก ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงหรือตัวกระตุ้น ได้แก่ ผิวแห้ง ผิวที่ได้รับการบาดเจ็บหรือเสียดสี แมลงสัตว์กัดต่อย การไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดี สภาพอากาศที่เย็น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ยาบางชนิด ผิวที่ไวต่อโลหะและฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ มักมีอาการเรื้อรัง

6. ผื่นผิวหนังอักเสบจากการคั่งของเลือด (Stasis eczema หรือ Varicose eczema)

มักเป็นบริเวณขัอเท้า โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เนื่องจากเริ่มเกิดความอ่อนแอของเส้นเลือดดำบริเวณขา หรือการออกแรงขาที่เริ่มน้อยลง ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบประเภทนี้ขึ้นบริเวณปลายขา โดยมีอาการได้ตั้งแต่ คัน เป็นตุ่มน้ำ แห้ง เป็นขุย ตกสะเก็ด หรือผิวเป็นร่องๆ และผิวหนังบริเวณขาอาจอ่อนแอ ควรหลีกเลี่ยงการแกะเกาผื่นหรือตุ่มต่างๆ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

7. ผื่นผิวหนังอักเสบจากภาวะผิวแห้ง (Xerotic eczema หรือ Asteatotic eczema)

มักเกิดเกิดคนอายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากผิวในผู้สูงอายุจะมีความแห้งมากขึ้น หรือเกิดในผู้ป่วยไตวายที่ต้องฟอกไต มักเกิดบริเวณหน้าแข้ง ลำตัวช่วงล่าง หลังรักแร้ หรือผิวหนังบริเวณส่วนอื่นของร่างกายได้ ลักษณะจะเป็นผิวหนังแห้งแตก จนอาจมองดูคล้ายแผ่นกระเบื้องมาต่อๆกัน เป็นขุย แดง คัน เจ็บ ได้ สาเหตุยังไม่แน่ชัด แต่อาจถูกกระตุ้นได้จากสภาพอากาศที่แห้งเย็น การอาบน้ำอุ่น การอาบน้ำบ่อยๆ สบู่หรือสารซักล้างอื่นๆ รวมถึงการทำความสะอาดหรือขัดถูผิวที่มากเกินไป

วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดผิวหนังอักเสบ เป็นหนอง หรือมีน้ำเหลือง

ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดเฉียบพลันมักมีน้ำเหลืองแฉะ สามารถดูแลได้โดยการใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือหมาดๆ โปะลงบนผื่นที่แฉะทิ้งไว้ราว 10-20 นาที 3-4 ครั้งต่อวัน ร่วมกับการทายาสเตียรอยด์ตามแพทย์สั่ง

หากมีการดูแลผิวหนังอักเสบไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา ซึ่งมักเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามบริเวณผิวหนังเอง ทำให้เกิดเป็นหนองได้ หากเกิดอาการมักต้องรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ

วิธีป้องกันการเกิดผิวหนังอักเสบ

ผิวหนังอักเสบเป็นโรคที่มักไม่หายขาด แต่เราสามารถควบคุมอาการหรือป้องกันการกำเริบได้ ด้วยวิธีเหล่านี้

  • ใช้ครีมบำรุงผิวเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงหลังอาบน้ำใหม่ๆ ภายในประมาณ 3 นาทีหลังอาบน้ำและระหว่างวัน 
  • เลือกใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำอุ่น
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำนานๆ โดยอาจอาบเพียงแค่ 5-10 นาที จากนั้นเช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูนุ่มๆ
  • หลีกเลี่ยงการเกาหรือขัดถูผื่นผิวหนังอักเสบ เพราะอาจทำให้ผื่นแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากใยธรรมชาติและไม่คับแน่นจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Mayo Clinic Staff, Mayo clinic, Dermatitis in https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dermatitis-eczema/symptoms-causes/syc-20352380, 11 July 2019.
Crichton-Stuart C, Medical News Today, What are the different types of eczema? In https://www.medicalnewstoday.com/articles/322435.php, 11 July 2018.
Bolognia, JL., Jorizzo, JJ., Schaffer, JV., Callen, JP., Cerroni, L., Heymann, WR., Schwarz, T. (2012). Dermatology, 3rd edition. London: Elsevier.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)