ความดันโลหิตต่ำ โดยทั่วไปจะหมายถึง การมีระดับความดันโลหิตน้อยกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ปกติแล้วความดันโลหิตต่ำไม่จำเป็นต้องก่อให้เกิดอาการเสมอไป หากคุณมีความดันโลหิตต่ำแต่ไม่มีอาการใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาใดๆ โดยอาการที่สามารถพบได้ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ตาเบลอ มองภาพไม่ชัด อ่อนเพลีย เป็นต้น
บทนำ
ความดันโลหิตต่ำ (hypotension หรือ low blood pressure) คือภาวะที่ความดันโลหิตในเส้นเลือดแดงต่ำกว่าปกติ ความดันโลหิตคือการวัดแรงดันของหัวใจที่ใช้ในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน
ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
หัวใจ
หัวใจคืออวัยวะที่เป็นกล้ามเนื้อชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หัวใจเต้น จะมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายผ่านเส้นเลือดแดง (arteries) และเส้นเลือดฝอย และในช่วงพักระหว่างจังหวะการบีบตัวแต่ละครั้ง เลือดจากส่วนต่างๆ ของร่างกายจะย้อนกลับสู่หัวใจอีกครั้งผ่านเส้นเลือดดำ (veins) และเส้นเลือดฝอย
ความดันโลหิต
ความดันโลหิต คือการวัดแรงดันเลือดที่กระทำบนผนังของเส้นเลือดแดงขณะที่เลือดกำลังไหลผ่านเส้นเลือดนั้นๆ ซึ่งจะวัดออกมาในหน่วย มิลลิเมตรปรอท (millimetres of mercury) หรือย่อว่า mmHg
ในการวัดความดันโลหิต จะวัดความดันทั้งหมดสองค่าด้วยกัน คือ ความดันขณะหัวใจบีบตัว (systolic pressure) หรือเรียกว่าความดันตัวบน และความดันขณะหัวใจคลายตัว (diastolic pressure) หรือความดันตัวล่าง
- ความดันตัวบน หรือความดันขณะหัวใจบีบตัว (systolic pressure): เป็นการวัดความดันโลหิตขณะที่หัวใจเต้นเพื่อบีบตัวส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในระยะนี้ความดันโลหิตในเส้นเลือดแดงจะอยู่ในระดับสูงสุด
- ความดันตัวล่าง หรือความดันขณะหัวใจคลายตัว (diastolic pressure): เป็นการวัดความดันโลหิตขณะที่หัวใจพักระหว่างจังหวะการเต้นแต่ละครั้ง (ช่วงหัวใจคลายตัว) ซึ่งเลือดจากส่วนต่างๆ ของร่างกายจะย้อนกลับสู่หัวใจทางเส้นเลือดดำ ในระยะนี้ความดันโลหิตในเส้นเลือดแดงจะอยู่ในระดับต่ำสุด
ทุกครั้งที่วัดความดันโลหิตจะวัดทั้งสองค่าเสมอ ตัวอย่างเช่น ความดันตัวบนของคุณคือ 120 มิลลิเมตรปรอท และความดันตัวล่างของคุณคือ 80 มิลลิเมตรปรอท สามารถเขียนย่อได้ว่า 120/80 mmHg และอ่านค่าความดันได้ว่า “หนึ่งร้อยยี่สิบแปดสิบ”
เมื่อไรจะบอกว่าความดันโลหิตสูง หรือต่ำ
โดยทั่วไปความดันโลหิตที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงคือ ระหว่าง 90/60 ถึง 120/80 หากค่าความดันโลหิตของคุณอยู่ที่ 140/90 หรือมากกว่านั้น หมายความว่าคุณมีความดันโลหิตสูง (hypertension) ซึ่งจะทำให้คุณมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (strokes) หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attacks)
ผู้ที่มีความดันโลหิตประมาณ 90/60 หรือต่ำกว่านี้ มักหมายถึงมีความดันโลหิตต่ำ ในบางรายที่มีความดันโลหิตต่ำจะมีอาการเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากโรคภายในร่างกายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน
ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
อาการ
ปกติแล้วความดันโลหิตต่ำไม่จำเป็นต้องก่อให้เกิดอาการเสมอไป หากคุณมีความดันโลหิตต่ำแต่ไม่มีอาการใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาใดๆ
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งความดันโลหิตต่ำจะหมายถึงการมีเลือดไปเลี้ยงสมองและอวัยวะสำคัญๆ ในร่างกายไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้มีอาการบางอาการดังนี้:
- เวียนศีรษะ
- เป็นลม (หมดสติกะทันหัน แต่เป็นชั่วคราว)
- หน้ามืด
- ตาเบลอ มองภาพไม่ชัด
- ใจสั่น (หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ)
- สับสน
- คลื่นไส้ (รู้สึกเหมือนเวลามีอาการป่วย)
- อ่อนเพลีย
หากคุณมีอาการของความดันโลหิตต่ำหลังจากเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากนั่งแล้วลุกขึ้นยืน เราเรียกว่า ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทางหรือเปลี่ยนอิริยาบถ (postural hypotension หรือ orthostatic hypotension) หากคุณมีอาการดังกล่าวหลังจากรับประทานอาหาร เราเรียกว่า ความดันโลหิตต่ำหลังรับประทานอาหาร (postprandial hypotension)
ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง (postural or orthostatic hypotension)
ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง หรือขณะเปลี่ยนอิริยาบถ หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีความดันโลหิตต่ำลงหลังจากการเปลี่ยนท่าทางกะทันหัน ตัวอย่างเช่น คุณอาจรู้สึกเวียนศีรษะ หรือหน้ามืด ภายหลังจากการเปลี่ยนท่าทาง เช่น นอนแล้วเปลี่ยนมานั่ง หรือนั่งแล้วเปลี่ยนมายืน ซึ่งอาจทำให้คุณเสียสมดุลและล้มได้ และอาจมีอาการหน้าเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว มองภาพไม่ชัด หรือหมดสติได้
อาการของภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทางควรมีอาการเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น เนื่องจากร่างกายกำลังปรับความดันโลหิตกับท่าทางใหม่อยู่ ความดันโลหิตต่ำชนิดนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และทำให้มีโอกาสล้มได้มากขึ้นด้วย และอาการคล้ายคลึงกันนี้อาจพบได้ภายหลังการออกกำลังกายด้วย
ความดันโลหิตต่ำภายหลังรับประทานอาหาร (postprandial hypotension)
บางครั้งความดันโลหิตของคุณจะลดลงภายหลังการรับประทานอาหาร ทำให้มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม และหกล้มได้ ภาวะนี้เรียกว่า ความดันโลหิตต่ำหลังรับประทานอาหาร โดยมีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือโรคพาร์กินสัน หรือโรคเบาหวาน
หลังจากรับประทานอาหาร ลำไส้ของคุณจะต้องใช้เลือดจำนวนมากเพื่อใช้ในการย่อยอาหาร หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นและเส้นเลือดในส่วนอื่นๆ ของร่างกายจะหดตัวเพื่อรักษาระดับความดันโลหิตไว้ แต่ถ้าหัวใจเต้นเร็วขึ้นไม่มากพอ หรือเส้นเลือดไม่หดตัวมากพอเพื่อรักษาระดับความดันโลหิต จะทำให้ความดันโลหิตต่ำและเกิดอาการขึ้น