วิธีการดูแลผู้ป่วยสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังชนิดเรื้อรัง ที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยมากที่สุดโดยเฉพาะระยะอาการกำเริบ
เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
วิธีการดูแลผู้ป่วยสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังชนิดเรื้อรัง ที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยมากที่สุดโดยเฉพาะระยะอาการกำเริบ โดยปรากฏเป็นผื่นแดงกระจายทั่วตัว จนถึงเกิดเป็นแผ่นหนา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเลือดออกใต้ผิวหนัง (Auspitz’s sign) ผิวส่วนบนจะหลุดลอกเป็นขุย มีโอกาสเกิดบาดแผล บางรายมีอาการเป็นไข้ปวดข้อร่วมด้วย

ในประเทศไทย พบผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินนับล้านคน คนไทยเรียกว่า”โรคเรื้อนกวาง” จากลักษณะอาการซึ่งคล้ายกับอาการโรคเรื้อนที่เกิดกับผิวหนังของกวาง สาเหตุของโรคเรื้อรังสะเก็ดเงิน 50 % เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งไม่สามารถควบคุมป้องกันได้อีกครึ่งหนึ่งเกิดจากปัจจัยกระตุ้น แยกได้ 2 ปัจจัยคือ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  1. ปัจจัยภายใน เช่น สาเหตุจากโรคต่างๆ ที่เกิดกับอวัยวะภายใน เช่น ปอด ตับ ไต หรือระดับฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนปลง ส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ ความเครียด หงุดหงิดโมโหง่าย
  2. ปัจจัยภายนอก สิ่งกระตุ้นภายนอกมักก่ออาการระคายเคืองที่ผิวหนัง เช่น จากการใช้ผลิตภัณฑ์ น้ำยาซักล้างทำความสะอาดบางชนิด การใช้ครีม น้ำหอมบางตัว แพ้อาหารบางประเภท รวมถึงสาเหตุจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด

ลักษณะผื่นคันจากโรคสะเก็ดเงิน

  • ชนิดผื่นเล็ก (Guttate) เม็ดแดง ผื่นเล็กๆ  เป็นสะเก็ดเป็นขุยสีขาว มักกระจายอยู่ตามแขนขาและทั่วลำตัว
  • ชนิดผื่นหนา (Plaque) เป็นสะเก็ดเงินชนิดที่พบได้บ่อย เกิดผื่นแดงเป็นแผ่นหนานูน มีขอบเป็นวงรอบชัดเจนตามแขนขา ลำตัวและหนังศีรษะ ผิวหนังบริเวณผื่นคันแห้งแข็งเป็นขุย อาจเป็นแผลลุกลามและเกิดการอักเสบได้ง่าย

นอกจากนี้ โรคสะเก็ดเงินเกิดขึ้นได้ตามข้อพับ ตามมือและเท้าเป็นตุ่มหนองเรื้อรัง (Pustular) อักเสบแดง  บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย หรือสะเก็ดเงินที่เล็บมือเล็บเท้า (Psoriatic nails) เล็บแห้งหนานูนจนผิดรูป ร่อนหลุดง่ายเกิดเป็นหลุมขรุขระ

วิธีรักษาและการใช้ยา 

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ไม่สามารถแก้ไขที่ต้นเหตุได้ แพทย์จะให้การรักษาเพื่อควบคุมอาการ รวมถึงให้คำแนะนำในการดูแลป้องกันการกำเริบ ผู้ป่วยต้องมีวินัยในการดูแลทำความสะอาดร่างกายและบริเวณผื่น ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะการใช้ยาแต่ละชนิด สำหรับญาติผู้ป่วยควรทำความเข้าใจกับอาการของโรคนี้ คอยให้กำลังใจ ช่วยเหลือดูแลทำความสะอาดบริเวณที่พักอาศัย หรือช่วยทายาบ้าง เพราะโรคสะเก็ดเงินไม่น่ากลัวและไม่ใช่โรคติดต่อ

ยาทาผิวหนัง 

แพทย์จะให้ยาทาชนิดช่วยบรรเทาอาการคัน ลดผื่นแดงที่ผิวหนัง ป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบ

ยางบางชนิดช่วยเร่งการหลุดลอกในตำแหน่งเป็นผื่น เช่น ยาทาในกลุ่มซาลิไซลิก (Salicylic Acid) สำหรับทาตามมือและเท้าบริเวณเกิดผื่นแผ่นหนา ช่วยในการละลายขุยให้หลุดลอกออก และผิวหนังจะนุ่มขึ้น ในตัวยามีส่วนผสมของกรดซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณข้อพับจึงควรหลีกเลี่ยง และไม่เหมาะสำหรับผิวเด็ก นอกจากนี้แพทย์อาจให้ทาน้ำมันมะกอกตรงบริเวณที่ผิวลอกแล้ว เพื่อลดอาการแสบคัน

ยารับประทาน 

สำหรับผู้ป่วยที่มีผื่นแดงลุกลามทั่วทั้งตัว แพทย์มักให้ยาชนิดรับประทานเพื่อลดการเกิดผื่น เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง แต่ยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงอาจทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดเฉียบพลัน ต้องใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ ซึ่งจะใช้รักษาในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบเป็นหนองลุกลามทั่วตัว แพทย์มักพิจารณาให้รับประทานยาบางชนิดอย่างระมัดระวัง เช่นกัน โดยเฉพาะกับสตรีมีครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกพิการ ยาในกลุ่มนี้ เช่น อนุพันธุ์วิตามินเอหรือเรตินอยด์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การฉายแสงด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (Ultraviolet) รังสี UV-A หรือ UV-B 

แพทย์อาจเลือกใช้วิธีฉายแสง UV เพื่อยืดเวลาเกิดอาการกำเริบกับผู้ป่วยบางราย

การฉายแสง PUVA 

ใช้แสงอัลตราไวโอเลตเอ (PUVA) ร่วมกับการใช้ยา Psoralen เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยสะเก็ดเงินที่มีอาการรุนแรง โดยต้องรับการฉายแสงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในระยะเวลาและจำนวนที่เหมาะสมภายใต้การดูแลติดตามผลของแพทย์ แต่การใช้แสง PUVA ในการรักษาอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง

การควบคุมป้องกันโรคสะเก็ดเงินกำเริบ

เมื่อเกิดอาการกำเริบ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินบางราย ได้รับการรักษาจนหาย โดยเฉพาะในรายที่ค้นพบสาเหตุและปัจจัยกระตุ้น สามารถกำจัดให้น้อยลงจนถึงหมดไปได้ โอกาสกำเริบระยายาวจึงน้อยลง ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องทราบหลักในการปฏิบัติตัว การดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการกำเริบ

  1. ให้ความร่วมมือกับแพทย์ผู้รักษา ทั้งการรับประทานยา การทายา และดูแลสุขภาพตนเองอย่างดีที่สุด
  2. ลด ละ เลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เริ่มต้นที่การจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานอย่างเหมาะสม 
  3. ปกป้องผิวหนังจากการสัมผัสสิ่งที่จะก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่นผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่สัมผัสโดนผิวหนัง รวมถึงการสวมเสื้อผ้าปกปิดเพื่อป้องกันผิวสัมผัสโดนแสงแดดโดยตรง
  4. ระมัดระวังการเสียดสีจากสิ่งต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้  เช่น การเลือกสวมใส่เสื้อผ้าด้วยเนื้อผ้าที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง หรืออับร้อนเกินไป  การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่แรงเกินไป หรืออาจระคายเคืองผิวหนัง ลด ละเลี่ยง ไม่แกะไม่เกาในตำแหน่งที่รู้สึกคันระคายเคือง หรือสัมผัสถูไถบริเวณผื่นแดงซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบลุกลาม
  5. งดสูบบุหรี่  งดดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  6. รับประทานอาหารมีประโยชน์ เน้นทานผัก ข้าวโพดอ่อน ผักคะน้า ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ตำลึง ผักกวางตุ้งซึ่งช่วยลดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่มากผิดปกติ ชะลอการกำเริบของโรคให้น้อยลง
  7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สงบ  หลีกเลี่ยงความเครียดและความวิตกกังวล

วิธีดูแลรักษาตำแหน่งที่เกิดผื่นด้วยตนเอง

หนังศีรษะ

  • นวดศีรษะด้วยวิตามินดีเมื่อมีอาการอักเสบ
  • เลือกใช้แชมพูสระผมที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน  2-8% (Tar shampoo) ช่วยรักษาและทำให้ขุยหลุดลอก
  • กรณีเกิดขุยหนา ใช้ Salicylic acid 1-3%  ผสมน้ำมันมะกอก นวดให้ทั่วหนังศีรษะ หมักทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมง ใช้น้ำอุ่นนวดร่วมกับแชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน หมักทิ้งไว้อีก 5 นาทีแล้วล้างออก ใช้หวีซี่ถี่ๆ หวีสางเศษขุยให้หลุดร่วงจากหนังศีรษะอย่างเบามือ

เล็บ

  • ทาครีมหรือขี้ผึ้ง 10-20 % Salicylic acid ทิ้งไว้หนึ่งคืน วันต่อมาขูดสะเก็ดออกจากเล็บ ทายาในกลุ่มวิตามินดี หรือ Calcipotriol ointment

ใบหน้า

  • ตัวยาที่เหมาะสำหรับผิวหน้ามักเป็นยาสเตียรอยด์ชนิดอ่อน แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

ผ่ามือ-ผ่าเท้า

  • ทาด้วยครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน สารเคมีไฮโดรคาร์บอนที่ได้จากธรรมชาติให้ผลการรักษานานกว่ายาในกลุ่มสเตียรอยด์



39 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Providing Guidance for Patients With Moderate-to-Severe Psoriasis Who Are Candidates for Biologic Therapy. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4770271/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)