ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD
เขียนโดย
ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD

บวบ ข้อมูล สารอาหาร สรรพคุณ และวิธีบริโภคเพื่อสุขภาพ

"บวบ ผักพื้นบ้านใช้ทำอาหารได้หลายอย่าง บวบมีหลายชนิด เช่น บวบเหลี่ยม บวบงู บวบหอม แต่ละชนิดมีสรรพคุณและสารอาหารมาก "
เผยแพร่ครั้งแรก 14 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
บวบ ข้อมูล สารอาหาร สรรพคุณ และวิธีบริโภคเพื่อสุขภาพ

บวบ เป็นผักสมุนไพรพื้นบ้าน เนื้อสีเขียว รสเย็น นำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง ทั้งต้มจิ้มน้ำผัก ผัดใส่ไข่ ไปจนถึงใส่ในแกงเลียง

คนส่วนใหญ่มักรู้จักเฉพาะบวมเหลี่ยม แท้จริงแล้วบวบยังมีอีกหลายชนิด ที่มีลักษณะต่างกัน แต่อุดมด้วยคุณประโยชน์ไม่แพ้กันเลย

บวบ มีกี่ชนิด?

บวบที่สามารถนำมารับประทานได้มี 3 ชนิด ได้แก่

1. บวบเหลี่ยม

เป็นบวบที่ทุกคนรู้จักและนิยมนำมาประกอบอาหารมากที่สุด มีลักษณะผลทรงกระบอก มีเปลือกเป็นสันขอบคมหนาตามแนวยาว ปลายผลโต มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร

2. บวบงู

บวบชนิดนี้ให้ผลรูปทรงกระบอกเรียวยาว ปลายผลแหลมคล้ายงู ความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร-1 เมตร เนื้อนิ่ม เปลือกบาง ผิวเรียบ ผลสีขาวมีลายริ้วสีขาว นิยมปลูกมากแถบภาคอีสาน

3. บวบหอมหรือบวบกลม

บวบชนิดนี้ให้ผลรูปทรงกระบอกตรง ยาวประมาณ 16-60 เซนติเมตร มีลายริ้วคลายแตงกวา

ผลอ่อนของบวบหอมมีลักษณะพิเศษคือ เมื่อนำไปปรุงอาหารจะมีกลิ่นเฉพาะตัวมากกว่าบวบชนิดอื่นๆ เมื่อแก่ เนื้อในจะมีเส้นใยร่างแห เหนียวมาก ส่วนใหญ่จะนิยมนำมาตากแห้ง จะได้ใยบวบใช้ขัดผิว ล้างจาน หรือนำไปทำรองเท้าก็ได้

สรรพคุณของบวบ

เนื้อบวบทุกชนิดถือเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น ช่วยระบายความร้อนในร่างกายที่อาจทำให้เกิดอาการไข้หรือร้อนใน

บวบมีแคลอรีต่ำ ไฟเบอร์สูง เนื้อนิ่ม ชุ่มน้ำ จึงเป็นผักที่สามารถช่วยควบคุมน้ำหนักและช่วยขับถ่ายได้ดี

บวบแต่ละชนิดมีสรรพคุณทางยาเฉพาะตัว ดังนี้

สรรพคุณของบวบเหลี่ยม

  • ใบ นำมาตำ พอกลดพิษแมลงสัตว์กัดต่อย บรรเทาอาการอักเสบ อาการคัน บริเวณผิวหนังได้ หรืออาจใช้น้ำคั้นจากใบบวบเหลี่ยมรักษาอาการเยื่อตาอักเสบในเด็ก
  • ดอก ราก และผลบวบอ่อน (สัดส่วนอย่างละประมาณ 10 ต้มรวมกันหรือต้มเดี่ยวก็ได้) นำไปต้มกับน้ำเปล่าพอเดือด ดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2-3 ครั้ง ช่วยลดไข้ แก้อาการร้อนใน และยังมีสรรพคุณขับปัสสาวะอีกด้วย
  • เมล็ด มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย สามารถแก้อาการบิด ใช้เป็นยาขับพยาธิ ขับปัสสาวะ ขับนิ่วได้ โดยการเคี้ยวเมล็ดบวบประมาณ 30 -40 เมล็ด เคี้ยวก่อนอาหาร วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน

สรรพคุณของบวบงู

  • ผล นำมาต้มคั้นน้ำ รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา หลังตื่นนอนตอนเช้า สามารถช่วยขับสารพิษ ขับพยาธิในลำไส้ และยังช่วยเพิ่มการขับถ่าย รักษาสมดุลของกระบวนการเผาผลาญในร่างกายได้

    ผลบบงูมีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบภายใน ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง หากรับประทานเป็นประจำสามารถป้องกันการเกิดโรคตับ ลดระดับไขมันชนิดเลวในเส้นเลือด

    สามารถนำผลบวบงูมาหมักหรือนวดผม ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที ช่วยลดผมร่วง และลดรังแค
  • ใบ ในประเทศจีนรับประทานใบบวบงูเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง

สรรพคุณของบวบหอม

  • เถา นำมาต้มนำดื่มจะช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี ลดอาการวิงเวียนศรีษะ หน้ามืด ตาลาย
  • เมล็ด แก้อาการไอ เจ็บคอ ช่วยขับเสมหะ โดยบดเป็นผงแห้งรับประทาน 1-2 ช้อนชาหรือผสมน้ำอุ่น สามารถผสมน้ำผึ้งได้ ดื่มวันละ 3 ครั้ง

    นอกจากนี้มีสรรพคุณเป็นยาถ่าย คล้ายเม็ดของบวบเหลี่ยม สามารถขับปัสสาวะ ถ่ายพยาธิตัวกลมได้ หรืออีกวิธีหนึ่งจากการแพทย์แผนจีนโดยการนำผลบวบมาเผาจนเป็นเถ้า ใช้เป็นยาแก้ท้องอืดและขับพยาธิ
  • ดอก ศาสตร์การแพทย์แผนจีน ใช้ดอกบวบหอมสดประมาณ 5 ดอก ตำผสมเกลือเล็กน้อย ถูบริเวณที่เป็นหูด หรือใช้ใบบวบสดล้างสะอาด หรือนำไปคั้น แก้กลากเกลื้อน หรือผิวหนังที่เป็นผดผื่น
  • ยอด แถบแอฟริกาใช้ยอดอ่อนบวบหอม เป็นยาขับปัสสาวะ และใช้เป็นยากระตุ้นน้ำนมในสตรีหลังคลอด

บวบมีสารอาหารสำคัญอะไรบ้าง?

บวบทุกชนิดอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น

  • วิตามินดี วิตามินบี วิตามินซี
  • แร่ธาตุแมกนีเซียม ซิงก์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง
  • ฟอสฟอรัส ช่วยส่งเสริมการทำงานของหัวใจและไต
  • ธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ส่งเสริมการทำงานของเซลล์สมอง

บวบสำคัญกับแม่หลังคลอดอย่างไร ช่วยเพิ่มน้ำนมหรือไม่?

บวบมีแร่ธาตุที่สำคัญอย่างธาตุเหล็ก ซึ่งจำเป็นต่อทั้งแม่และลูก มีส่วนช่วยในการบำรุงกระดูกและเม็ดเลือดแดงที่สูญเสียไประหว่างคลอดบุตร ช่วยนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ให้เซลล์ต่างๆ ทำงานได้ปกติ โดยเฉพาะเซลล์สมองของเด็กที่กำลังจะเจริญเติบโต อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคโลหิตจางในสตรีหลังคลอดได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บวบไม่ได้ช่วยเพิ่มน้ำนม เพียงแต่บวบมักจะอยู่ในเมนูเพิ่มน้ำนมที่รู้จักกันดีอย่าง แกงเลียง

แกงเลียงช่วยเพิ่มน้ำนมได้เนื่องจากมีสมุนไพรรสร้อนเป็นส่วนประกอบ ช่วยในการไหลเวียนเลือดได้ดี รวมถึงมีสรรพคุณลดอาการคัดตึงเต้านมทั้งก่อนและหลังให้นมบุตรได้

สมุนไพรหลักในแกงเลียง ได้แก่ ใบแมงลัก ใบกะเพรา ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน รวมไปถึงบวบนั่นเอง

ทำไมบวบถึงมีรสขม?

รสขมของบวบมาจากสารที่อยู่ในเนื้อบวบ รวมถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อม

กล่าวคือ ในเนื้อบวบมีสารสำคัญชื่อ คิวเคอร์บิตาซิน (Cucurbitacin) เกิดจากกลไกการป้องกันตนเองจากแมลงศัตรูพืช ทำให้เกิดรสขม

ไม่เพียงเท่านี้ การขาดน้ำ อุณหภูมิของอากาศสูงเกินไป หรือการเกิดโรคในพืช ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บวบมีรสขมได้เช่นเดียวกัน

ปลูกบวบแล้วงูเลื้อยผ่าน บวมจะขมจริงหรือไม่?

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคลักษณะนี้ ว่าที่บวบขมเป็นเพราะงูเลื้อยผ่าน ที่จริงรสขมของบวบมาจากสารคิวเคอร์บิตาซิน หรือปัจจัยแวดล้อมในการปลูกบวบ อย่างที่บอกไปในหัวข้อที่แล้ว

ส่วนเรื่องงูเลื้อยผ่านแล้วบวบจะขม เป็นเพียงคำของผู้ใหญ่ ที่มีจุดประสงค์ให้เด็กหมั่นดูแลผักที่ปลูกไว้ ไม่ให้หญ้าขึ้นรกไม่ได้รดน้ำ ผักเน่าตาย จนไม่สามารถนำไปประกอบอาหารได้นั่นเอง

โทษของบวบคืออะไร?

แม้บวบจะมีประโยชน์ แต่หากรับประทานไม่ถูกวิธีก็สามารถเกิดโทษได้เช่นกัน ดังนี้

  • หากรับประทานเมล็ดบวบไม่ว่าจะชนิดใดเข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
  • ผลบวบทุกชนิดมีฤทธิ์เย็น หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้อุณหภูมิในร่างกายเสียสมดุลได้ นอกจากนี้จากรายงานฉบับหนึ่งกล่าวว่า การรับประทานติดต่อเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต และสมรรถภาพทางเพศชายเสื่อมลงด้วย

5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
เดชา ศิริภัทร, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 201 คอลัมน์:ต้นไม้ใบหญ้า, บวบ: ผักผลพื้นบ้าน ดอกนั้นสีงาม (https://www.doctor.or.th/article/detail/3956), มกราคม 2539.
วีณา จิรัจฉริยากูล, ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, บวบขม(https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/124), 24 พฤษภาคม 2555.
ผกากรอง ขวัญข้าว และสุภาภรณ์ ปิติพร, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 355 คอลัมน์:เรื่องเด่นจากปก, อาหารและสมุนไพร กระตุ้นน้ำนม (https://www.doctor.or.th/article/detail/5798), พฤศจิกายน 2551.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป