การมีเล็บที่ยาวและดูสุขภาพดี ไม่เพียงแต่จะทำให้แลดูสวยงามเท่านั้น แต่ยังข่วยในแง่ของการปกป้องบริเวณปลายนิ้ว และช่วยในการหยิบจับสิ่งของต่างๆ
โดยทั่วไป อัตราการงอกของเล็บมืออยู่ที่ประมาณ 3 มิลลิเมตรต่อเดือน ส่วนเล็บเท้าอยู่ที่ประมาณ 1 มิลลิเมตรต่อเดือน
แต่การงอกของเล็บนั้นจะเร็วหรือช้า ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายประการ ทั้งเรื่องของอายุ ความเจ็บป่วยต่างๆ ยา เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้เล็บงอกช้า
ปัจจัยที่ทำให้เล็บงอกช้า ได้แก่
- ผู้สูงอายุ
- ช่วงเวลากลางคืน
- ฤดูหนาว
- เล็บเท้ายาวช้าเมื่อเทียบกับเล็บมือ
- นิ้วหัวแม่โป้งและนิ้วก้อยมักยาวช้า
- การมีไข้
- ภาวะทุพโภชนาการ
- ภาวะการขาดเส้นประสาท (Denervation)
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
- ภาวะติดเชื้อ เช่น คางทูม วัณโรค
- โรคเชื้อราที่เล็บ
- ยาบางชนิด เข่น L-DOPA, Methotrexate, Azathioprine, Etretinate/acitretin
ปัจจัยที่ทำให้เล็บงอกเร็ว
ปัจจัยที่ทำให้เล็บงอกช้า ได้แก่
- ปัจจัยที่ทำให้เล็บงอกเร็ว
- ผู้ที่อายุยังน้อย
- ช่วงเวลากลางวัน
- ฤดูร้อน
- เล็บมือยาวเร็วเมื่อเทียบกับเล็บเท้า
- นิ้วกลางมักยาวเร็ว
- การตั้งครรภ์
- ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์สูง
- การมีการเชื่อมต่อกันระหว่างเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ
- สะเก็ดเงิน
- โรคผิวหนังที่เกิดจากการอักเสบชนิด Pityriasis rubra pilaris
- ยาบางชนิด เช่น Itraconazole, Etretinate/acitretin (หากใช้ในผู้ป่วยสะเก็ดเงิน)
อยากเร่งให้เล็บยาวขึ้น ทำได้หรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ได้รับการพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าสามารถทำให้เล็บงอกเร็วขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม มีวิธีหลายอย่างที่มุ่งเน้นทำให้เกิดความแข็งแรงของเล็บ ทำให้เล็บเกิดการหักหรือเสียหายน้อยลง เพื่อให้เล็บสามารถงอกได้ดีที่สุดและเป็นเล็บที่มีสุขภาพดี
การดูแลเล็บเพื่อให้งอกอย่างแข็งแรง ทำอย่างไรได้บ้าง?
วิธีต่างๆ ที่คุณสามารถดูแลเล็บของคุณให้มีสุขภาพดี เพื่อให้การงอกของเล็บดีที่สุดนั้น มีวิธีการดูแลดังนี้
1. ปกป้องผิวบริเวณรอบเล็บโดยให้ความชุ่มชื้น ไม่ปล่อยให้ผิวแห้ง
การมีผิวหนังที่แห้งกร้านนั้นหมายถึงบริเวณเล็บของคุณจะแห้งเช่นกัน
การที่เล็บแห้งมากสามารถทำให้เล็บเปราะ หักง่าย หรือแม้แต่ง่ายต่อการติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย
การที่มีเนื้อรอบเล็บเช่นบริเวณโคนเล็บหรือแม้แต่บริเวณฐานเล็บที่แห้ง จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเล็บเมื่อเกิดการงอกขึ้นได้
วิธีดูแลคือ ควรทาครีมบำรุงให้ความชุ่มชื้นที่มือและเล็บอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวหรืออากาศแห้ง และทาครีมบำรุงหลังจากล้างมือ เนื่องจากการล้างมือทำให้ผิวที่มือแห้งลง ยิ่งโดยเฉพาะในคนที่มีภาวะผิวหนังอักเสบและแห้งอยู่เดิม ยิ่งต้องใช้ครีมบำรุงที่สามารถเพิ่มความชุ่มชื้นได้มากขึ้น
2. ระวังการโดนน้ำบ่อยๆ เนื่องจากน้ำที่มาสัมผัสกับเล็บสามารถทำให้เล็บอ่อนเปราะง่าย
หลังการอาบน้ำหรือว่ายน้ำทุกครั้ง ควรเช็ดผิวบริเวณเล็บให้แห้ง และทาครีมบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น
นอกจากนี้ยังควรใส่ถุงมือเมื่อต้องอาบน้ำ ซักผ้า เป็นต้น เพื่อไม่ให้น้ำหรือสารซักล้างเข้าไปทำลายที่บริเวณรอบเล็บหรือเนื้อเล็บ
เนื่องจากการโดนน้ำหรือสารซักล้างบ่อยๆ มักนำมาซึ่งอาการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณรอบเล็บซึ่งโดยเฉพาะที่โคนเล็บที่จะมีเซลล์สร้างเล็บอยู่ ทำให้เกิดอาการบวมแดงรอบเล็บ และเล็บงอกผิดปกติได้
3. ระวังการตะไบเล็บ
ให้ขอบเล็บเรียบช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการฉีดขาดหรือเสียหายต่อเนื้อเล็บได้ นอกจากนี้ควรเลี่ยงการแกะเล็บ กัดเล็บ จิกเล็บหรือจิกเนื้อที่โคนเล็บ (ซึ่งเป็นโรคที่พบในบางคนเช่นกัน) อันจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อเนื้อเล็บและมีผลต่อการงอกของเล็บได้
4. นวดมือและนิ้ว
การนวดมือและนิ้วมีผลทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณส่วนปลายเหล่านี้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน ซึ่งมีการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดี และมีผลทำให้เล็บอ่อนแอกว่าปกติได้
แต่ส่วนใหญ่มักมีผลต่อเล็บเท้ามากกว่าเล็บมือ
5. ปกป้องเนื้อเยื่อขอบโคนเล็บ (Cuticles)
เนื้อเยื่อที่ว่านี้อยู่ที่บริเวณขอบโคนเล็บ ทำหน้าที่ช่วยปกป้องเซลล์สร้างเล็บที่อยู่บริเวณเนื้อเยื่อที่โคนเล็บ
คุณจึงไม่ควรตัดเล็มเนื้อบริเวณนี้ เนื่องจากอาจมีผลทำให้เล็บงอกผิดปกติ หรือเกิดการติดเชื้อตามมาได้
สิ่งที่ควรทำคือบำรุงผิวบริเวณนี้ให้ชุ่มชื้น โดยเฉพาะเวลาไปทำเล็บตามร้านมักตัดเนื้อบริเวณนี้จนสั้น ประกอบกับเครื่องมือทำเล็บ หากไม่สะอาดก็จะนำมาซึ่งการติดเชื้อตามมา
6. เลี่ยงการใช้น้ำยาล้างเล็บที่รุนแรง
การใช้น้ำยาล้างเล็บจำพวกอะซิโตน (Acetone) นั้นจะทำให้เล็บเกิดความแห้งและอ่อนแอได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้กาวติดเล็บ และไม่ควรขัดถูเล็บแรงๆ
7. รักษาโรคทางกายที่มีผลต่อการงอกของเล็บ
มีโรคทางกายหลายอย่างที่มีผลต่อการงอกของเล็บ เช่น สะเก็ดเงิน เบาหวาน
หากคุณมีโรคต่างๆ เหล่านี้ ควรรับการรักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสม และติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งทำตามคำแนะนำของแพทย์ในการดูแลเล็บและผิวหนังบริเวณนี้ เพื่อให้เล็บงอกได้ปกติและดีที่สุด
อาหารกับสุขภาพเล็บ
เล็บ ก็เช่นเดียวกับผิวหนังหรืออวัยวะอื่นของร่างกาย ที่ต้องการความสมดุลของสารอาหารต่างๆ ที่เหมาะสมและหลากหลาย จึงจะทำให้งอกได้อย่างปกติ
ตั้งแต่โปรตีน น้ำ ผัก ผลไม้ รวมทั้งวิตามินและเกลือแร่หลากหลายชนิด
ตัวอย่างของการขาดสารอาหารและมีผลต่อเล็บ เช่น ผู้ที่ขาดธาตุเหล็ก จะทำให้เล็บเปราะหรือเล็บแหว่งได้
สารอาหารบางชนิดที่มีผลทำให้เล็บแข็งแรงและกระตุ้นการงอกได้ดี ได้แก่
1. แคลเซียม
แคลเซียมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเนื้อเล็บรวมทั้งกระดูก บางงานวิจัยพบว่าหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีภาวะกระดูกพรุนจะมีการเปลี่ยนแปลงของเล็บไปด้วย
ส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวกับแคลเซียมกับเล็บโดยตรงนั้นยังอาจมีค่อนข้างน้อย หรือยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดนัก แต่ก็แนะนำว่าผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดแคลเซียม (Calcium deficiency) ควรรับประทานแคลเซียมเสริม
2. โปรตีน
โปรตีนเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเล็บ จึงเชื่อว่าการรับประทานโปรตีนที่น้อยเกินไปอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของเล็บ
มีบางงานวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพเล็บกับกรดอะมิโน (Amino acids) บางชนิด ที่ชื่อว่า คอลลาเจนเปบไทด์ (Collagen peptides) ซึ่งเป็นโปรตีน
คุณสามารถรับประทานโปรตีนได้จากอาหารหลากหลายชนิด เช่น ไข่ หมู ไก่ ปลา ถั่ว นม เป็นต้น
3. ไบโอติน (Biotin)
ไบโอติน เป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งซึ่งมีผลในการงอกที่ดีต่อทั้งสุขภาพผมและเล็บ และยังมีส่วนเสริมสร้างความแข็งแรงในเล็บที่เปราะ รวมทั้งอาจป้องกันการเปราะแตกของเล็บ
และมีหลักฐานจำนวนน้อยที่ระบุว่าไบโอตินช่วยให้เล็บงอกเร็วขึ้น
โดยสรุป การที่จะช่วยบำรุงเล็บให้มีสุขภาพดี เล็บสวย จึงควรให้ความสำคัญในแง่การป้องกันการทำลายเล็บมากกว่าการคาดหวังให้เล็บงอกได้เร็ว
การรับประทานอาหารที่ดีและสมดุลจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงต่อทั้งสุขภาพผิวและเล็บได้