กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ตกขาวตั้งครรภ์ เป็นแบบไหน? มีอาการคัน มีกลิ่น ปกติหรือไม่?

เรื่องสำคัญที่คุณแม่ต้องรู้ หมั่นสังเกต และเพิ่มความใส่ใจจุดนั้นให้มากยิ่งขึ้น
เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 26 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ตกขาวตั้งครรภ์ เป็นแบบไหน? มีอาการคัน มีกลิ่น ปกติหรือไม่?

ตกขาว ถือเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ตกขาวคือ สารคัดหลั่ง ลักษณะเป็นมูกใสๆ หรือเป็นสีขาวขุ่น อาจมีกลิ่นเล็กน้อยแต่ไม่รุนแรง และไม่มีอาการคันใดๆ   ตกขาวทำหน้าที่หล่อเลี้ยงและหล่อลื่นบริเวณช่องคลอดและปากมดลูกให้ชุ่มชื้นตลอดเวลา  ปริมาณของตกขาวจะแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ฮอร์โมนเพศจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นและลดลงตามจังหวะรอบประจำเดือนโดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ ในช่วงนี้ฮอร์โมนเพศหญิงของคุณแม่จะเพิ่มระดับสูงขึ้นกว่าช่วงที่ไม่ตั้งครรภ์อย่างมากส่งผลให้ตกขาวอาจมีปริมาณมากกว่าปกติ  เรื่องนี้คุณแม่ทั้งหลายอย่าเพิ่งตกใจ หรือกังวลไปว่า ตกขาวตั้งครรภ์จะมีอันตรายต่อตนเองและลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ ขอย้ำอีกครั้งว่า การมีปริมาณตกขาวมากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง  เพียงแต่ต้องใส่ใจให้มากขึ้นเท่านั้น

จะดีไม่น้อย หากคุณแม่หมั่นสังเกตลักษณะตกขาวที่ออกมาว่าเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ อย่างไร  หรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ อย่างไร เช่น มีอาการคันบริเวณช่องคลอด  คันอวัยวะเพศ  ตกขาวมีกลิ่นเหม็นคาว  ตกขาวมีสีเหลือง เหลืองอมเขียว น้ำตาล  เทา  มีอาการปัสสาวะแสบขัด  หากมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม คุณแม่อย่างนิ่งเฉยแต่ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สาเหตุที่ทำให้ตกขาวตั้งครรภ์ผิดปกติ

ตกขาวตั้งครรภ์ที่เกิดจากการติดเชื้อรา

พบได้บ่อยมาก เพราะระหว่างตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของช่องคลอดมากทำให้สภาพช่องคลอดเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อรามากขึ้น   ตกขาวตั้งครรภ์จะมีปริมาณมาก  มีสีขาว หรือลักษณะคล้ายแหวะนมของเด็ก มีอาการคันที่ช่องคลอดและอวัยวะเพศร่วมด้วย อาจมีผื่นคันแดง หรือบวมบริเวณปากช่องคลอด มีหลายสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อ เช่น อวัยวะเพศอับชื้น ผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะ การใช้น้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ รวมถึงบางรายที่ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ จะทำให้เชื้อเจริญเติบโตได้ดี  หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนเพราะอาจเป็นอาการติดเชื้อรา หรือกามโรค ซึ่งจะเป็นอันตรายเวลาคลอดลูก

ตกขาวตั้งครรภ์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส

ตกขาวตั้งครรภ์จะมีลักษณะสีเหลือง (คล้ายหนอง) และมีกลิ่นเหม็น เกิดจากการติดเชื้อโรคจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัส เช่น โรคเริม เป็นต้น

ตกขาวตั้งครรภ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

ตกขาวตั้งครรภ์จะมีลักษณะสีขาว สีเทา หรือสีเหลืองอมเขียว (หรือค่อนไปทางเขียว) มีอาการคันบ้าง จะมีกลิ่นเหม็นคาวปลา แลมีะอาการปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย

การรักษาตกขาวตั้งครรภ์

ตกขาวตั้งครรภ์ไม่ยุ่งยากและมักหายขาดได้ หากรักษาอย่างถูกต้อง แต่ก็มีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้เช่นกัน

การดูแลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

สามารถทำและดูแลได้ด้วยตัวเองอย่างง่ายดังนี้

  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายทุกครั้ง
  • อย่าให้อวัยวะเพศอับชื้น 
  • สวมชุดชั้นในที่สบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป
  • ไม่ควรใช้น้ำยาพิเศษสวนล้างช่องคลอด หรือใช้น้ำฉีดสวนเข้าไป แค่ทำความสะอาดด้วยน้ำธรรมดาแล้วซับน้ำให้แห้งก็เพียงพอแล้ว  
  • การซับน้ำหลังการทำความสะอาดที่ถูกต้องควรเช็ดจากช่องคลอดไปทางทวารหนัก ห้ามเช็ดจากทวารหนักมาทางช่องคลอดเพราะเชื้อโรคที่ (อาจ) ติดอยู่บริเวณทวารหนักอาจเข้าสู่ช่องคลอดได้

ตกขาวตั้งครรภ์ หรือน้ำเดิน

ในช่วงใกล้คลอดนั้น คุณแม่อาจมีมูก หรือน้ำออกมาจากช่องคลอด ซึ่งคล้ายกับตกขาวปกติ แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นอาการเริ่มแรกของการเจ็บท้องคลอดได้ เนื่องจากเมื่อใกล้คลอดปากมดลูกจะเริ่มเปิดทำให้มูกซึ่งอุดอยู่บริเวณนั้นหลุดออกมา บางรายอาจมีเลือดปนออกมาด้วย แม้ว่าโดยปกติน้ำเดินจะไหลออกมาปริมาณมาก แต่ในบางกรณีน้ำอาจค่อยๆ ไหลออกมาทีละน้อยเหมือนตกขาวมากกว่าปกติ ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในช่วงใกล้คลอด คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาล เพราะถ้าหากปล่อยไว้นานอาจเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

คุณแม่ควรหมั่นสังเกตตนเองทุกวันเพราะหากมีตกขาวตั้งครรภ์ผิดปกติ หรือมีความผิดอื่นๆ เกิดขึ้น จะได้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้ถูกต้องและเหมาะสม


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์, ตกขาว..รักษาอย่างไร (https://www.pharmacy.mahidol.a...)
ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร, ตกขาวคราวตั้งครรภ์ (http://www.si.mahidol.ac.th/si...)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป