โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่ผิวหนังที่ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะด้านรูปลักษณ์และความสวยงาม และรวมถึงการรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นจากโรคด้วย เพราะโรคสะเก็ดเงินมักจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกยุ่งยาก กังวลใจและเกิดความไม่มั่นใจในการพบปะผู้คน
ฉะนั้น การทำความรู้จักกับโรคสะเก็ดเงิน สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาป้องกัน ตลอดจนการดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ ถึงแม้ว่าคุณจะมั่นใจว่าตนเองไม่มีทางเป็นโรคได้ก็ตาม
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ความหมายของโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) คือโรคผิวหนังที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกาย จนทำให้เกิดการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ผิวหนัง และไม่ใช่โรคติดต่อแต่อย่างใด แต่สามารถเกิดได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย เช่น ข้อศอก หนังศีรษะ ใบหน้า และฝ่ามือ เป็นต้น
สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน
- พันธุกรรม: โรคสะเก็ดเงินเกิดขึ้นได้จากพันธุกรรม โดยจะส่งผ่านจากพ่อแม่มาสู่ลูกได้ หรืออาจเป็นผู้ใกล้ชิดทางสายเลือด และหากทั้งพ่อและแม่เป็นโรคสะเก็ดเงินทั้งคู่ ความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นโรคสะเก็ดเงินไปด้วยก็จะยิ่งสูงมากขึ้น
- ภาวะอารมณ์: ภาวะอารมณ์มีส่วนทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงินขึ้นได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเครียด อารมณ์โกรธ วิตกกังวล อารมณ์หงุดหงิด ซึ่งภาวะอารมณ์เหล่านี้ จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง จนส่งผลให้เซลล์เกิดความผิดปกติ และทำให้เป็นโรคสะเก็ดเงินได้
- การใช้ยาบางชนิด เช่น
- ยาเม็ดคุมกำเนิด
- ยาต้านมาลาเรีย
- ยาลดความดันโลหิจ
- ยารักษาโรคจิต
- ยาแผนโบราณ
- ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) ทั้งแบบฉีดและรับประทาน
- ระดับฮอร์โมน: เมื่อระดับฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ย่อมเป็นสาเหตุกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงินได้ เช่น ภาวะหมดประจำเดือน หรือการมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ และหลังคลอด
- พฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง: เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไปสามารถทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงินได้ ไม่เพียงเท่านั้น การเล่นกีฬามากเกินไปก็สามารถเป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้ขึ้นได้เช่นกัน
- การติดเชื้อ: เมื่อคุณเป็นโรคสะเก็ดเงิน นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของคุณกำลังอ่อนแอด้วย และหากคุณเกิดการติดเชื้อในขณะเป็นโรคสะเก็ดเงินอยู่ อาการของโรคก็อาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งตัวอย่างการโรคติดเชื้อที่กล่าวถึง เช่น การติดเชื้อไวรัส (Human Immunodeficiency Virus: HIV) หรือเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus)
โรคสะเก็ดเงิน แบ่งออกได้กี่ชนิด
1. โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (Plaque Psoriasis)
เป็นชนิดของโรคสะเก็ดเงินที่พบได้บ่อยที่สุด ลักษณะผื่นที่เกิดขึ้นบนผิวหนังจะเป็นขุยๆ และจากนั้นจะเริ่มหนาตัวขึ้นจนเห็นเป็นเกล็ด และขนาดของผื่นก็ยังสามารถขยายได้กว้างมากขึ้นด้วย
โรคสะเก็ดเงินชนิดนี้พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ลำตัว แขนขา โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย เช่น ข้อศอก และหัวเข่า
2. โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นเล็ก (Guttate Psoriasis)
มีความคล้ายคลึงกันกับโรคสะเก็ดเงินชนิดแรก แต่จะแตกต่างกันที่ความหนาของผื่น เพราะของโรคผื่นชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นสีแดง หรือเป็นรูปหยดน้ำสีแดงขนาดเล็กกว้างไม่เกิน 1 เซนติเมตร ส่วนมากมักพบในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี และอาจมีประวัติการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนมาก่อน
3. โรคสะเก็ดเงินชนิดเกล็ดทั่วตัว (Erythrodermic Psoriasis)
เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดรุนแรง โดยมักเริ่มมาจากการเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาก่อน อาการเด่นคือ มีเกล็ดและผื่นแดงขึ้นอยู่ทั่วตัว ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา
4. โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง (Pustular Psoriasis)
เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดที่พบได้น้อยมาก อาการเด่นคือ มีตุ่มขึ้น และมีหนองอยู่ด้านใน ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกคันตลอดเวลาแม้ว่าจะไม่ได้ติดเชื้อก็ตาม
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
5. โรคสะเก็ดเงินชนิดรอยพับ (Flexural Psoriasis)
สำหรับโรคสะเก็ดเงินชนิดนี้อาจมีอาการแสดงเป็นเพียงผื่นแดงเรื้อรัง และไม่มีขุย แต่ก็สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนมากเกิดมักจะเกิดขึ้นตามข้อพับ บริเวณอวัยวะเพศ หรือใต้ราวนม
อาการของโรคสะเก็ดเงิน
อาการของโรคสะเก็ดเงินสามารถบ่งบอกชนิดได้ตามบริเวณต่างๆ ที่เกิดผื่น หรืออาจพูดถึงอาการพื้นฐานของการเป็นโรคสะเก็ดเงินโดยสามารถอธิบายได้ ดังนี้
อาการทั่วไป
- มีผื่นบริเวณผิวหนังและมีสะเก็ด
- เกิดอาการคันอยู่ตลอดเวลา
- ปวดและแสบบริเวณที่มีผื่น
อาการเฉพาะ
- ผิวหนัง: เป็นบริเวณที่สามารถเกิดโรคสะเก็ดเงินได้ง่ายมากที่สุด โดยมักพบบริเวณข้อศอก ศีรษะ และจะเริ่มจากเป็นผื่นเล็กๆ ก่อน รวมถึงมีการบ่งบอกขอบเขตชัดเจน ส่วนผื่นที่เกิดขึ้นนั้นจะมีขุยและมีสะเก็ดสีขาวติดอยู่ หลังจากนั้นผื่นจะสามารถขยายขนาดออกไปได้เรื่อยๆ
- ตามข้อต่อ: นอกจากสะเก็ดเงินจะขึ้นอยู่ตามผิวหนังได้แล้ว ยังสามารถทำให้เกิดอาการปวดตามข้อได้ด้วยรวมถึงข้อนิ้วมือ หรือนิ้วเท้า และผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาข้อต่อติดไม่สามารถขยับได้
- เล็บ: โรคสะเก็ดเงินสามารถเกิดขึ้นที่เล็บได้ด้วย โดยจะทำให้เล็บมีผิวสัมผัสที่ขรุขระ และอาจมีผิวหนังหนาๆ อยู่ใต้เล็บด้วย สำหรับผู้ป่วยบางรายเล็บสามารถหลุดออกมาจากพื้นเล็บได้เลย
การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน
ในขั้นแรกจะเหมือนกับการวินิจฉัยโรคโดยทั่วไปคือ ซักประวัติสุขภาพของผู้ป่วยก่อน จากนั้นแพทย์จะต้องตรวจดูรอยโรคที่เกิดขึ้นว่ามีจำนวนเท่าไร และต้องวัดขนาดของผื่นเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวินิจฉัย และเพื่อนำไปสู่วางแนวทางการรักษาได้อย่างถูกต้อง
วิธีรักษาโรคสะเก็ดเงิน
ปัจจุบันมีวิธีรักษาโรคสะเก็ดเงินอยู่หลายวิธี แต่ละวิธีก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไปซึ่งการเลือกวิธีรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
1. รักษาด้วยการทายา
- ยาคอติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
- น้ำมันดิน (Tar)
- แอนทราลิน (Antralin)
- อนุพันธ์วิตามินดี (Vitamin D derivative)
- ยาทากลุ่ม (แคลซินิวริน อินฮิบิเตอร์ ) Calcineurin inhibitor
2. รักษาด้วยยารับประทาน
เป็นยาที่สามารถออกฤทธิ์ได้ตั้งแต่ระดับเซลล์ภูมิคุ้มกัน สามารถช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงินได้โดยมีตัวยา ดังนี้
- เมทโทเทรกเสท (Methotrexate)
- อาซิเทรติน (Acitretin)
3. รักษาด้วยการฉายแสงรังสี
โรคสะเก็ดเงินสามารถรักษาได้ด้วยการฉายแสงในบางจุดที่มีผื่นสะเก็ดเงิน แสงที่ใช้ คือ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- รังสีอัลตราไวโอเลต บี (Ultraviolet B: UVB) เหมาะสำหรับผู้ที่มีผื่นสะเก็ดเงินมาก หรืออาการของโรครุนแรง และรังสีนี้ยังทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อการรักษาได้น้อยด้วย
- รังสีอัลตราไวโอเลต เอพูวา เป็นชื่อที่มาจากชื่อของการรักษาเต็มว่า “การรักษาด้วยแสงอัลตราไวโอเลต ร่วมกับสารเคมีซอราเลน (Psoralen And Ultraviolet A: PUVA)” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “การรักษาแบบพูวา (PUVA Therapy)” เป็นการรักษาโดยใช้แสงอัลตราไวโอเลต เอ ซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อการรักษาคือ สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นผื่นสะเก็ดเงินในขั้นที่มีความรุนแรงมากที่สุดเท่านั้น
4. การรักษาแบบอื่นๆ
นอกเหนือจากการรักษาด้วยวิธีที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินยังสามารถใช้วิธีรักษารูปแบบอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การใช้ยาฉีดกลุ่มชีวภาพ แต่ก็มีข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
วิธีป้องกันโรคสะเก็ดเงิน
ในปัจจุบัน อาจยังไม่มีวิธีใดที่จะสามารถป้องกันโรคสะเก็ดเงินได้อย่างเห็นผลชัดเจน แต่การเรียนรู้สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน และหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองให้มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นวิธีป้องกันโรครูปแบบหนึ่งแล้ว เพราะเมื่อคุณเข้าใจที่มาของการเกิดโรค ก็ย่อมช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้
วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงิน
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ไปพบแพทย์ตามนัด
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด
- พยายามสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อไม่ให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่
โรคสะเก็ดเงินนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกทรมานกับอาการปวดแสบปวดร้อนแล้ว โรคนี้ยังทำให้คุณรู้สึกไม่ดีกับผิวพรรณหน้าตาของตนเอง รวมไปถึงการแต่งกาย การพบปะผู้คน และทำให้เสียบุคลิกภาพได้ เพราะคนรอบตัวที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้อาจแสดงท่าทีรังเกียจออกมาจนทำให้คุณเสียความมั่นใจ
ดังนั้น การดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ย่อมช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ทุกชนิด และหากคุณพบความผิดปกติบริเวณผิวหนัง และกังวลว่าตนเองอาจเป็นโรคสะเก็ดเงิน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการแต่เนิ่นๆ และเพื่อไม่ให้ปล่อยให้โรคนี้มาทำให้คุณเสียรูปลักษณ์จนหมดความมั่นใจ
ดูแพ็กเกจปรึกษาแพทย์ผิวหนังออนไลน์ เปรียบเทียบราคา โปรโมชันล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android