กลุ่มโรค NCDs โรคร้ายที่มาจากพฤติกรรม

เผยแพร่ครั้งแรก 18 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
กลุ่มโรค NCDs โรคร้ายที่มาจากพฤติกรรม

NCDs (Non-Communicable diseases) คือกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ซึ่งโรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจอันตรายถึงชีวิต ในปัจจุบัน กลุ่มโรค NCDs จัดเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของคนทั่วโลก

กลุ่มโรค NCDs น่ากลัวแค่ไหน?

สถิติของประเทศไทยในปี 2552 พบว่ามีประชากรเสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs 300,000 คน ซึ่งคิดเป็น 73% ของการเสียชีวิตทั้งหมด และในปัจจุบันยังมีคนไทยที่ป่วยเป็นโรคในกลุ่ม NCDs ถึง 14 ล้านคน นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังพบว่า ในแต่ละปีมีผู้ที่เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs ทั่วโลกกว่า 30 ล้านคน โดยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากที่สุด รองลงมาคือโรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอด และโรคเบาหวาน ตามลำดับ จะเห็นได้ว่ากลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตหลักของคนทั่วโลก และเกินกว่าครึ่งของผู้ป่วยก็ล้วนเป็นประชากรในประเทศกำลังพัฒนา และอยู่ในวัยแรงงาน ดังนั้น นอกจากกลุ่มโรค NCDs จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจของประชากรแล้ว ยังต้องใช้งบประมาณสูงในการรักษา และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ตัวอย่างโรคในกลุ่ม NCDs ที่พบบ่อย

  • โรคเบาหวาน เกิดจากการมีน้ำตาลในเลือดสูงอย่างควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ปลายประสาทถูกทำลาย เป็นแผลติดเชื้อ ตาบอด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงได้แก่ การทานอาหารหวานมัน และขาดการออกกำลังกาย
  • โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เกิดจากผนังหลอดเลือดแข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากมีไขมันอุดตันและเกิดการอักเสบ จนทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจและสมองได้ไม่เพียงพอ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การมีไขมันในเลือดสูงซึ่งมาจากอาหารและพันธุกรรม และไม่ออกกำลังกาย
  • โรคถุงลมโป่งพอง เกิดจากการอักเสบของถุงลมขนาดเล็กในปอด จนทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดผิดปกติ ปัจจัยสำคัญนั้นมาจากการสูบบุหรี่
  • โรคมะเร็ง เกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะ โดยมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม สาเหตุการเกิดมะเร็งนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พฤติกรรมเสี่ยงของโรคนั้นมีมากมาย ทั้งอาหารการกิน การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ความเครียด เป็นต้น
  • โรคความดันโลหิตสูง คือการมีความดันเลือดตั้งแต่ 130/80 มม.ปรอทขึ้นไป เป็นโรคที่พบได้บ่อยและอาจเป็นสาเหตุของโรคไต และโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตด้วย ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง คือการทานอาหารมันเค็ม ทานเกลือมาก และมีไขมันในเลือดสูง
  • โรคอ้วนลงพุง นิยามจากการมีรอบเอว 80 ซม.ขึ้นไป ในผู้หญิง และ 90 ซม.ขึ้นไป ในผู้ชาย ร่วมกับการมีระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ซึ่งโรคอ้วนลงพุง อาจเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และอาการปวดตามข้อได้ในอนาคต

พฤติกรรมเสี่ยงต่อกลุ่มโรค NCDs

  • การทานอาหารรสจัด อาหารเค็มมัน ปิ้งย่าง มีน้ำตาลและไขมันสูงเป็นประจำ และไม่ได้ทานผักผลไม้อย่างเพียงพอ ทำให้มีกลูโคส คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และโซเดียมในเลือดสูง และร่างกายเกิดการอักเสบได้ง่าย
  • ขาดการออกกำลังกาย ทำให้มีไขมันสะสมในร่างกายมาก และระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่ดี
  • การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ส่งผลให้ตับเกิดการอักเสบ
  • การสูบบุหรี่จัด ทำให้ถุงลมภายในปอดเสียหาย
  • ความเครียด และการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ระบบต่างๆ ทำงานผิดปกติ และเจ็บป่วยได้ง่าย
  • การซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาทานเองบ่อยๆ อาจส่งผลให้มีสารบางอย่างสะสมในร่างกายจนเกิดโทษได้
  • การสัมผัสกับแสงและมลภาวะ เช่น รังสี UV ควันไอเสีย และการสัมผัสกับสารเคมีเป็นประจำ เช่น เบนซีน สารกำจัดศัตรูพืช

ป้องกันกลุ่มโรค NCDs ได้อย่างไร

เราสามารถป้องกันโรคในกลุ่ม NCDs ได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันให้ดีขึ้น ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง อาหารเค็ม มัน อาหารปิ้งย่าง เป็นประจำ และหันมาทานผักผลไม้ให้หลากหลาย
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
  • ไม่ซื้อยามาทานเอง โดยเฉพาะยาบำรุง ยาชุด หรืออาหารเสริมที่ไม่มีการรับรองสรรพคุณ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับมลภาวะและสารเคมีเท่าที่จะทำได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียด เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ

4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
CDC Global Noncommunicable Diseases (NCDs). Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/globalhealth/healthprotection/ncd/index.html)
กลุ่มโรค NCDs. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (https://www.thaihealth.or.th/microsite/categories/5/ncds/2/173/176-%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84+NCDs.html)
NCDs | Noncommunicable diseases and their risk factors. World Health Organization (WHO). (https://www.who.int/ncds/en/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)