ทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน มี 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี และการใช้ยาเคมีบำบัด
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (National Cancer Institute: NCI) ได้ประมาณการตัวเลขว่า จะมีผู้ป่วยประมาณ 48,960 คน ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นโรคมะเร็งตับอ่อน ในปี 2015 โดยโรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ และมีอายุเฉลี่ยเมื่อได้รับการวินิจฉัยอยู่ที่ 71 ปี
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
มะเร็งตับอ่อนอาจเริ่มเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่การตรวจพบมะเร็งในระยะแรกเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมักไม่มีอาการ หรืออาการแสดงไม่ชัดเจนจนกระทั่งมะเร็งเข้าสู่ระยะท้ายๆ ทำให้เมื่อตรวจพบแล้ว ก็จะมีทางเลือกในการรักษาที่ค่อนข้างจำกัด
การผ่าตัดกับโรคมะเร็งตับอ่อน
การผ่าตัดเพื่อตัดตับอ่อนทั้งหมด หรือบางส่วนออก ถือเป็นทางเลือกที่ควรทำอันดับแรกในผู้ที่ก้อนมะเร็งยังคงจำกัดอยู่ในตับอ่อน อย่างไรก็ตาม สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (ACS) พบว่า การพบก้อนลักษณะนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนเพียงแค่ 20% เท่านั้น
การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน มี 3 แบบ ได้แก่
- การผ่าตัดแบบ Whipple operation (วิปเปิล โอเปอเรชั่น) หรือ Pancreaticoduodenectomy (แพนครีเอติโคดูโอดีเนคโตมี่) คือการตัดตับอ่อนบางส่วน ถุงน้ำดี ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง กระเพาะอาหารบางส่วน ลำไส้เล็ก และทางเดินน้ำดีออก
การผ่าตัดแบบ Whipple operation เป็นการผ่าตัดที่ยาก และมักมีภาวะแทรกซ้อนได้มาก เช่น มีสารน้ำรั่วออกจากอวัยวะ เลือดออกและมีการติดเชื้อ มีปัญหาในการย่อยอาหาร เช่น ไม่สามารถไล่อาหารออกจากกระเพาะอาหารได้ โรคเบาหวาน น้ำหนักลด และปัญหาด้านการขับถ่าย - การผ่าตัดแบบ Distal pancreatectomy (ดิสทัล แพนครีเอเทคโตมี่) เป็นการตัดตับอ่อนบางส่วนและม้ามออก
- การผ่าตัดแบบ Total pancreatectomy (โททัล แพนครีเอเทคโตมี่) เป็นการตัดตับอ่อนออกทั้งหมด พร้อมกับการตัดอวัยวะอื่นๆ
การตัดตับอ่อนจะทำให้เกิดเบาหวานเสมอ เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน (Insulin) เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ให้สูงเกินไป หรือต่ำเกินไป ผู้ที่ผ่าตัดแบบ Total pancreatectomy จะต้องฉีดอินซูลินไปตลอดชีวิต ร่วมกับรับประทานเอนไซม์ของตับอ่อนเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร
การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการโรคมะเร็งตับอ่อน
การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อนที่มีการแพร่กระจายจนไม่สามารถตัดออกได้ทั้งหมด มี 2 วิธี คือ
- Gastric bypass (แกสสตริกบายพาส) การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหาร
- การส่องกล้อง เพื่อใส่ขดลวดขยายทางเดินน้ำดีไม่ให้ตีบจากแรงกดของก้อน
การฉายรังสีและการใช้ยาเคมีบำบัด
การรักษาโดยการฉายรังสีทำได้โดยการใช้รังสีที่มีพลังงานสูงเข้าทำลายเซลล์มะเร็ง มักเป็นวิธีการรักษาที่ใช้ต่อจากการผ่าตัด เพื่อช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ หรือใช้รักษาโรคมะเร็งตับอ่อนที่มีการลุกลามออกนอกตับอ่อน การฉายรังสีอาจใช้เครื่องจากภายนอกร่างกาย หรือใส่อุปกรณ์เข้าไปในร่างกายให้ใกล้ก้อนมะเร็งมากที่สุดก็ได้
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการฉายรังสี ได้แก่
- ผิวหนังมีลักษณะไหม้
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหารและน้ำหนักลด
- เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
การใช้ยาเคมีบำบัด คือการให้ยาทั้งทางกิน หรือทางการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ มักเป็นการรักษาที่ใช้ร่วมกับการผ่าตัด และ/หรือการฉายรังสี โดยเฉพาะในผู้ที่ป่วยที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะส่วนอื่น ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของการใช้ยาเคมีบำบัด ได้แก่ ผมร่วง เบื่ออาหาร เจ็บปาก และมีปัญหาระบบทางเดินอาหาร
อัตราการรอดชีวิตของโรคมะเร็งตับอ่อน
มะเร็งตับอ่อนถือเป็นมะเร็งที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้มากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยข้อมูลจาก NCI ระบุว่า มีผู้ป่วยเพียง 7.2% ที่มีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 5 ปีหลังการวินิจฉัย และถึงแม้ว่าจะเป็นมะเร็งที่พบได้น้อย แต่โรคนี้ก็เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งถึง 6.9% ของทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา
การพยากรณ์โรคมักจะดี หากมะเร็งยังคงอยู่ภายในตับอ่อนในเวลาที่มีการวินิจฉัย โดยมีอัตรารอดชีวิตอย่างน้อย 5 ปีอยู่ที่ 27.1% ลดลงเหลือ 10.7% ในมะเร็งที่มีการแพร่กระจายในบริเวณใกล้เคียง และเหลือเพียง 2.4% ในมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย