ความหมาย
เป็นการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลางที่พบในเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่
สาเหตุ
การอักเสบของเยื่อหุ้มสมองเกิดจากการติดเชื้อเข้าทางน้ำไขสันหลัง ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค เชื้อไวรัส เชื้อราและพยาธิ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด เช่น มีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กระดูกอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น อาจเกิดจากการติดเชื้อจากฝีในสมอง meningitis สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ บางรายเกิดตามหลังการได้รับอุบัติเหตุหรือการตรวจ เช่น การผ่าตัดกระดูกกะโหลกศีรษะ การเจาะหลัง กะโหลกศีรษะร้าว ทำทางเชื่อมในโพรงสมอง เป็นต้น นอกจากนี้อาจเกิดจากเชื้อไวรัส
พยาธิสรีรภาพ
เยื่อหุ้มสมองอักเสบมักเริ่มจากการอักเสบที่เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Arachnoid) ซึ่งทำให้เนื้อเยื่อบวมและเซลล์ประสาทถูกทำลาย การติดเชื้อโรคเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง (CNS) ซึ่งเข้าได้ 4 ทาง ได้แก่
- กระแสเลือด
- การเปิดโดยตรงระหว่างน้ำไขสันหลังกับสิ่งแวดล้อมภายนอก จากการผ่าตัดหรืออุบัติเหตุ
- ไปตามเส้นประสาทสมองและเส้นประสาทส่วนปลาย
- เข้าทางปากหรือจมูก
เชื้อโรคสามารถผ่านไปยังทารกโดยเชื้อจากสิ่งแวดล้อมเข้าทางมดลูก เชื้อโรคจะทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้มีปริมาณ Neutrophils มารวมตัวกันทำให้มีน้ำเกิดขึ้นในช่องว่างใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid space) เป็นเหตุให้น้ำไขสันหลังเหนียวข้นขึ้น จึงไหลไปที่สมองและไขสันหลังได้น้อยลง และเกิดการขัดขวางวิลไลที่เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Arachnoid villi) และอุดกั้นการดูดซึมของน้ำไขสันหลังซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะน้ำคั่งในกะโหลกศีรษะ (Hydrocephalus) ความดันในสมองเพิ่มขึ้น และทำให้เซลล์ในสมองบวม หลอดเลือดในสมองโป่งพอง ทำให้ขัดขวางเลือดไปเลี้ยงสมอง อาจเกิดก้อนลิ่มเลือดเกาะติดอยู่ที่ผนังด้านในของ
หลอดเลือดหรือหลอดเลือดแตก หากความดันในสมองไม่ลดลงจะทำให้เนื้อสมองตาย อาจทำให้มีการติดเชื้อที่เนื้อสมอง ส่วนการติดเชื้อจากไวรัสจะมีลิมโพไซต์มารวมตัวที่เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง ความรุนแรงจะไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีการบวมและจะหายได้เอง
อาการ
มีไข้ คลื่นไส้ และอาเจียน ปวดศีรษะ ซึ่งเป็นอาการของความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น มีอาการคอแข็ง (Stiff neck) คอแอ่นไปข้างหลังและก้มไม่ลง (Opisthotonos) หากเป็นชนิด Meningococcal meningitis จะมีจุดเลือดออกหรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
การวินิจฉัยโรค
จากประวัติการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น คออักเสบ ทอนซิลอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น ตรวจร่างกายจะพบว่า มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง (Stiff neck) ตรวจดู Kernig’s sign ได้ผลบวก (โดยให้ผู้ป่วยนอนหงายขาตรง งอข้อสะโพกข้างใดข้างหนึ่งให้โคนขาตั้งฉากกับแนวราบ แล้วค่อยๆ จับขาเหยียดข้อเข่าออกให้ตรง ผู้ป่วยจะปวดและตึงที่ขามาก) และมี Brudzinski’s sign ได้ผลบวก (โดยให้ผู้ป่วยนอนหงาย แล้วประคองศีรษะผู้ป่วยขึ้นให้คางชิดอก ผู้ป่วยจะงอเข่าและสะโพกเข้าหาตัวทันที) ตรวจเลือดพบเชื้อเจาะหลังอาจพบว่านำไขสันหลังมีลักษณะผิดปกติ (เชื้อแบคทีเรียจะขุ่นหรือเป็นหนอง เชื้อวัณโรคจะเป็นสีเหลือง) มีความดันของน้ำไขสันหลังสูง มีโปรตีนในน้ำไขสันหลังสูง
การรักษา
ให้ยาปฏิชีวนะที่สามารถผ่านไปที่ช่องว่างในชั้นเยื่อหุ้มสมองอะแร็ชนอยด์ (Subarachnoid space) ให้
เพนิซิลลิน (Ampicillin, Piperacillin) หรือ Cephalosporins (Ceftriaxone sodium, Cefotaxime sodium), Vancomycin hydrochloride อย่างเดียว หรือให้ร่วมกับ Rifampin เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย จะต้องให้ขนาดสูงทางหลอดเลือดดำ อาจให้ Dexamethasone ในรายที่เป็น Acute bacterial meningitis และ Pheumococcal meningitis ให้ 15-20 นาที ใน dose แรก และ 6 ชั่วโมงต่อไปสำหรับ 4 วันต่อมา สเตียรอยด์จะช่วยลดการเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร (Gl bleeding) รักษาภาวะขาดน้ำและภาวะช็อกโดยการให้ fluid และการให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำในขนาดสูงๆ ตามเชื้อที่ตรวจพบ อาการชักอาจเกิดขึ้นในระยะแรกของโรคได้ ควบคุมโดย phenytoin (Dilantin) อาจต้องรักษาภาวะความดันในสมองสูง (Increase intracranial pressure; IICP)
การพยาบาล
จัดสิ่งแวดล้อมให้เงียบสงบเพื่อให้ผู้ป่วยพักผ่อน ให้ยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษาดูแลให้ผู้ป่วยได้รับน้ำอย่างสมดุลเพื่อป้องกันเยื่อหุ้มสมองบวม เช่น บันทึกปริมาณน้ำเข้า-น้ำออก ปริมาณสารน้ำทางหลอดเลือดดำ ชั่งน้ำหนักทุกวัน ดูแลให้ได้รับน้ำอย่างเพียงพอ เป็นต้น ประคับประคองด้านอารมณ์เนื่องจากความเจ็บป่วยเกิดขึ้นทันทีทันใด ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะช็อกเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสเลือด (Septic shock) และการไหลเวียนล้มเหลว (Circulation collapse) เป็นต้น และป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการเคลื่อนไหวไม่ได้ เช่น แผลกดทับและปอดบวม เป็นต้น ป้องกันอุบัติเหตุจากการชักหรือการรู้สึกตัวลดลง ชั่งน้ำหนักตัวทุกวัน ติดตามผลอิเล็กโทรไลต์ในซีรั่ม ปริมาณปัสสาวะ ควบคุมการติดเชื้อจนกระทั่ง 24 ชั่วโมงหลังจากให้ยาปฏิชีวนะ ป้องกันการติดเชื้อทั้งเสมหะจากช่องปากและจมูก คือ น้ำมูกและน้ำลาย