กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

อาการเจ็บขณะหายใจ (Painful Respiration)

อาการเจ็บขณะหายใจ อาจเป็นสัญญาณของภาวะทางการแพทย์ที่รุนแรง เช่น โรคหัวใจ ความผิดปกติเกี่ยวกับปอด ที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
เผยแพร่ครั้งแรก 4 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 13 ส.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
อาการเจ็บขณะหายใจ (Painful Respiration)

อาการเจ็บขณะหายใจ อาจเกิดขึ้นได้หลายระดับตั้งแต่ความรู้สึกไม่สบายเล็กน้อยไปจนถึงอาการปวดอย่างรุนแรง และอาการหายใจลำบาก ซึ่งอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่เหมาะสม หรือคุณภาพอากาศไม่ดี เช่น การสูดดมฝุ่นพิษ PM 2.5

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

รู้จัก ฝุ่นพิษ PM 2.5

อาการเจ็บขณะหายใจอาจเป็นสัญญาณของภาวะทางการแพทย์ที่รุนแรง ซึ่งผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที

อาการเจ็บขณะหายใจ แบบใดอันตรายที่สุด?

หากพบผู้ที่มีอาการเจ็บขณะหายใจร่วมกับอาการต่อไปนี้ ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล หรือโทรศัพท์สายด่วน 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาล

  • หมดสติ
  • หายใจหอบ หายใจเร็ว
  • หิวอากาศ (Air hunger) หรือรู้สึกเหมือนสูดอากาศได้ไม่เพียงพอ
  • อ้าปากค้างเพื่อหายใจ
  • สำลัก
  • อาการเจ็บหน้าอก
  • สับสน
  • เหงื่อออกหนัก
  • ผิวซีด
  • ผิวหนัง เล็บ นิ้วมือหรือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี
  • เวียนศีรษะ
  • ไอเป็นเลือด
  • เป็นไข้
  • อาการปวดคอ ขากรรไกรล่าง กรามล่าง ต้นแขน ท้องแขน หัวไหล่

สาเหตุของอาการเจ็บขณะหายใจ

มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บขณะหายใจ ตั้งแต่การได้รับอุบัติเหตุจนเกิดรอยฟกช้ำที่หน้าอก ไปจนถึงความเจ็บป่วยทางการแพทย์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • โรคปอดและการบาดเจ็บของปอด อาจทำให้เกิดปัญหาการหายใจในระยะยาวหรือถาวร ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดเมื่อหายใจเข้าและออก หากหายใจลึกๆ อาจทำให้เกิดอาการไอร่วมกับความเจ็บปวด โดยโรคปอดและการบาดเจ็บของปอดที่อาจทำให้เกิดอาการเจ็บขณะหายใจ มีดังนี้
    • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เช่น โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
    • โรคหอบหืด
    • ปอดได้รับบาดเจ็บจากสารเคมีหรือการสูดดมควันพิษ
    • กระดูกซี่โครงหัก
    • ลิ่มเลือดอุดตันในปอด
    • ภาวะปอดรั่ว (Pneumothorax)
    • โรคหนองในทรวงอก (Empyema) เป็นการสะสมของหนองจากการติดเชื้อภายในเยื่อบุช่องอก
    • โรคกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ (Costochondritis) เป็นการอักเสบของส่วนเชื่อมระหว่างซี่โครงกระดูก กระดูกทรวงอก และกระดูกสันหลังซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก
    • โรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleurisy) เป็นการอักเสบของเยื่อบุของปอดหรือช่องอก มักเกิดจากการติดเชื้อ
    • โรคปอดบวม (Pneumonia) เป็นการติดเชื้อในปอดที่เกิดจากไวรัส เชื้อรา หรือแบคทีเรีย
    • วัณโรค (TB) ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียในปอดอย่างรุนแรง
  • โรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจอาจมีอาการหายใจลำบากและหายใจไม่สะดวก มีโรคหัวใจหลายประเภทที่ทำให้เกิดอาการเจ็บขณะหายใจได้ เช่น
    • ภาวะเจ็บแน่นหน้าอก (Angina) เกิดจากเลือดไหลไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง
    • โรคหัวใจตายจากการขาดเลือด (Heart attack) เกิดจากเลือดถูกปิดกั้นจนไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจ
    • โรคหัวใจล้มเหลว (Heart failure) เกิดขึ้นเมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตได้เช่นเคย
    • โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) เกิดขึ้นเมื่อมีการอักเสบของถุงที่หุ้มรอบหัวใจจนทำให้เกิดอาการปวดขึ้น

การวินิจฉัยอาการเจ็บขณะหายใจ

แพทย์จะเริ่มต้นวินิจฉัยด้วยการซักประวัติทางการแพทย์ และซักประวัติครอบครัว พร้อมกับตรวจร่างกายว่าผู้ป่วยรู้สึกเจ็บตรงไหนเมื่อหายใจ และทำอย่างไรจึงจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้บ้าง หลังจากนั้นแพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บขณะหายใจ ดังนี้

  • การถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์หน้าอก
  • การสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • การเจาะตรวจเลือด
  • การส่งตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • การวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด (Pulse oximetry)
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiogram)
  • การตรวจวัดการทำงานของปอด

ทางเลือกการรักษาอาการเจ็บขณะหายใจ

การรักษาอาการเจ็บขณะหายใจที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น หากเกิดจากโรคปอดอักเสบที่ติดเชื้อจากแบคทีเรีย แพทย์อาจรักษาด้วยการจ่ายยาปฏิชีวนะแบบรับประทานหรือแบบฉีดให้ แต่บางภาวะที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะภาวะที่เกี่ยวกับหัวใจ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การป้องกันอาการเจ็บขณะหายใจ

ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นโรคปอด และโรคหัวใจ ที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บขณะหายใจได้ ด้วยการปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสูดควันบุหรี่จากคนรอบข้าง
  • เลี่ยงมลภาวะจากสิ่งแวดล้อม
  • หลีกเลี่ยงการสูดดมสารพิษในที่ทำงาน
  • เลี่ยงการสูดดมควันต่างๆ
  • ควบคุมระดับน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ลดระดับความดันโลหิต น้ำตาล และคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายทุกวัน
  • ลดการบริโภคเกลือ ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์

ที่มาของข้อมูล

JC Jones MA, RN and Kristeen Cherney, Why Does It Hurt to Breathe? (https://www.healthline.com/health/painful-respiration), February 27, 2018.


12 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Pain With Deep Breathing: Symptoms, Causes, and Diagnosis. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/pain-with-deep-breathing-4129383)
Painful respiration: When to get help, causes, and home treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/324718)
Pain and respiration: a systematic review. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/28240995)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)