สมุนไพรรักษาเบาหวานเป็นประเด็นน่าสนใจ เนื่องจากปัจจุบันโรคเบาหวานเป็นปัญหาสำคัญ และพบได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุมาจากพันธุกรรมและพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นแล้วควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ก็จะนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคเบาหวาน อีกทั้งผู้ป่วยอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมาก ดังนั้นการใช้สมุนไพรที่หาได้ง่ายและราคาไม่แพงจึงเป็นทางเลือกเสริม ที่จะช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน หรือบรรเทาความรุนแรงของโรคลงได้ รวมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ทำความรู้จักกับโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ (น้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มก./ดล.) เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้กระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดแปลงเป็นพลังงานของร่างกายมีความผิดปกติ จนเกิดน้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณมาก เมื่อเป็นเบาหวานระยะแรก ผู้ป่วยอาจสังเกตไม่พบสิ่งผิดปกติ แล้วจึงค่อยๆ ปรากฏอาการภายหลัง หรือในบางรายอาจตรวจพบโรคเบาหวานเมื่อพบภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว ฉะนั้นวิธีดีที่สุดที่จะทำให้ทราบถึงความเจ็บป่วย ก็คือตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
สมุนไพรรักษาเบาหวาน
มีสมุนไพรหลายชนิดสามารถช่วยป้องกันการดูดซึมน้ำตาลจากระบบทางเดินอาหารของร่างกาย เช่น รำข้าว วุ้นจากว่านหางจระเข้ บุก เม็ดแมงลัก มีใยอาหารสูง ช่วยดูดซับได้มาก ทำให้อาหารในกระเพาะและลำไส้ข้นเหนียว จึงชะลอการดูดซึมน้ำตาลจากอาหารได้ คุณสามารถรับประทานสมุนไพรรักษาเบาหวานกลุ่มนี้ได้ในทุกมื้ออาหาร แต่ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ เนื่องจากความข้นเหนียวของใยอาหารจะทำให้ร่างกายขับออกไม่หมดในแต่ละวัน ฉะนั้นจึงควรรับประทานผักผลไม้อื่นๆ ที่หลากหลายผลัดเปลี่ยนกันไปด้วย และหลีกเลี่ยงการรับประทานสมุนไพรรักษาเบาหวานที่ว่าร่วมกับยาอื่นๆ เนื่องจากจะรบกวนการดูดซึมของยา
นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรรักษาเบาหวานหลายชนิดที่เพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลิน เช่น มะระขี้นก อบเชย อินทนิลน้ำ ตำลึง ใบหม่อน ผักเชียงดา ซึ่งมีงานวิจัยรองรับ และให้ผลการรักษาที่ดี
แนวทางการใช้สมุนไพรรักษาเบาหวาน
- ว่านหางจระเข้ มีสารที่เป็นเมือก ช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาล วิธีรับประทานคือ นำว่านหางจระเข้มาปอกเปลือกและล้างให้สะอาด ที่สำคัญคืออย่าให้น้ำยางสีเหลืองหลงเหลืออยู่ เพราะรับประทานเข้าไปแล้วอาจทำให้ท้องเสีย จากนั้นจึงนำวุ้นไปต้มในน้ำเดือด นำมารับประทานคู่กับน้ำใบเตยได้
- เม็ดแมงลัก มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับว่านหางจระเข้ วิธีรับประทานคือ นำเม็ดแมงลักประมาณ 1 ช้อนชาใส่ลงในน้ำต้มสุก 250 มิลลิลิตร แล้วทิ้งไว้พองตัวเต็มที่ ซึ่งจะสามารถสังเกตได้จากวุ้นสีขาวรอบๆ เมล็ด จากนั้นสามารถนำมารับประทานได้เลย โดยอาจจะรับประทานคู่กับน้ำเต้าหู้ก็ได้ ข้อควรระวังคือ หากเม็ดแมงลักยังไม่พองมากพอ เมื่อกินเข้าไปแล้วจะดูดน้ำจากกระเพาะอาหาร และจับตัวเป็นก้อนไปในลำไส้ อาจทำให้ผู้รับประทานมีอาการท้องผูกและแน่นท้องมากขึ้น
- บุก หรือ บุกรอ มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับว่านหางจระเข้และเม็ดแมงลัก วิธีรับประทานคือ นำเส้นบุกสำเร็จรูปมาประกอบอาหารแทนการใช้วุ้นเส้น
- มะระขี้นก เป็นสมุนไพรรักษาเบาหวานที่มีวิตามินเอและซีสูง วิธีรับประทานคือ นำผลสดมารับประทาน มื้อละ 2 ลูก หรือถ้าเป็นผลแก่ควรเอาเมล็ดออก รับประทานคู่กับน้ำพริกและผักสดชนิดๆ อื่นตามชอบ หรือรับประทานในรูปแบบยาต้มชง โดยเอามะระขี้นกผลเล็กมาผ่าเอาแต่เนื้อ หั่นชิ้นเล็กๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วชงกับน้ำต้มเดือด โดยใช้มะระขี้นก 1-2 ชิ้น ต่อน้ำ 1 ถ้วย หรือจะนำไปประกอบอาหารเช่นมะระขี้นกผัดไข่ก็ได้
- ตำลึง จัดเป็นผักที่หาง่าย สามารถใช้ได้ทั้งส่วนใบ ราก ผล มีคุณค่าทางอาหารสูง นอกจากนี้ยังช่วยระบาย เนื่องจากมีกากใยสูงอีกด้วย วิธีรับประทานคือ ใช้เถาตำลึงสับเป็นท่อนๆ ยาว 2-3 นิ้ว จำนวน 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วม ต้มนาน 15-20 นาที นำมาดื่มติดต่อกัน อย่างน้อย 7-10 วัน จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้หรือนำไปประกอบเป็นเมนูอาหาร เช่น แกงจืดตำลึง ก๋วยเตี๋ยวตำลึง ตำลึงผัดไข่ เป็นต้น
- อินทนิลน้ำ เป็นสมุนไพรรักษาเบาหวานที่เป็นที่นิยม และมีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ ตามอย่างพื้นบ้านจะใช้เฉพาะใบแก่จัดจำนวน 7 ใบนำไปตากแห้ง จากนั้นต้มกับน้ำ แล้วรับประทาน
- หม่อน เป็นสมุนไพรรักษาเบาหวานที่นิยมนำมาชงดื่ม และยังมีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลอีกด้วย วิธีรับประทานคือ นำใบหม่อนมาตากแห้ง จากนั้นจึงนำมาบดเป็นผง ใช้ประมาณ 1-2 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน แนะนำให้รับประทานก่อนมื้ออาหาร จะช่วยให้ลดน้ำตาลได้ดีขึ้น
- ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือ ส่วนภาคกลางจะเรียกกันว่า ผักจินดา ควรเลือกรับประทานผักเชียงดาใบอ่อนที่ไม่ผ่านความร้อน จึงจะได้ประโยชน์ด้านคุณค่าทางอาหารมากที่สุด โดยนำใบหม่อนมารับประทานเป็นผัก รับประทานกับลาบ ตำมะม่วง หรือใส่ในแกงแค แกงเลียง ต้มเลือดหมู ก็ได้เช่นกัน
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรรักษาเบาหวาน
สมุนไพรรักษาเบาหวานที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนมีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด แต่สิ่งที่พึงระวังคือ ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน อาจทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป จนทำให้เกิดอาการด้านลบ เช่น มึนศีรษะ รู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก กระวนกระวาย มือสั่น คล้ายกับหิวอยู่ตลอดเวลา หัวใจเต้นแรงและเร็ว รู้สึกหวิวๆ คล้ายจะเป็นลม หน้ามืด เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าว ให้แก้ไขเบื้องต้นด้วยการดื่มน้ำหวานหรืออมลูกอม แล้วนั่งพัก 15 นาที อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น