กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์

เผยแพร่ครั้งแรก 11 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์

ไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ คือช่วงเวลา 3 เดือนถัดจากไตรมาสแรก หรือเดือนที่ 4-6 นั่นเอง ในช่วงไตรมาสที่สองนี้เอง ร่างกายจะรู้สึกดีขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีพลังงานมากขึ้น เพื่อเริ่มต้นการวางแผนสำหรับการให้กำเนิดทารกต่อไป

เมื่อเริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้อง (คลื่นไส้ อาเจียน) และอาการอ่อนเพลียในช่วง 3 เดือนแรกควรค่อยๆ ดีขึ้น ทำให้คุณรู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีพลังงานมากเหมือนกลับมาเป็นคนเดิมอีกครั้ง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ส่วนมาก ช่วงไตรมาสที่สองเป็นช่วงเวลาที่ง่ายที่สุด คุณจะรู้สึกสบายดีขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามีพลังงานมากขึ้น และเป็นช่วงเวลาของการวางแผนเตรียมพร้อมสำหรับการให้กำเนิดทารกต่อไป

ระหว่างช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ระหว่างการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 18-22 คุณจะได้รับการตรวจอัลตราซาวด์โดยแพทย์เพื่อดูการเจริญเติบโตของทารก ซึ่งในช่วงนี้คุณจะสามารถรู้เพศของทารกได้แล้ว เว้นแต่คุณจะแจ้งแพทย์ทราบว่าขอรู้ทีเดียวตอนคลอด เพื่อให้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นนั่นเอง

แม้ว่าในช่วงเวลานี้คุณจะรู้สึกดีขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเรื่องภายในร่างกายของคุณ ซึ่งจะมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นดังนี้

ปวดหลัง

น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้จะเพิ่มแรงกดไปที่หลัง ทำให้รู้สึกปวดหลังได้ ในการลดแรงกดไปที่หลัง แนะนำให้นั่งหลังตรง และนั่งบนเก้าอี้ที่รองรับหลังได้ดี เพื่อช่วยลดอาการปวด แนะนำให้นอนตะแคงข้างโดยมีหมอนหนุนอยู่ระหว่างขา ให้หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือการถือสัมภาระหนักๆ สวมใส่รองเท้าส้นเตี้ย รองเท้าที่สวมใส่สบาย และรองรับน้ำหนักตัวได้ดี ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้น ขอแนะนำให้ขอให้แฟนของคุณช่วยนวดบริเวณที่ปวดเพื่อบรรเทาอาการ

เลือดออกตามไรฟัน

ประมาณครึ่งหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์จะมีอาการเหงือกบวม เหงือกอักเสบ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายจะทำให้เลือดไหลเวียนไปที่เหงือกเพิ่มมากขึ้น ทำให้เหงือกมีความไวต่อการเกิดบาดแผลเล็กๆ และมีเลือดออกง่ายขึ้น โดยปกติแล้วเหงือกจะกลับมามีสุขภาพแข็งแรงเหมือนเดิมเมื่อคลอดลูกแล้ว ในช่วงเวลาระหว่างตั้งครรภ์นี้ แนะนำให้ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่ม และใช้ไหมขัดฟันอย่างนุ่มนวล โดยไม่ละเลยสุขภาพในช่องปากไป 

ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคเหงือกอักเสบ (โรคปริทันต์ หรือ periodontal disease) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดและให้กำเนิดทารกมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เต้านมขยายขนาดขึ้น

อาการเจ็บคัดตึงเต้านมส่วนใหญ่ที่พบในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ควรค่อยดีขึ้นในช่วงนี้ แต่ขนาดของหน้าอกจะยังขยายขนาดขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมบุตรในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นการสวมยกทรงขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้รู้สึกสบายมากขึ้น

คัดจมูกและเลือดกำเดาไหล

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะทำให้เนื้อเยื่อในจมูกบวมขึ้น ทำให้มีอาการคัดจมูก และทำให้นอนกรนในช่วงกลางคืน การเปลี่ยนแปลงนี้ยังอาจทำให้เลือดกำเดาออกง่ายขึ้นด้วย ก่อนที่คุณจะใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูก (decongestant) ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ สำหรับน้ำเกลือหยอดจมูกหรือวิธีธรรมชาติอื่นๆ อาจมีความปลอดภัยมากกว่าในการบรรเทาอาการคัดจมูกระหว่างตั้งครรภ์ คุณอาจทดลองใช้เครื่องสร้างความชื้นในอากาศเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้

หากมีอาการเลือดกำเดาไหล การหยุดเลือดกำเดา ให้ยกตัวของคุณตั้งตรง (อย่าเอียงไปทางด้านหลัง) และใช้แรงบีบที่รูจมูกทั้งสองข้างเป็นเวลาไม่กี่นาทีจนกว่าเลือดจะหยุด

ตกขาว

เป็นเรื่องปกติที่จะพบตกขาวลักษณะคล้ายนมในช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์ คุณสามารถใส่ผ้าอนามัยได้ หากทำให้คุณรู้สึกสบายมากขึ้น แต่อย่าใช้ผ้าอนามัยชนิดสอดช่องคลอด เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดได้ หากตกขาวมีกลิ่นเหม็น เป็นสีเขียว หรือเหลือง มีเลือดปน หรือมีตกขาวใสปริมาณมาก ให้ไปพบแพทย์

ปัสสาวะบ่อย

ในช่วงไตรมาสที่สองมดลูกจะยกตัวสูงขึ้นจากบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะทำให้คุณไม่รู้สึกอยากปัสสาวะบ่อยในช่วงเวลานี้ แต่อย่าสบายใจเกินไป เพราะอาการปัสสาวะบ่อยจะกลับมาอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์

ผมยาว (ขนยาว)

ฮอร์โมนที่ถูกสร้างระหว่างตั้งครรภ์จะกระตุ้นการเจริญของเส้นผม ผมบนศีรษะจะหนาตัวขึ้น คุณอาจเห็นผม (ขน) ในบริเวณที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งบริเวณใบหน้า แขน และหลัง การโกนและใช้แหนบดึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ง่ายที่สุด แต่ก็เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในขณะที่ตั้งครรภ์ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านไม่แนะนำให้กำจัดขนด้วยวิธีเลเซอร์, electrolysis, แว็กซ์ หรือ depilatories ระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะงานวิจัยยังไม่ได้พิสูจน์ว่าวิธีต่างๆ เหล่านี้ปลอดภัยกับทารกในครรภ์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ปวดศีรษะ

อาการปวดศีรษะเป็นอาการไม่สบายที่พบได้บ่อยขณะตั้งครรภ์ แนะนำให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น หายใจลึกๆ  ระหว่างการตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยา แอสไพริน (aspirin) และไอบูโปรเฟน (ibuprofen) แต่แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้น

แสบร้อนกลางอก และท้องผูก

อาการแสบร้อนกลางอกและท้องผูก เกิดขึ้นจากร่างกายมีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น โดยฮอร์โมนนี้จะมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อบางอย่าง รวมถึงกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะอาหาร (ส่วนล่างของหลอดอาหารที่เชื่อมต่อกับกระเพาะอาหาร) ซึ่งปกติหูรูดนี้จะมีหน้านี้ปิดเพื่อเก็บกักอาหารและกรดไว้ในกระเพาะอาหาร ในการบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก ให้พยายามรับประทานอาหารมื้อเล็กๆ ให้บ่อยครั้ง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมัน เผ็ด รสเปรี้ยว

สำหรับอาการท้องผูก แนะนำให้รับประทานใยอาหารเพิ่มขึ้นและดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้อุจจาระนุ่มขึ้น และเคลื่อนที่ได้ง่าย การออกกำลังกายจะช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น

ริดสีดวงทวารหนัก

ริดสีดวงคือเส้นเลือดขอดชนิดหนึ่ง คือมีการบวมของเส้นเลือดรอบๆ ทวารหนัก เส้นเลือดอาจขยายตัวขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะมีเลือดไปเลี้ยงที่บริเวณนี้มากขึ้นและมีแรงกดเบียดเพิ่มขึ้นจากมดลูกที่ขยายตัวขึ้น โดยจะมีอาการคัน เจ็บ รู้สึกไม่สบายได้ ในการบรรเทาอาการ แนะนำให้นั่งในน้ำอุ่น หากอาการไม่ดีขึ้น ให้ปรึกษาแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาเพื่อรับยาทาชนิดขี้ผึ้งทาบริเวณที่มีอาการ

รู้สึกเด็กดิ้นครั้งแรก (Quickening)

มารดาจะเริ่มรู้สึกเด็กดิ้นครั้งแรก (Quickening) ในช่วงกลางของการตั้งครรภ์ (20 สัปดาห์) โดยมารดาจะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวภายในช่องท้อง ถ้าคุณไม่รู้สึกว่าเด็กดิ้นในช่วงเวลานี้ ยังไม่ต้องกังวล เพราะมารดาบางรายก็ไม่รู้สึกว่าเด็กดิ้นจนกว่าจะเข้าสู่เดือนที่ 6 ของการตั้งครรภ์

การเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง

หญิงตั้งครรภ์มักสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังของตนเองเนื่องจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีการเพิ่มขึ้นของเม็ดสีเมลานิน (melanin) ทำให้เกิดจุดสีน้ำตาลบนใบหน้า หรือฝ้าสีน้ำตาล เราเรียกว่า mask of pregnancy และถ้าเป็นที่หน้าท้องเรียก linea nigra

ทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ผิวหนังควรค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปภายหลังการคลอดลูกแล้ว ในระหว่างนี้คุณสามารถใช้เครื่องสำอางเพื่อปกปิดฝ้าเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ในช่วงเวลานี้ผิวหนังจะไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ ดังนั้นก่อนออกแดด ให้ทาครีมกันแดดที่กันได้ทั้งยูวีเอ และยูวีบี (UVA/UVB) ที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป ก่อนออกนอกบ้าน และจำกัดเวลาที่สัมผัสแสงแดด โดยเฉพาะช่วง 10 โมงเช้า ถึง บ่าย 2 สวมเสื้อผ้าแขนยาว กางเกงขายาว หมวกปีกกว้าง และแว่นกันแดด 

คุณอาจสังเกตเห็นเส้นบางๆ สีม่วงแดงเป็นเส้นๆ อยู่บนหน้าท้อง เต้านม หรือต้นขา ซึ่งผิวหนังลายที่เกิดขึ้นเหล่านี้เกิดขึ้นจากผิวหนังขยายเพื่อรองรับท้องที่โตขึ้น แม้ว่าจะมีครีมและโลชั่นหลายชนิดอ้างว่าสามารถป้องกันหรือกำจัดผิวแตกลายเหล่านี้ได้ แต่ก็มีหลักฐานน้อยมากว่าสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริง การใช้มอยเจอร์ไรเซอร์จะช่วยให้ผิวหนังนุ่มขึ้นและลดอาการคันได้ ส่วนใหญ่ของลายหน้าท้องควรจะหายไปภายหลังการคลอดลูกแล้ว

มองเห็นเส้นเลือดฝอย spider vein และเส้นเลือดขอด

ระหว่างการตั้งครรภ์ ระบบไหลเวียนเลือดจะส่งเลือดไปยังทารกที่กำลังเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเลือดส่วนเกินจะทำให้เห็นเป็นเส้นเลือดฝอยรวมกันเป็นกลุ่มสีแดง มองเห็นที่ผิวหนัง หรือเรียกว่า spider veins  โดยเส้นเลือด spider veins นี้จะค่อยๆ หายไปเมื่อคลอดลูกแล้ว

แรงกดที่ขาที่มาจากการเติบโตของทารกจะลดการไหลเวียนของเลือดที่ส่วนล่างของร่างกายลดลง ทำให้เส้นเลือดที่ขาบวมและมองเห็นเป็นสีน้ำเงินหรือสีม่วงที่เส้นเลือด เราเรียกว่า เส้นเลือดขอด แม้ว่าคุณจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดเส้นเลือดขอดได้ แต่คุณสามารถป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงได้ โดยการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดวัน และยกขาวางไว้บนเก้าอี้เมื่อต้องนั่งเป็นเวลานาน เส้นเลือดขอดจะดีขึ้นภายใน 3 เดือนหลังจากคลอดลูกแล้ว

น้ำหนักเพิ่ม

อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน มักจะดีขึ้นหลังสิ้นสุดไตรมาสแรก ซึ่งคุณจะเริ่มมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น แม้ว่าอาหารจะดูน่ารับประทานมากขึ้น แต่ให้ตระหนักถึงปริมาณอาหารที่รับประทานด้วย เนื่องจากคุณต้องการปริมาณพลังงานเพิ่มเพียง 300-500 แคลอรี่ต่อวันในช่วงไตรมาสที่สองเท่านั้น และน้ำหนักตัวควรเพิ่มประมาณ 0.22-0.45 กิโลกรัมต่อสัปดาห์

อาการเตือนที่ต้องไปพบแพทย์ทันที

อาการดังต่อไปนี้เป็นอาการเตือนของความผิดปกติบางอย่างระหว่างการตั้งครรภ์ หากเกิดอาการขึ้น อย่ารอจนถึงเวลานัดหมายครั้งถัดไป แต่แนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที

  • ปวดท้องหรือเป็นตะคริวอย่างรุนแรง
  • เลือดออก
  • เวียนศีรษะอย่างรุนแรง
  • น้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว (มากกว่า 2.9 กิโลกรัมต่อเดือน) หรือ น้ำหนักตัวเพิ่มน้อยเกินไป (น้อยกว่า 4.5 กิโลกรัม ณ สัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์)

 https://www.webmd.com/baby/guide/second-trimester-of-pregnancy


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Second Trimester of Pregnancy: The Honeymoon Period, What to Expect. WebMD. (https://www.webmd.com/baby/guide/second-trimester-of-pregnancy#1)
The Second Trimester of Pregnancy. Healthline. (https://www.healthline.com/health/pregnancy/second-trimester)
Mayo Clinic Staff. (2017). Second trimester pregnancy: What to expect. (https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/pregnancy/art-20047732)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่
ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่

เรื่องง่ายๆ ที่คุณแม่ทุกคนต้องใส่ใจเพราะอัตราการเต้นของหัวใจสัมพันธ์กับความปลอดภัยของลูกน้อย

อ่านเพิ่ม
อะไรคือสัญญาณการฉีกขาดในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก?
อะไรคือสัญญาณการฉีกขาดในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก?

เรียนรู้สัญญาณการตั้งครรภ์นอกมดลูกก่อนที่มันจะฉีกขาด

อ่านเพิ่ม
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?

การตั้งครรภ์ที่เร็วเกินไปที่จะยืนยันด้วยวิธีการทางชีวเคมี

อ่านเพิ่ม