กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ. วรรณวนัช เสถียนธรรมมณี แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ. วรรณวนัช เสถียนธรรมมณี แพทย์ทั่วไป

รู้จักฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มากับมลภาวะ และวิธีการเลือกหน้ากากป้องกัน

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร? มาจากไหน? แตกต่างจากฝุ่นละอองทั่วไปในอากาศอย่างไร? อันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
รู้จักฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มากับมลภาวะ และวิธีการเลือกหน้ากากป้องกัน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • PM 2.5 คือ ค่าเรียกมาตรฐานฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งมีหน่วยวัดเป็นไมครอน หรือไมโครเมตร มีทั้งหมด 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ PM10 และ PM 2.5
  • ฝุ่น PM 2.5 จะมีอนุภาคขนาดเล็กมาก โดยจะสะสมปะปนอยู่ในอากาศไอน้ำ ฝุ่นควัน และก๊าซต่างๆ รอบตัว คุณไม่สามารถมองเห็นฝุ่นเหล่านี้ด้วยตาเปล่าได้ แต่เมื่อฝุ่นรวมตัวกันมากๆ คุณก็จะเห็นเป็นหมอกควันจางๆ อย่างที่เห็นกันทุกเช้า
  • ถึงฝุ่น PM 2.5 จะมีขนาดเล็ก แต่กลับทำอันตรายต่อร่างกายของคุณได้หลายด้าน รวมถึงทำลายสมดุลต่างๆ ของร่างกายจนเกิดโรคมากมาย เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคถุงลมโป่งพอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • วิธีป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 โดยหลักๆ คือ ให้ใส่หน้าอนามัยทุกครั้งที่ออกข้างนอก โดยควรเลือกเป็นหน้ากาก N95 และหลีกเลี่ยงไม่ไปอยู่ในที่ที่มีฝุ่นเยอะ หรือมีการเผาไหม้
  • ถึงแม้ฝุ่น PM 2.5 จะจางลงไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีละอองเชื้อโรคที่คุณมองไม่เห็นปะปนอยู่ในอากาศ อาจทำให้เกิดอาการตาแดง คัน ตาบวม คุณจำเป็นต้องดูแลตัวเองอยู่เสมอ เพื่อเช็กให้แน่ใจว่า มลภาวะที่เป็นพิษในตอนนี้ไม่ได้ทำให้คุณเกิดอาหารภูมิแพ้ (ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้ได้ที่นี่)

ปัจจุบัน ปัญหาฝุ่นละอองเป็นพิษ หรือที่เรียกกันว่า “ฝุ่น PM 2.5” ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลายเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เข้าใจผิดว่า ท้องฟ้าสีหม่นที่เห็นในยามเช้าเกิดจากหมอกควัน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว สิ่งนั้นคือการรวมตัวกันของมลพิษทางอากาศที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานต่างหาก และยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร?

คำว่า PM (พีเอ็ม) ย่อมาจาก Particulate Matters (พาร์ทิคิวเลทแมทเทอร์) เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีหน่วยวัดคือ ไมครอน หรือไมโครเมตร แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5

โดยฝุ่น PM 2.5 เป็นอนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่างๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมหาศาลจะมองเห็นเป็นหมอกควันอย่างที่เราเห็นกันในทุกๆ เช้านั่นเอง

ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญ และออกมาแจ้งเตือนให้ทราบ เพราะเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก (เล็กกว่าเส้นผมถึง 20 เท่า) เมื่อหายใจเขาไปแล้ว สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ปอดและหลอดเลือดได้ง่าย จนส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว

           ภาพเปรียบเทียบขนาดฝุ่นละออง PM2.5 (วงกลมสีฟ้า) กับขนาดของฝุ่นละออง PM10 (วงกลมสีขาว) เส้นผม และเม็ดทราย

ฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน?

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง หรือฝุ่น PM 2.5 เช่น

  • โรงผลิตไฟฟ้า
  • ควันท่อไอเสียจากรถยนต์
  • การเผาไม้ทำลายป่า เผาขยะ
  • การเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์
  • ฝุ่นจากการก่อสร้าง

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝุ่น PM 2.5 สะสมรวมกันอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่รายล้อมไปด้วยตึกสูง มีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 ได้ง่าย ปกติแล้ว ฝุ่นเหล่านี้จะลอยขึ้นไปรวมตัวกันในอากาศเป็นจำนวนมากในช่วงกลางคืน ก่อนที่จะถูกลมพัดฟุ้งกระจายจางหายไปในยามเช้า

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

แต่หากวันไหน อากาศนิ่ง ไม่มีลมพัด ก็จะทำให้ฝุ่น PM 2.5 ไม่ฟุ้งกระจาย เกิดการสะสมของฝุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนระดับความเข้มของฝุ่นในพื้นที่นั้นๆ เข้าสู่ระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนกลายเป็นปัญหาทางมลภาวะทางอากาศนั่นเอง

ฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร?

ฝุ่น PM 2.5 ไม่มีกลิ่น มีขนาดเล็กมาก สามารถผ่านเข้าไปในร่างกายได้ถึงถุงลมปอด บางส่วนสามารถเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมปอดเข้าไปในเส้นเลือดฝอยล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายได้

ฝุ่น PM 2.5 ที่เล็ดรอดเข้าไปในร่างกายนั้น จะกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ รบกวนสมดุลต่างๆ ของร่างกาย และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบ ซึ่งมีอันตรายต่อเนื้อเยื่อในร่างกาย และส่งผลกระทบต่างๆ ตามมา ดังนี้

  • กระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง
  • กระตุ้นให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • สำหรับผลระยะยาวจะทำให้การทำงานของปอดถดถอย อาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้ แม้ว่าคุณจะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และเพิ่มโอกาสทำให้เกิดมะเร็งปอดได้อีกด้วย

ข้อแนะนำและวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5

  • ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
  • หลีกเลี่ยงการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง เช่น การเผาพื้นที่เพื่อเตรียมการทำเกษตรกรรม การเผาขยะ หรือวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น
  • ควบคุมกระบวนการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด
  • ออกกำลังกายในที่ร่ม หรือที่ที่ฝุ่นน้อย และไม่ควรใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกกำลังกาย
  • รับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในป้องกันอันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 เช่น วิตามินซี ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันร่างกายลดปัญหาจากภูมิแพ้ต่อระบบต่างๆ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารต้านการอักเสบ ช่วยป้องกันความเสื่อมของร่างกายจากการได้รับฝุ่นละออง PM 2.5
  • ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่จำเป็นต้องออกข้างนอกบ้าน หรือที่โล่งแจ้ง แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยชนิดที่เรียกว่า “เอ็นเก้าห้า (N95)” โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจเรื้อรัง เพราะสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ดี
  • สำหรับคนทั่วไปอย่างน้อยให้ใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง

วิธีการใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง

  • หันด้านที่เป็นสีเขียวและเป็นมันออกด้านนอก
  • ให้ส่วนที่มีแผ่นเสริมความแข็งแรงและช่วยในการเข้ารูปอยู่ด้านบนของจมูก สังเกตรอยพับของผ้าด้านหน้าต้องพับลง หากใส่ผิดรอยพับจะกักเก็บฝุ่นละอองในรอยพับ ทำให้หายใจลำบาก
  • คล้องเชือกไว้กับหู โดยกดตรงส่วนเสริมความแข็งแรงให้แนบชิดกับสันจมูกมากที่สุด และดึงส่วนล่างมาปิดที่ค้าง
  • เปลี่ยนหน้ากากอนามัยทุกวัน และไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น

ประเภทของหน้ากากอนามัยและการเลือกใช้ให้เหมาะสม

1. หน้ากากอนามัยชนิด N95

เป็นหน้ากากอนามัยที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีมาตรฐาน และได้รับการยอมรับว่า สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง หรือเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กถึง 0.3 ไมครอน เหมาะสำหรับการสวมใส่เพื่อป้องกันมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ควันพิษ ไอเสียรถยนต์ และไอระเหยของสารเคมีต่างๆ

2. หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

หรือที่เรียกกันว่า “หน้ากากอนามัยทางการแพทย์” เป็นหน้ากากอนามัยที่คนส่วนมากคุ้นเคยกันดี เพราะหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง เน้นในด้านการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจากการไอ หรือจาม

อย่างไรก็ตาม หากเป็นเชื้อไวรัสหรือฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็กระดับไมครอน อาจไม่สามารถป้องกันได้ จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5

3. หน้ากากอนามัยแบบผ้าฝ้าย

หน้ากากอนามัยชนิดนี้มีระดับความป้องกันไม่แตกต่างจากหน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ เน้นการป้องกันการกระจายของน้ำมูก หรือน้ำลาย จากการไอ หรือจาม สามารถป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 ไมครอนขึ้นไป จึงไม่เหมาะสำหรับใช้เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5

หน้ากากอนามัยแบบผ้าฝ้ายมีข้อดีคือ ประหยัดกว่าการใช้หน้ากากอนามัยแบบอื่น เพราะสามารถนำไปซักกับน้ำยาฆ่าเชื้อโรคแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้

สรุป

ฝุ่น PM 2.5 เป็นมลพิษต่ออากาศ และร่างกาย ควรป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ หรือที่เรียกว่า “หน้ากากอนามัย N95” ก่อนออกจากอาคารทุกครั้ง

แต่หากไม่มีหน้ากากอนามัย N95 สามารถใช้หน้ากากอนามัยประเภทอื่นทดแทนไปก่อนได้ อย่างไรก็ตาม หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น หรือแบบผ้าฝ้าย สามารถช่วยป้องกันได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และควรใส่ให้ถูกวิธีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน

วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 คือการแก้ไขที่ต้นเหตุ 

ดังนั้น เราควรร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหาด้วยการลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เช่น ไม่เผาไหม้ขยะ หรือหันไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM 2.5 ไม่ให้เกินมาตรฐานนั่นเอง

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, ฝุ่นพิษ PM2.5 เยียวยาด้วยอาหารรักษ์หัวใจ (http://www.thaiheartfound.org/category/details/food/519), 9 กุมภาพันธ์ 2562.
Weber SA et al., Assessing the impact of fine particulate matter (PM2.5) on respiratory-cardiovascular chronic diseases in the New York City Metropolitan area using Hierarchical Bayesian Model estimates (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/27543787), 17 August 2016
Ville Miettinen, US Environmental Protection Agency, What is PM2.5 and Why You Should Care (https://blissair.com/what-is-pm-2-5.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป