กะทกรก เป็นไม้เถาเลื้อย มีส่วนของใบที่เปลี่ยนไปเป็นหนวดใช้สำหรับพันยึดกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ใกล้เพื่อพยุงลำต้นหาแสง ใบกะทกรกเป็นใบเดี่ยว รูปรี ปลายแยกเป็นสามแฉก ปลายใบแหลม โคนมน ผิวใบมีขนขนาดเล็กสีขาวเกาะติดจำนวนมาก และที่ขนมีน้ำยางเหนียว ดอกออกเดี่ยวที่ซอกใบ ดอกสีขาวแซมม่วง เกสรตัวผู้ขนาดใหญ่ 5 อัน เกสรตัวเมียขนาดใหญ่ 3 อัน ผลกลม มีก้านประดับเป็นเส้นขนแขนงรอบผล ผลสุกสีเหลือง เมล็ดสีดำมีวุ้นเมือกห่อหุ้มรับประทานได้ รสเปรี้ยวอมหวาน เป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยา แต่มีข้อควรระวังในการกิน ซึ่งถ้าไม่ระวังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ชื่อวิทยาศาสตร์ Passiflora foetida L.
ชื่อวงศ์ PASSIFLORACEAE
ชื่ออังกฤษ STINKING-PASSION FLOWER
ชื่อท้องถิ่น เถาสิงห์โต กระโปรงทอง กะทกรก ตำลึงฝรั่ง เถาเงาะ ผักขี้หิด ผักแคบฝรั่ง เยี่ยววัว รก ละพุบาบี เล่งจูก้วย เล้งทุงจู หญ้าถลกบาต หญ้ารกช้าง
สรรพคุณของกะทกรก
ส่วนต่างๆ ของกะทกรกสามารถนำมาผ่านกรรมวิธีแตกต่างกัน ใช้รับประทานและทาภายนอก สรรพคุณของกะทกรกมีดังนี้
- ตามสรรพคุณยาโบราณกล่าวว่า เนื้อไม้กะทกรกมีรสฝาดเฝื่อนเพียงเล็กน้อย เป็นยาคุมธาตุ (หมายถึงทำให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ ไม่ถ่ายมากเกิน หรือถ่ายน้อยเกิน) วิธีใช้คือให้นำส่วนเนื้อไม้ ใส่น้ำให้ท่วมเครื่องยา แล้วต้มน้ำให้งวด จาก 3 ส่วนเหลือ 1 ส่วน รับประทานก่อนอาหารเช้าและเย็น
- ส่วนเปลือกสามารถมาล้างน้ำให้สะอาด ตำให้แหลกแล้วผสมน้ำยาล้างแผลหรือแอลกอฮอล์ ใช้เป็นยาภายนอกเพื่อรักษาบาดแผล ทำให้แผลสมานเร็ว หรือนำเปลือกไปต้ม แล้วรมควันบริเวณแผลเน่าเปื่อย ทำให้แผลแห้งเร็ว หรือนำเปลือกตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าว ช่วยแก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก
- แพทย์ตามชนบททางภาคอีสาน ใช้เมล็ดกะทกรกบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำสับปะรด รมควันได้ให้อุ่น แล้วทาท้องเด็กแก้ท้องขึ้นท้องอืดเฟ้อ ทำให้เด็กผายลม เด็กจะไม่รู้สึกอึดอัดตัวและหลับสบาย
- รากกะทกรก ใช้รับประทานแก้ไข้ โดยนำส่วนรากมาล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นไปตากแห้ง แล้วบดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งหรือแบะแซปั้นเป็นยาลูกกลอน ทานหลังมีอาการ 3-5 เม็ดลูกกลอน
- ต้น รับประทานแก้กามโรค วิธีรับประทานคือ นำส่วนต้น 10 กรัม ต้มในน้ำเดือด รับประทานวันละ 3 เวลา ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น ติดต่อกัน 7 วัน
- บางจังหวัดใช้รากต้มกินแก้ไข้เด็กตัวร้อน หรือใช้ส่วนใบตำ แล้วนำมาสุมศีรษะ จะช่วยแก้หวัดคัดจมูก แก้ปวดศีรษะได้
- นำน้ำคั้นจากราก ไปต้มให้พอเดือด รับประทานตอนยังอุ่นๆ เป็นยาขับพยาธิในเด็ก
- ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนกล่าวว่า กะทกรกเป็นยารสเย็น สามารถดับพิษไข้ แก้ไอร้อนในปอด แก้ไอเป็นเลือด และช่วยขับปัสาวะ โดยนำกระทกรกทั้งต้นไปอบแห้ง นำมาต้มครั้งละ 5-10 กรัม ดื่มน้ำต้มก่อนอาหารเช้าและเย็น
- แพทย์ชาวเวียดนามใช้ใบกะทกรกเป็นยาสงบหรือระงับความเครียดและความวิตกกังวล ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณวันละ 10-15 กรัม นำใบมาต้มกับน้ำกิน
ข้อห้ามและข้อควรระวังของกะทกรก
ทั้งต้นสดมีรสเบื่อเมาและเป็นพิษ หากนำมากินอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่พิษจะสลายไปเมื่อถูกความร้อน ดังนั้นจึงต้องนำไปต้มให้สุกก่อนนำมาใช้ ส่วนในเมล็ดกะทกรก มีสารไซยาโนจีติก ไกลโคไซด์ (Cyanogenetic glycoside) มีผลทำให้อาเจียน กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน หายใจลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย กล้ามเนื้อกระตุก มึนงง ไม่รู้สึกตัว ชักก่อนจะหมดสติ มีอาการขาดออกซิเจน ตัวเขียว ถ้าได้รับมากจะโคม่าภายใน 10-15 นาที ดังนั้นจึงห้ามรับประทานส่วนเมล็ดเป็นอันขาด