ยาแก้ท้องเสีย รวมข้อมูลของยา พร้อมข้อดี ข้อเสีย และวิธีใช้

ท้องเสียจู๊ดๆ วิ่งเข้าวิ่งออกห้องน้ำแบบนี้ ต้องกินยาอะไรถึงจะ "ดี" และ "ปลอดภัย" ที่สุด
เผยแพร่ครั้งแรก 13 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 8 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ยาแก้ท้องเสีย รวมข้อมูลของยา พร้อมข้อดี ข้อเสีย และวิธีใช้

อาการท้องเสีย หรือโรคอุจจาระร่วง คือ ภาวะที่ถ่ายอุจจาระเหลวกว่าปกติและถ่ายบ่อยมากกว่าวันละ 3 ครั้ง  อาการท้องเสียพบได้ในคนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะเด็กซึ่งพบได้บ่อยที่สุด  ยิ่งในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและความแห้งแล้งของอากาศทำให้แบคทีเรียเติบโตได้ดี บางท้องที่ก็ขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด ผู้คนจึงมีโอกาสท้องเสียกันมากขึ้น  นอกจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารค้างคืน อาหาร เครื่องดื่ม น้ำแข็งที่ไม่สะอาด หรือมีเชื้อโรคเจือปน  อาหารที่มีแมลงวันตอม รวมถึงการรับประทานอาหารรสจัดจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอาการท้องเสียแล้ว  ยังพบว่า ผลข้างเคียงจากการรับประทานยารักษาโรคบางชนิดก็ทำให้ท้องเสียได้เช่นเดียวกัน  ผู้คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าท้องเสียเป็นเรื่องเล็กน้อย แค่อุจจาระออกมาให้หมดเดี๋ยวก็หาย  แต่อันที่จริงแล้วถ้ามีอาการท้องเสียรุนแรงจะทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายได้มาก และหากไม่ได้รับการรักษา หรือรับประทานยาแก้ท้องเสียอย่างเร่งด่วนก็จะมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น

รู้จักยาแก้ท้องเสีย หรือยารักษาอาการท้องเสีย 

ยาแก้ท้องเสียแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภท แต่ละประเภทมีวิธีใช้ หรือข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

1. สารอาหารทางน้ำ

ได้แก่ ผงเกลือแร่ หรือโออาร์เอสเป็นการรักษาอาการท้องเสียเบื้องต้นที่จะช่วยชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่โดยเฉพาะเวลาที่มีอาการท้องเสียอย่างต่อเนื่อง  อาเจียนมากจนกินอะไรไม่ได้ หากสูญเสียน้ำมากๆ อาจมีอาการหิวน้ำ ปากแห้ง ตาโบ่๋ กระวนกระวาย ซึม  หรือาจเกิดภาวะช็อกได้ และหากแก้ไขไม่ทันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้  ถึงสารอาหารทางน้ำจะไม่ใช่ยาแก้ท้องเสียโดยตรงก็ตามแต่ก็มีข้อดีตรงที่ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ 

2. ยาป้องกันอาการท้องเสีย

มีทั้งรูปแบบยาชนิดเม็ดและยาชนิดน้ำแขวนตะกอน โดยบรรจุอยู่ในแคปซูล หรือผงบรรจุในซอง ซึ่งมีข้อดีตรงที่มีความปลอดภัยและให้ประสิทธิภาพในการรักษาอาการท้องเสียเฉียบพลันจากการติดเชื้อ

  • Bismuth subsalicylate หรือ Gastro Bismol  สามารถใช้กับเด็กเล็กที่มีอายุมากกว่า 3 ปีที่ไม่มีไข้ หรือเพิ่งหายจากอีสุกอีใสได้  การทำงานของยาคือ การจับกับสารพิษจากแบคทีเรียแล้วมีผลในการต้านแบคทีเรียโดยตรงพร้อมกับช่วยกระตุ้นการดูดกลับของน้ำและเกลือแร่ที่อยู่ในลำไส้  แต่มีข้อเสียตรงที่ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้ เด็ก หรือวัยรุ่นที่มีไข้หวัด หรือเพิ่งหายจากอีสุกอีใสและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร ควรระมัดระวัง
  • Racecadotril หรือ Hydrasec   เป็นยาที่ใช้ในการยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายสารสำคัญ Encephalin ซึ่งอยู่ในทางเดินอาหาร   ยาตัวนี้มีสรรพคุณยับยั้งการหลั่งสารน้ำในทางเดินอาหาร จึงสามารถช่วยต้านและลดอาการท้องเสียได้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสียเฉียบพลันมักใช้ในเด็กอายุมากกว่า 3 เดือน  แต่มีข้อเสียตรงที่ห้ามใช้ หรือควรใช้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร

3. ยาหยุดถ่าย

เป็นยาแก้ท้องเสียที่ออกฤทธิ์ช่วยลดการเคลื่อนที่ หรือการบีบตัวของลำไส้  จุดประสงค์ในการใช้คือ เพื่อลดจำนวนครั้งของการถ่ายให้น้อยลง

  • Loperamide  เป็นยาแก้ท้องเสียที่นิยมใช้มากกว่ายาชนิดอื่นๆ เพราะมีข้อดีที่ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยไม่ต้องผ่านระบบสมอง และไม่มียา Atropine ซึ่งเป็นยาต้านการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติผสมอยู่  ทำให้ไม่มีอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อร่างกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว (ถ้าหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม) เป็นต้น และสามารถใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อที่เป็นต้นเหตุของอาการท้องเสียได้ แต่หากใช้ยาแก้ท้องเสียชนิดนี้ในปริมาณมาก หรือหากใช้ยาแก้ท้องเสียชนิดนี้ในผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจ (QT prolong) จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ Torsades de Pointes และหัวใจหยุดเต้นได้
  • ยากลุ่มอนุพันธ์ของฝิ่น เช่น Loperamide   Atropine  หรือ Diphenoxylate ยาแก้ท้องเสียชนิดนี้มีผลช่วยในการยับยั้งการบีบตัวของลำไส้ ลดการสร้างสารน้ำในลำไส้ แล้วเพิ่มการดูดกลับของน้ำจากลำไส้ให้กลับเข้าสู่ร่างกาย แต่ยาแก้ท้องเสียชนิดนี้ก็มีข้อเสียตรงที่ออกฤทธิ์โดยตรงกับระบบสมองและระบบประสาทอัตโนมัติด้วย

4. ยากลุ่ม Probiotic และ Zinc

  • ยากลุ่ม Probiotic ในบ้านเรายาแก้ท้องเสียกลุ่มนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามลักษณะสายพันธุ์ของ Probiotic คือ Bioflor และ Infloran โดยจะช่วยสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ชนิดดีที่อาศัยอยู่ในลำไส้ เมื่อเรารับประทานยาแก้ท้องเสียกลุ่มนี้ในปริมาณที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย จะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่อเยื่อเมือกของลำไส้ รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้ 
  • ยากลุ่ม Zinc เป็นยาแก้ท้องเสียที่จะช่วยรักษาอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันโรคภายในร่างกาย

5. ยาปฏิชีวนะ

เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย ซึ่งต้องได้รับการตรวจและวินิจฉัยก่อนว่าเกิดเชื้อโรคชนิดใด เป็นบิดแบบมีตัว หรือบิดไม่มีตัว หรือเกิดจากอาหารเป็นพิษหรือไม่ แพทย์จึงจะสั่งจ่ายยาได้อย่างถูกต้อง แต่ยาแก้ท้องเสียชนิดนี้มีข้อเสียตรงที่อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์และห้ามใช้ในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ผู้ที่แพ้ยา หรือเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด ซึ่งการปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

6. ยากลุ่มอื่นๆ

  • Kaopectate   เป็นยาแก้ท้องเสียชนิดน้ำที่ออกฤทธิ์ในการดูดซับเชื้อโรค พร้อมกับช่วยป้องกันการจับเชื้อโรคที่ผนังลำไส้ ดูดซับสารน้ำส่วนเกินภายในลำไส้ และทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลง ข้อดีของยาแก้ท้องเสียชนิดนี้คือ สามารถใช้กับเด็กเล็กๆ อายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไปได้ แต่ต้องไม่มีอาการไข้ หรือเพิ่งหายจากอีสุกอีใส เพราะจะทำให้เกิด Reye’s syndrome จนเสียชีวิตได้ และควรระมัดระวังการใช้ยาแก้ท้องเสียชนิดนี้ในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร
  • Charcoal เป็นยาแก้ท้องเสียที่ออกฤทธิ์ด้วยการดูดซับเชื้อโรคและสารพิษที่ผลิตจากเชื้อโรค  ควรรับประทานตอนท้องว่าง หรือก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารและยาอื่นๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง  แม้ข้อดีของ Charcoal คือไม่มีผลข้างเคียง แต่ควรระมัดระวังในการใช้ในผู้ป่วยโรคไต โรคตับ หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร

ยาแก้ท้องเสียที่กล่าวมานี้ควรใช้ก็ต่อเมื่อมีอาการถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้ง ภายใน 1 วัน   ถ้าเป็นสารอาหารทางน้ำจะสามารถรับประทานได้บ่อยจนกว่าจะหยุดถ่าย แต่สำหรับยาปฏิชีวนะจะต้องรับประทานให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันอาการเชื้อดื้อยาและเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ

หากรับประทานยาแก้ท้องเสียแล้วยังไม่ดีขึ้น เป็นมากกว่า 7 วัน ถ่ายปนมูกเลือด มีอาการนานกว่า 7 วัน ปัสสาวะออกลดลง เวียนหัว ท้องเสียมากขึ้น หรือยังมีอาการไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียสร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด รวมถึงกรณีของผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ผู้สูงอายุ และผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตรด้วยเช่นกัน ในกลุ่มที่กล่าวมานี้ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง  เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจนอาจทำให้เสียชีวิต หรือมีผลต่อทารกในครรภ์และทารกที่รับประทานนมแม่นั่นเอง


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป