บทนำ
ยาระบาย (Laxatives) คือยาที่ช่วยเร่งการขับถ่าย เพิ่มการบีบตัวของลำไส้ เหมาะกับผู้ที่ขับถ่ายน้อย หรือรักษาอาการท้องผูกในรายที่ใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่ได้ผล เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้มากขึ้น และออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น โดยยาระบายสามารถหาซื้อได้เองจากร้านยาทั่วไป
ประเภทของยาระบาย
- ยาระบายที่ทำให้อุจจาระเกาะตัวเป็นก้อน (Bulk-forming laxative) เช่น เทียนเกล็ดหอย (Psyllium Husk) และเมธิลเซลลูโลส (methylcellulose) เป็นต้น ซึ่งจะทำงานคล้ายกับอาหารที่มีเส้นใยสูง ซึ่งจะไปช่วยเพิ่มปริมาณของอุจจาระ อุ้มน้ำ และเพิ่มการบีบตัวของลำไส้
- ยาระบายเพิ่มปริมาตรน้ำ (Osmotic laxatives) เช่น แลคตูโลส (lactulose) และ โพลีเอทิลีนไกลคอล (polyethylene glycol) ซึ่งจะออกฤทธิ์โดยทำให้อุจจาระนุ่มขึ้น และทำให้ขับออกมาจากลำไส้ง่ายยิ่งขึ้นโดยการดูดกลับน้ำเข้าสู่ลำไส้
- ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulant laxatives) เช่น บิซาโคดิล (Bisacodyl) และมะขามแขก (senna) เป็นต้น โดยยากลุ่มนี้จะกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้โดยไปกระตุ้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อภายในลำไส้ให้บีบตัว
- ยาที่ทำให้อุจจาระนิ่ม (Stool softener) เช่น ด็อกคูเสท โซเดียม (Docusate sodium) ซึ่งยากลุ่มนี้จะเพิ่มของเหลวลงในลำไส้ซึ่งส่งผลให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับออกมาได้ง่าย
วิธีการเลือกใช้ยาระบาย
ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาระบายแต่ละประเภท แต่การเลือกใช้นั้นขึ้นอยู่กับการเลือกให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของแต่ละบุคคลมากกว่า โดยเฉพาะภาวะโรคประจำตัวต่างๆ อาจเป็นตัวบ่งชี้การเลือกใช้ยาระบายแต่ละกลุ่ม
ในกรณีผู้ใหญ่ทั่วไปควรเลือกใช้ยาระบายที่ทำให้อุจจาระเกาะตัวเป็นก้อน (Bulk-forming laxative) เป็นตัวแรก โดยยากลุ่มนี้จะเริ่มออกฤทธิ์ในเวลา 2-3 วันหลังใช้ ถ้าหากอุจจาระยังคงแข็งและขับถ่ายยาก ควรเลือกใช้ยาระบายกลุ่มยาระบายเพิ่มปริมาตรน้ำ (Osmotic laxatives) เป็นลำดับถัดไป หากยังไม่ดีขึ้นจึงใช้ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulant laxatives) โดยยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ภายใน 6-12 ชั่วโมง
สิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกใช้ยาระบาย
ยาในกลุ่มยาระบายนั้นจะไม่แนะนำให้ซื้อใช้เองในเด็ก และยาระบายบางกลุ่มอาจจะไม่ปลอดภัยในการใช้ในผู้ป่วยบางกรณี เช่น ผู้ที่เป็นโรคโครห์น (Crohn's Disease) หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis) เป็นต้น ดังนั้นก่อนใช้ยาระบายผู้ใช้ควรอ่านฉลากยาให้ครบถ้วนหรือปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาระบายเสมอ
วิธีการใช้ยาระบาย
วิธีการใช้ยาระบายนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบของยาระบายแต่ละชนิด โดยรูปแบบที่มักจะพบได้แก่
- รูปแบบเม็ด หรือแคปซูลสำหรับกลืน
- รูปแบบผงละลายน้ำแล้วดื่ม
- รูปแบบยาเหน็บ ใช้สำหรับเหน็บทางทวารหนักและรอให้ยาละลาย
โดยเวลาในการใช้นั้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด บางชนิดอาจจะใช้ตอนเช้าหีือบางชนิดจะเป็นการใช้ก่อนนอน โดยยาระบายกลุ่มที่ทำให้อุจจาระเกาะตัวเป็นก้อน (Bulk-forming laxative) นั้นในระหว่างกินยาควรดื่มน้ำเป็นปริมาณมาก เพื่อช่วยให้อุจจาระถูกขับออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น และในการใช้ยาไม่ควรใช้เกินขนาดที่แต่ละชนิดกำหนดไว้
ควรใช้ยาระบายเป็นระยะเวลานานเท่าใด
ควรใช้ยาระบายเป็นระยะเวลาให้สั้นที่สุด และหยุดใช้เมื่ออาการท้องผูกหายแล้ว หลังจากใช้ยาระบายรักษาอาการท้องผูกแล้ว ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย เพื่อลดการกลับมาเป็นซ้ำ เช่น การดื่มน้ำให้มากขึ้น รับประทานอาหารที่มีเส้นใย และออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งวิธีการเหล่านี้นั้นดีกว่าการใช้ยาระบายเนื่องจากจะทำให้ร่างกายชินกับการใช้ยาระบายและไม่สามารถขับถ่ายเองได้ในอนาคต
ผลข้างเคียงของการใช้ยาระบาย
- ท้องอืดท้องเฟ้อ มีลมมาก
- ปวดเกร็งท้อง
- คลื่นไส้อาเจียน
- ร่างกายสูญเสียน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด ปัสสาวะมีสีเข้ม
- การใช้ยาระบายเป็นเวลานานจะทำให้มีอาการท้องเสีย และขาดเกลือแร่หรือวิตามินได้
ทางเลือกอื่นที่สามารถใช้แทนยาระบายได้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถช่วยลดอาการท้องผูกได้ ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มใช้ยาระบาย ควรหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อน โดยวิธีการดังนี้
- เพิ่มปริมาณเส้นใยที่รับประทานต่อวัน โดยปกติควรรับประทานอาหารที่มีเส้นใยประมาณ 30 กรัมต่อวัน โดยอาหารที่มีเส้นใยสูงได้แก่ ผัก ผลไม้ และ ธัญพืช
- การเพิ่มกลุ่มที่เพิ่มมวลอุจจาระลงในอาหารเช่น พวกรำข้าว แมงลัก เทียนเกล็ดหอย จะช่วยทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มแต่อาจทำให้ท้องอืดได้บ้าง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ผู้ที่ต้องระมัดระวังในการใช้ยาระบาย
- มีประวัติการเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้หือทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) โรคโครห์น (Crohn's Disease) หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis) เป็นต้น
- ผู้ที่ได้รับการมีลำไส้เปิดทางหน้าท้อง (colostomy) หรือ การทำลำไส้เล็กเปิดทางหน้าท้อง (Ileostomy)
- มีประวัติการเป็นโรคตับหรือไต
- ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- มีภาวะการอุดกั้นในทางเดินอาหาร
- เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากยาระบายบางชนิดสามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้
- มีภาวะกลืนลำบาก (dysphagia)
- มีอาการแพ้น้ำตาลแล็กโทส (lactose intolerance) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาระบายบางชนิด
- มีภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีนหรือ โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) ซึ่งในยาระบายบางชนิดนั้นมีฟีนิลอะลานีนเป็นส่วนประกอบ
การใช้ยาระบายในเด็ก
ไม่แนะนำให้ใช้ยาระบายในเด็ก หากเด็กมีอาการท้องผูก ควรเริ่มแก้ไขโดยการให้ดื่มน้ำมากขึ้นในระหว่างมื้อ นวดเบาๆบริเวณหน้าท้องก็อาจจะช่วยได้เช่นกัน
ในเด็กที่เริ่มกินอาหารแข็งได้ อาจจะเริ่มใช้ยาระบายได้ แต่ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายหลังจากลองให้ดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้แล้ว
หากมีความจำเป็นต้องใช้แล้วนั้น ควรเลือกใช้ยาระบายเพิ่มปริมาตรน้ำ (Osmotic laxatives) ก่อนร่วมการให้รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง และปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ