"คุณหมอลูกเป็ด"
เขียนโดย
"คุณหมอลูกเป็ด"
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ฝีมะม่วง หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ควรรู้

รู้จัก ฝีมะม่วง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ซึ่งอาการแสดงอย่างหนึ่งคือมีก้อนบริเวณขาหนีบ หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีการติดเชื้อสู่หลายอวัยวะ
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 3 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ฝีมะม่วง หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ควรรู้

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อโรค ฝีมะม่วง แต่มีคนส่วนน้อยที่รู้ว่าโรคดังกล่าวเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ติดต่อได้ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก โรคฝีมะม่วงเกิดขึ้นได้อย่างไร อาการแต่ละระยะเป็นเช่นไร การรักษาทำอย่างไรได้บ้าง HonestDocs มีคำตอบ

โรคฝีมะม่วงคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และติดต่อได้อย่างไร?

โรคฝีมะม่วง หรือที่ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า Lymphogranuloma vernereum (LGV) เป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (Sexual transmitted infection หรือ STI) โดยมีเชื้อ Chlamydia trachomatis เป็นเชื้อแบคทีเรียก่อโรค โดยเฉพาะชนิด L2b เชื้อดังกล่าวมักระบาดในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยผู้ชายมักมีอาการเด่นชัดว่าผู้หญิงประมาณ 6 เท่า

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

โรคฝีมะม่วงสามารถติดต่อเมื่อมีแผลและได้รักการสัมผัสกับสารคัดหลั่งระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ทั้งทางช่องคล่อง ทวารหนัก หรือปาก ในผู้ติดเชื้อทุกรายไม่จำเป็นต้องแสดงอาการ แต่มีเชื้อที่สามารถติดต่อได้

ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อดังกล่าวบริเวณช่องคลอด อาจแพร่กระจายเชื้อให้แก่ทารกแรกคลอด ทำให้ทารกมีอาการเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อ Chlamydia trachomatis และหากทารกได้รับเชื้อโดยตรงเข้าสู่ปอด เช่น การสำลักน้ำคร่ำ อาจทำให้เกิดปอดติดเชื้อได้

โรคฝีมะม่วงมีอาการอย่างไร?

จากชื่อแล้วโรคฝีมะม่วง อาจทำให้คิดว่าจะผู้ติดเชื้อจะมีเพียงแค่อาการของก้อนขนาดใหญ่บริเวณขาหนีบเท่านั้น แต่จริงๆแล้วโรคดังกล่าวมีอาการได้หลากหลายรูปขึ้นอยู่กับเพศ ลักษณะของการมีเพศสัมพันธ์ และระยะการติดเชื้อ โดยทั่วไปแล้วสามารถแบ่งโรคออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เป็นช่วง 3-30 วันแรกของการติดเชื้อ จะพบตุ่มแดงหรือแผลถลอกบริเวณเยื่อบุที่ได้รับเชื้อ แผลดังกล่าวมักไม่เจ็บ อาจมีเพียงอาการแสบขณะปัสสาวะได้แต่พบได้ไม่บ่อย บริเวณที่มักพบแผล ได้แก่ ปลายอวัยวะเพศชายหรือหนังหุ้มอวัยวะเพศชาย ส่วนผู้หญิงมักพบบริเวณอวัยวะเพศด้านนอก นอกจากนี้มีรายงานการพบแผลบริเวณไส้ตรง (Rectum) ริมฝีปาก หรือคอหอยได้ แผลมักหายค่อนข้างเร็ว ภายใน 2-3 วัน ทำให้ผู้ป่วยไม่ทันสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลง
  • ระยะที่ 2 เกิดขึ้น 2-3 สัปดาห์หลังจากระยะแรก เป็นระยะที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรค ฝีมะม่วง โดยต่อมน้ำเหลืองที่โตจะค่อนข้างเจ็บ มีอาการอักเสบชัดเจน สังเกตได้จากอาการบวม แดง และร้อน บริเวณต่อมน้ำเหลือง มักพบลักษณะดังกล่าวเพียงข้างใดข้างหนึ่งของขาหนีบ โดยสามารถลุกลามจนกลายเป็นฝีต่อมน้ำเหลือง มีหนองแตกออกสู่ผิวหนังด้านนอกได้ อาการทางต่อมน้ำเหลืองจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 8-12 สัปดาห์ อาการดังกล่าวมักพบในผู้ป่วยชาย แต่หากเป็นผู้ป่วยหญิงมักมาด้วยอาการปวดท้องน้อยหรือปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองที่โตเป็นส่วนที่อยู่ในช่องท้อง ไม่ใช่บริเวณขาหนีบเหมือนในผู้ป่วยชาย

    ส่วนถ้าเป็นอาการของผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อาจมาด้วยอาการปวดเบ่ง ถ่ายเป็นเลือด ท้องเสีย ท้องผูก หรือปวดท้องน้อยได้ นอกจากนี้ยังพบว่าในระยะที่ 2 นี้เป็นระยะที่เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว มีความอยากอาหารลดลง หรือคลื่นไส้อาเจียน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือตับและม้ามโต
  • ระยะที่ 3 อาการระยะนี้มักพบในผู้หญิง หรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักเป็นส่วนใหญ่ ในระยะนี้เป็นผลต่อเนื่องจากโรคในระยะที่ 2 ที่ไม่ได้รับการรักษา การแตกออกของหนองจากต่อมน้ำเหลืองที่เรื้อรัง ทำให้เนื้อเยื่อไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ กลายเป็นท่อต่อเชื่อมมายังผิวหนัง มักเป็นบริเวณฝีเย็บ หรือผิวหนังที่เชื่อมระหว่างอวัยวะเพศกับรูทวารหนัก บางครั้งการอักเสบเรื้อรังนำไปสู่การตีบตันของไส้ตรง หากมีการทำลายต่อเนื่องอาจทำให้ตำแหน่งที่ติดเชื้อ เช่น อวัยวะเพศชาย มีการผิดรูปเกิดขึ้น

อาการข้างต้นเป็นอาการของการติดเชื้อที่พบโดยส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีอาการอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของการรับเชื้อ เช่น หากมีเพศสัมพันธ์ทางช่องปาก (Oral sex) อาจมีอาการเจ็บคอ ตรวจพบตุ่มหนองที่คอหอย หรือบริเวณต่อมทอลซิล ร่วมถึงพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตขึ้นและเจ็บ

คนที่มีก้อนที่ขาหนีบ จำเป็นต้องเป็นโรคฝีมะม่วงหรือไม่?

ก้อนที่ขาหนีบสามารถพบได้ในหลายโรคด ไม่จำเพาะกับโรคฝีมะม่วง หากก้อนดังกล่าวเป็นต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบ อาจเกิดจากโรคต่อมน้ำเหลืองติดเชื้อจากเชื้ออื่นๆ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง หรืออาจเป็นเพียงต่อน้ำเหลืองที่ตอบสนองจากการมีแผลติดเชื้อบริเวณขา (Reactive lymph node) หากเป็นต่อมน้ำเหลืองที่ไม่เจ็บอาจเป็นได้หลายสาเหตุ โดยต้องได้รับการตรวจโดยแพทย์ให้แน่ชัด เนื่องจากอาจเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ (Lymphoma) หากก้อนมีลักษณะนิ่มและโตขึ้นอย่างช้าๆ อาจเกิดจากเนื้องอกไขมันชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง (Lipoma) หากเป็นก้อนที่เป็นๆหายๆ อาจเกิดจากโรคไส้เลื่อน (Femoral hernia หรือ Inguinal hernia) เป็นต้น ดังนั้นหากมีก้อนที่ขาหนีบควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม

ภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้างที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคฝีมะม่วง?

การลุกลามของโรคจากระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 3 มีภาวะแทรกซ้อนให้พบตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น นอกจากนี้แผลบริเวณอวัยวะเพศหรือบริเวณรูทวารหนักจากโรคนั้นยังเป็นช่องทางทำให้โรคที่มีการติดทางกระแสเลือดหรือโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ติดต่อได้ง่ายขึ้น เช่น โรคเอดส์ (AIDS) หรือโรคตับอักเสบซี (hepatitis C) เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หากป่วยเป็นโรคฝีมะม่วงแล้ว มีการรักษาอย่างไรบ้าง?

การรักษาหลักของโรคฝีมะม่วง คือ การกินยาฆ่าเชื้อ โดยส่วนใหญ่ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 3 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ประสิทธิภาพของการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่มาพบแพทย์ โดยหากพบแพทย์ในช่วงต้นของการติดเชื้อจะมีผลการรักษาค่อนข้างดี

ในระยะท้ายๆ ของโรคฝีมะม่วง การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษาเพิ่มเติม เช่น ในกรณีมีต่อมน้ำเหลืองกลายเป็นฝีหนอง มีภาวะแทรกซ้อนจากรูทวารหนักเชื่อมติดกัน หรือมีท่อต่อระหว่างผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศภายนอกกับอวัยวะเพศภายใน

นอกจากนี้ระหว่างรับการรักษา ผู้ป่วยไม่ควรมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแพทย์จะประเมินแล้วว่าสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้

ผู้ป่วยโรคฝีมะม่วงหลังจากได้รับการวินิจฉัยแล้วมีความจำเป็นต้องนำคู่นอนมาตรวจหาโรค เนื่องจากคู่นอนอาจเป็นพาหะของโรคหรืออยู่ในช่วงระยะต้นของโรค

โรคฝีมะม่วงป้องกันได้อย่างไร?

โรคฝีมะม่วงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถป้องกันได้เช่นเดียวกันการป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางรูทวารหนัก หรือทางปาก การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การใส่ห่วงอนามัย การฝังยาคุมกำเนิด การกินยาคุมกำเนิด ไม่สามารถป้องกันโรคฝีมะม่วงได้ และในปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคฝีมะม่วงได้

โดยสรุปโรคฝีมะม่วงเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis เป็นเชื้อก่อโรค มีอาการแสดงแตกต่างกันออกไป ตามเพศ ลักษณะการมีเพศสัมพันธ์และระยะการติดเชื้อ โดยอาการเริ่มจากการมีแผลบริเวณที่ติดเชื้อโดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ หลังจากนั้นมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบเจ็บและโต หรืออาจมีอาการปวดท้องน้อย และในระยะท้ายของโรคจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น เช่น การแตกออกของฝีต่อมน้ำเหลือง การมีรูทวารหนักตีบ เป็นต้น โรคดังกล่าวสามารถรักษาด้วยยาฆ่าเขื้อ และมีผลการรักษาที่ดีหากรับการรักษาตั้งแต่ระยะต้น แต่อาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหากมีภาวะแทรกซ้อน โรคฝีมะม่วงสามารถป้องกันได้โดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย นั่นคือ การใช้ถุงยางอนามัย


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Stoner BP, Cohen SE. Lymphogranuloma venereum 2015: clinical presentation, diagnosis, and treatment. Clin Infect Dis. 2015;61(8):865-873.
Pallawela S, Bradshaw D, Hodson L, et al. Screening for asymptomatic lymphogranuloma venereum co-infection in men who have sex with men newly diagnosed with HIV, hepatitis C or syphilis. Int J STD AIDS. 2015;27(8):625-627.
De Vries HJ, Zingoni A, Kreuter A, et al. 2013 European guideline on the management of LGV. J Eur Acad Dermatol Venereol. 2015;29:1-6

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)